ปัจจุบัน กทม.ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายดูแลคนไร้บ้าน โดยพยายามช่วยเหลือเยียวยาด้วยการตั้งจุดบริการไว้ 4 จุด หรือที่เรียกว่า “จุด Drop In” ได้แก่ 1.หัวลำโพง 2.ราชดำเนินกลาง 3.ตรอกสาเก 4.ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า บริเวณอาคารส่วนท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กทม.ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือกันของหลายฝ่ายเพื่อหาทางแก้ปัญหาให้กับคนไร้บ้านได้มีพื้นที่ อาทิมูลนิธิกระจกเงา บริษัทเอกชน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ติดตั้งเครื่องซักผ้าชนิดอบแห้ง มีจุดอนามัยดูแลสุขภาพร่างกายเบื้องต้น มีรถสุขาเคลื่อนที่ พร้อมจุดแจกอาหาร พร้อมจุดดร็อป-อิน

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ได้ไปตรวจเยี่ยมจุด Drop In ที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า บริเวณอาคารส่วนท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กทม. ซึ่งมีการให้บริการทำบัตรประชาชนให้กับคนไร้บ้าน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยเหลือและเข้าระบบของคนกลุ่มนี้ คนไร้บ้านเป็นประเด็นที่พยายามหาทางออกมาตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ

ซึ่งท่านผู้ว่าฯพูดเสมอว่า “ไร้บ้านแต่ต้องไม่ไร้สิทธิ์” การจะทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิ์ได้ต้องมีบัตรประชาชน มีจุดดูแลเรื่องอนามัย ปัจจุบันจุดนำร่องนี้มีคนไร้บ้านมาใช้บริการวันละประมาณ 30 คน มาทำแผล ตรวจสุขภาพเบื้องต้น และมีการส่งต่อศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้เคียง จากการสำรวจคนไร้บ้านของกทม.ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ เดือน กันยายน มีจำนวน 1,656 คน ป่วยทางจิต 5% และเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่สามารถพัฒนาได้ 95%

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจ้างงานซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ทำกับมูลนิธิกระจกเงา หรือโครงการจ้างวานฆ่าซึ่งเป็นนโยบายรับคนไร้บ้านเข้าทำงาน 2.ทำงานกับกทม.ในลักษณะอาสาสมัครรายวัน คิดเป็นอัตราของแต่ละเขต เพื่อให้มีทางออกสำหรับเลี้ยงชีพในระยะยาว รวมถึงยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเรื่องเครื่องซักผ้า ตามโครงการที่เรียกว่า ซักอบรีด ซักอบอาบ เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถซักเสื้อผ้าชำระร่างร่างกาย สำหรับเครื่องซักผ้าดังกล่าวรับได้วันละ 30 คน โดยที่ผ่านมา นายศานนท์ มองว่า มีคนใจบุญจำนวนมากอยากเลี้ยงอาหารแก่คนไร้บ้าน แต่หลายคนไม่ทราบจะไปแจกตรงไหน จึงอยากประชาสัมพันธ์ว่า กทม.จัดจุดแจกอาหารไว้ให้แล้วบริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นจุดนำร่อง โดยสามารถแจกได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 น.-17.00 น.

สำหรับจุดนำร่องนี้ มีแผนทำให้เป็นจุดถาวร เพราะได้รับความสนใจจากคนไร้บ้านจำนวนมาก ประกอบกับจุดนี้มีคนไร้บ้านจำนวนมากกว่าจุดอื่น ทั้งยังได้รับการร้องเรียนว่าตรอกสาเกมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นมาก กทม.พยายามหาทางออก เพราะมีคนพร้อมที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กทม.เริ่มตั้งศูนย์เยียวยาให้คนไร้บ้านกลับมาใช้ชีวิตปกติ

 “ใครอยากบริจาคอาหาร เรียนเชิญว่า อย่าไปให้จุดอื่นเพราะคนไร้บ้านจะไม่ได้เข้าระบบรวมถึงสิทธิต่างๆ ให้มาแจกจุดนี้ เราเตรียมพื้นที่และกำลังคนไว้ให้ และคนไร้บ้านจะได้ทราบทั่วกัน เขาจะได้มากัน ส่วนใครที่ไม่สะดวกมาแจกอาหารบริเวณจุดนำร่องใต้สะพานพระปิ่นเกล้าสามารถนำไปบริจาคที่สำนักงานเขตพระนครได้เช่นเดียวกัน โดยสำนักงานเขตจะเป็นผู้รวบรวมนำแจกต่อไป” นายศานนท์กล่าว

ด้านนางสาวถิรนันท์ ช่วยมิ่ง เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ประจำจุดเครื่องซักผ้า กล่าวว่า มูลนิธิกระจกเงาร่วมกับบริษัมเอกชน สร้างเครื่องซักผ้านี้ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมของคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ พวกเขาไม่ทีที่อาบน้ำ ซักผ้า หรือที่ทำความสะอาดร่างกายได้ จึงเกิดเป็นโครงการที่ทำร่วมกับกทม. สำหรับรถซักผ้าเป็นเครื่องอบซักแห้งในตัว โดยมีเจ้าหน้าที่อดีตคนไร้บ้านที่มาทำงานกับมูลนิธิกระจกเงาเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ โดยจะเปิดให้บริการทุกวันศุกร์ รับจำนวน 30 คิว ตั้งแต่เวลา 10.00 น.-16.00 น. เพราะเครื่องซักผ้าดังกล่าวใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง หากทำงานมากกว่า 30 คิว เครื่องอาจระเบิดได้

เบื้องต้น คนไร้บ้านที่จะเข้ามาใช้บริการต้องผ่านจุดดร็อป-อิน เพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลเบื้องต้น หากใครอยากได้งานทำก็จะไปสัมภาษณ์กับกลุ่มจ้างวานฆ่าที่มารอให้บริการ ส่วนใครไม่ต้องการทำงานก็มาซักผ้าอาบน้ำ สิ่งสำคัญคือ การสนับสนุนจากคนทั่วไป เพราะโครงการดังกล่าวต้องอาศัยผู้สนับสนุนเพื่อความมั่นคง เราอยากปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านก่อนเป็นอันดับแรก ก็จะนำไปสู่การที่คนไร้บ้านสามารถเปลี่ยนผ่านจากคนไร้บ้านมาเป็นชีวิตที่มีบ้านได้ แต่ต้องมีกระบวนการกลไกและการสนับสนุน ซึ่งกลไกดังกล่าวที่สร้างขึ้นมาคือ จุดดร็อป-อิน เราหวังว่ามันจะตอบโจทย์เรื่องนี้ได้

ที่สุดแล้วการที่กทม.มีแผนใช้พื้นที่บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้าบริเวณเกาะกลางถนนเป็นศูนย์รวมคนไร้บ้านในละแวกนั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนทั่วไป โดยในพื้นที่ดังกล่าวจะบรรจุสิ่งอำนวยความสะดวกไว้เป็นสัดส่วน เช่น ห้องน้ำ จุดอนามัย จุดแจกอาหาร รวมถึงที่นอน เพราะใต้สะพานกันฝนได้ มีรั้วรอบมิดชิด สามารถเปิดปิดประตูได้ ก็คงต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไปว่าจะสามารถแก้ปัญหาคนไร้บ้านได้มากน้อยแค่ไหน และไม่กลับไปสู่วังวนเดิมๆอีกครั้ง