วันที่ 30 ก.ย.65 เวลา 1300 น.ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากกำนันตำบลห้วยผา อ.เมือง  จ.แม่ฮ่องสอน ว่ามีควาย ( กระบือ ) ของชาวบ้านทุ่งมะส้าน หมู่ 5 ต.ห้วยผา ที่เลี้ยงไว้ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ 1 ตัว และยังมีควาย ( กระบือ ) ชาวบ้านอีกหลายตัวป่วยเป็นโรคเท้าปากเปื่อย หลังรับแจ้งผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ไปยังคอกควายที่เกิดเหตุ พบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าของควาย โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ  กำลังชำแหละผ่าพิสูจน์ซากควายที่ตาย และผ่าบริเวณตับ พบพยาธิใบไม้ในตับควาย ดิ้นยั้วเยี้ยเต็มไปหมด 

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด  และวัว ควาย ที่ชาวบ้านเลี้ยง จะทำคอกเลี้ยงใกล้แอ่งน้ำ อาจจะมาจากโรคพยาธิใบไม้ในตับหรือมีสาเหตุอื่น  เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จึงได้ตัดเก็บชิ้นส่วน ตับ ไต อุดจาระ และ อวัยวะต่าง ๆ ของควาย นำส่งไปตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จ.ลำปาง เพื่อสาหาเหตุที่แท้จริง 

นางผ่องพรรณ  แสงวารี อายุ  52 ปี เจ้าของควายที่ตาย เปิดเผยว่า ตนมีควายที่เลี้ยงไว้ 8 ตัว หวังว่าขายควายได้ จะมีเงินเลี้ยงดูครอบครัว แต่ควายก็มาป่วยเป็นโรคปากเท้าเปื่อยไปแล้ว 2 ตัว เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้เข้ามาดูแลฉีดยาให้อาการดีขึ้น ส่วนตัวที่ตายอายุ 6 ปี ไม่รู้ป่วยด้วยโรคอะไรป่วยได้แค่วันเดียว มีอาการปากเท้าเปื่อย น้ำลายฟูมปาก ซึมเศร้า ไม่กินหญ้า และตายต่อหน้าต่อตา ทำให้ขาดทุนย่อยยับ

ด้าน นายชาตรี  คำจิ่ง  กำนันตำบลห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า บ้านทุ่งมะส้าน หมู่ 5 ต.ห้วยผา อ.เมือง มีเกษตรกรทำอาชีพเลี้ยงโค กระบือ จำนวน 9 ราย มีโคกระบือกว่า 100 ตัว ช่วงนี้ตนได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ได้เกิดโรคปากเท้าเปื่อยในโค กระบือ ที่เกษตรกรเลี้ยงไว้จำนวนมาก สาเหตุการป่วยตายของโคกระบือส่วนหนึ่งก็มาจากเป็นช่วงหน้าฝน อาจจะมีเชื้อโรค และอีกอย่างมีการนำเข้าโค กระบือ จากประเทศพม่าผ่านช่องทางชายแดนเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ซึ่งผู้ประกอบการที่นำเข้าได้ใช้เส้นทางผ่านชุมชน อาจจะเกิดจากการควบคุมป้องกันไม่ดี ทำให้เชื้อโรคตกค้างในพื้นที่ ทำให้โคกระบือของชาวบ้านไปสัมผัสจึงเกิดป่วย อย่างกระบือชาวบ้านที่ตายเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาผ่าพิสูจน์พบพยาธิใบไม้ในตับบวกกับโรคปากเท้าเปื่อยจึงทำให้กระบือตาย ตนได้พยายามให้เกษตรกรประสานกับปศุสัตว์ เข้ามาทำวัคซีนฉีด ป้องกัน และแยกสัตว์ที่ป่วยออก เพราะมีอีกหลายรายประสบปัญหา ในช่วงเดือนนี้ได้รับแจ้งมีโคกระบือของเกษตรกรในหมู่บ้านตายโดยไม่รู้สาเหตุแล้ว 3 ตัว

ทั้งนี้ นายชาตรี  ยังกล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มีโคกระบือจากประเทศพม่าผ่านชายแดนเข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทางการอนุญาตให้ผ่านเข้ามา แต่ปัญหาคือสถานที่กักกันสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศจะอยู่ในโซนลึกเข้าไปในเมือง เวลาโคกระบือผ่านเข้ามาต้องผ่านหมู่บ้าชุมชน จึงทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรค ความคิดเห็นของตน การนำโคกระบือจากนอกประเทศเข้ามา ควรจะมีระบบการคัดกรองให้ดี ไม่ควรนำไปกักในพื้นที่โซนในเพราะควบคุมยาก ควรจะตรวจโรคตั้งแต่ผ่านเส้นเขตแดน และให้เจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ติดมากับโคกระบือจากนอกประเทศ