ทีมวิจัย ม.เกษตรฯ-ม.ขอนแก่น และ ไอร์แลนด์ ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “เบี้ยพ่อตา” ที่จังหวัดระนอง
“เบี้ยพ่อตา” (Peperomia ranongensis Suwanph., Hodk. & Chantar.) พืชชนิดใหม่ของโลกที่พบจากบริเวณป่าในจังหวัดระนอง ตีพิมพ์ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 50 ฉบับที่ 2 ปี 2022 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการศึกษาโมเลกุลาซิสเทมาติกส์ของพืชวงศ์พริกไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และความหลากหลายใน สปป. ลาว
งานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับการวิจัยจากสำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว. เดิม) เป็นการร่วมมือการวิจัยเพื่อศึกษาพืชวงศ์ Piperaceae โดย รศ. ดร. เฉลิมพล สุวรรณภักดี ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ศ.ดร. ประนอม จันทรโณทัย สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Prof. Dr. Trevor R. Hodkinson, Trinity College Dublin, The University of Dublin ประเทศไอร์แลนด์
จากการศึกษาพบว่าในประเทศไทยมีพืชสกุลผักกระสังหรือเพเพอร์โรเมีย (Peperomia) ทั้งหมดมี 17 ชนิด โดยชนิดใหม่ของโลกมีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชอิงอาศัย ลำต้นมีสีแดง ใบออกแบบสลับตั้งฉากและมีการออก รอบข้อร่วม ผลมีตุ่ม นอกจากนี้ยังมีใบหนาอวบน้ำ ลำต้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก เหมาะในการพัฒนาให้เป็นไม้ประดับกระถาง ซึ่งในประเทศไทยยังมีพืชสกุลผักกระสังอีกหลายชนิดที่น่าสนใจในการนำไปพัฒนาเป็นไม้ประดับกระถางเพื่อทดแทนชนิดที่นำเข้าจากต่างประเทศ