วันที่ 5 ต.ค.2565 ที่ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง ร่วมกับ นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีออล์ จำกัด(มหาชน) พร้อมด้วย นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท ซีพีออล์ จำกัด(มหาชน) และนายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED บมจ.ซีพีออลล์ ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยกรุงเทพมหานคร ได้นำโรงเรียนในสังกัด กทม.จำนวน 437 แห่ง เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีในฐานะ “โรงเรียนไร้ถังสังกัดกรุงเทพมหานคร” เพื่อร่วมกับองค์กรภาคเอกชนกว่า 10 แห่ง และ 443 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ทั่วประเทศ ปลูกฝังให้เกิดการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้กับเยาวชนและชุมชน แก้ปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และวาระสำคัญของประเทศ
นายศานนท์ กล่าวว่า กทม.มีโครงการไม่เทรวมซึ่งดำเนินการมาแล้วประมาณ 1 เดือน ปัญหาหลักคือต้องแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และต้นทางสำคัญคือโรงเรียน สำหรับโครงการโรงเรียนไร้ถังสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการแยกขยะได้ ทำให้รู้ถึงที่มาที่ไปของขยะ หลักการของซีพีคือ เมื่อแยกขยะเสร็จแล้วจะมีผู้รับไปทันที โดยไม่ถือว่านั่นคือขยะ แต่ถือว่าเป็นวัสดุ เพราะจะถูกแปรสภาพให้ใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เช่น ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ กทม.พยายามรณรงค์ให้มีการคัดแยก นำไปทำปุ๋ยต่างๆและฝังกลบต่อไป โดยกทม.จะเริ่มนำร่องกับโรงเรียนในสังกัดกทม. 24 โรงเรียน ซึ่ง 24 โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการไม่เทรวมในเขตปทุมวัน พญาไท หนองจอก โดยตั้งเป้าให้แต่ละโรงเรียนขยายผลต่ออีก 3 โรงเรียน จาก 24 โรงเรียนจึงขยายเป็น 72 โรงเรียน จาก 72 โรงเรียนจึงขยายเป็น 216 โรงเรียน และจาก 216 โรงเรียนจะขยายเป็น 437 โรงเรียนภายใน 3 ปี นอกจากนี้ ยังคอยถอดบทเรียนเพื่อขยายโครงการนี้สู่หน่วยงานอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด เบื้องต้นโรงเรียนในสังกัดกทม.มีการแยกขยะอยู่แล้ว ส่วนโครงการโรงเรียนไร้ถังจะเข้าไปเสริมเรื่องความรู้ ชี้ให้เห็นที่มาที่ไปของขบวนการขยะมากขึ้น
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาระดับชาติ คือการสร้างความร่วมมือ รวมพลังกันแก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภาคีของเรามีองค์ความรู้หรือ Knowhow ในการจัดการขยะที่ประสบความสำเร็จอย่างทับสะแกโมเดล มีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะครบวงจร ขณะที่ กทม.เองก็มีนโยบายและวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าต้องการให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงมีบุคลากร โรงเรียน ชุมชนในสังกัดจำนวนมาก ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จึงนับเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ตามปณิธานองค์กรร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน
นายสุวิทย์ กล่าวว่า ซีพีออล์ มีความยินดีให้ความร่วมมือกับกทม.ในการทำงานกับโรงเรียนในสังกัดกทม.ทั้ง 437 แห่ง โดยกทม.จะเริ่มต้นที่ 24 โรงเรียนก่อนแล้วจึงขยายต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า การเริ่มต้นกับโรงเรียนจะได้ทำงานร่วมกับนักเรียน ครู อาจารย์ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ จะสามารถทำให้เส้นทางคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนที่จะมีขยะมาทิ้งในถังของกทม.จำนวนมาก สามารถคัดแยกสิ่งที่เรียกว่าวัสดุแทนขยะนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด โดยแนวคิดของกทม.มีขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ รวมถึงขยะอินทรีย์ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะลดขยะได้จำนวนมาก ตามโมเดลของโครงการต้นกล้าไร้ถัง ซึ่งสามารถลดขยะได้มากกว่า90%
นายตรีเทพ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือกทม.และซีพีออล์มีเป้าหมายเดียวกัน โครงการนี้เดิมทีเป็นโครงการเล็กๆของ 1 โรงเรียนเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องจัดการขยะ ซีพีออล์จึงสนับสนุนโรงเรียนดังกล่าว แล้วขยายผลไปสู่กลุ่มโรงเรียนต่างๆ ทั้งนี้ ได้เห็นนโยบายของกทม.ตั้งแต่ตอนหาเสียง พอรับตำแหน่งเสร็จสิ้นจึงได้หารือกับผู้ว่าฯกทม.ถึงโครงการนี้ ดังนั้น นี่คือการมองเห็นเป้าหมายการลดขยะและการกำจัดขยะร่วมกัน สิ่งหนึ่งที่ซีพี ออล์ มีคือเครือข่ายร่วมสนับสนุนตั้งแต่การคัดแยกขยะซึ่งถือเป็นต้นน้ำ กลางน้ำคือระบบขนส่ง เช่น การใช้ร้านสะดวกซื้อในสังกัดซีพีออล์จัดส่งวัสดุจากต้นทางไปสู่ร้านสะดวกซื้อสาขาที่อยู่ใกล้โรงงานรีไซเคิล ภายใต้กลุ่มสนับสนุนหลายด้าน เช่น ทรัพย์สิน เงิน หรือการช่วยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถใช้แลกคะแนนสะสมได้ ขยะจึงแปรสภาพเป็นอุปกรณ์กลับไปให้โรงเรียนใช้งานอีกครั้ง นี่คือสิ่งช่วยเติมเต็มขบวนการห่วงโซ่คุณค่าให้ครบถ้วนขึ้น เชื่อว่าปัญหาขยะ เช่น ไม่รู้จะไปส่งที่ไหน หรือขายยากไม่มีใครรับซื้อจะค่อยๆลดลง ทั้งนี้ ต้องเรียนว่ายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ 100% ยังต้องพัฒนาและเปิดรับพันธมิตรที่ให้ความสำคัญในการจัดการขยะมาร่วมมือกันมากขึ้น