บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
กัญชาถูกกฎหมาย หรือ ปลดล็อกกัญชา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประชาชนสามารถปลูกพืชนี้ได้ในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์ ส่วนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ยังคงต้องขออนุญาต แต่ฝันร้ายข่าว “การถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. …” (ฉบับกรรมาธิการฯ) ด้วยมติเสียงข้างมาก 198 ต่อ 136 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ออกจากวาระประชุมโดยให้มีการทบทวนร่างกฎหมายใหม่อีกครั้ง เกิดกระแสความกังวลว่า จะไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาและกัญชง รัฐบาลยืนยันว่า (18 กันยายน 2565) ปัจจุบันมีกฎหมายที่ควบคุมการใช้กัญชา กัญชงให้เหมาะสมอย่างรอบด้านแล้ว โดยนับแต่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ โดยปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ยกเว้นแต่เพียงสารสกัดจากกัญชาและกัญชงที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังถือเป็นยาเสพติด มีผลมาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อควบคุมให้เกิดการใช้ให้เป็นไปตามนโยบาย ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อเศรษฐกิจ ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ กฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาแล้ว ได้แก่
(1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 มีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ควบคุมไม่ให้มีการสูบ เสพในที่สาธารณะทุกประเภท หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(2) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2565 มุ่งกำกับให้มีการใช้กัญชาในฐานะพืชสมุนไพรควบคุมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม จำกัดการครอบครองช่อดอกกัญชาทั้งระดับบุคคลและวิสาหกิจชุมชน มีการห้ามจำหน่ายกัญชาให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่ให้นมบุตร หากฝ่าฝืนก็ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
(3) ประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565 ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบกิจการต้องควบคุม กำกับ และจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและการต้องตระหนักถึงความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ ทางด้านผู้ประกอบการที่จะนำกัญชา กัญชงไปใช้ในกระบวนการผลิตเป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เวชภัณฑ์ หรือเครื่องสำอาง ก็ต้องมีการขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ
ประกาศเกี่ยวข้องอื่น เช่น (1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2565 (2) ประกาศกรมอนามัย เรื่อง กำหนดหัวข้อวิชา การใช้กัญชา หรือกัญชง ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย ในการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2565 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2565
นอกจากนี้ แม้ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ยังคงต้องอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา กฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ก็จะควบคุมการใช้กัญชา กัญชง ไปจนกว่า พ.ร.บ.ฉบับสมบูรณ์จะออกมาบังคับใช้ หรือหากมีกรณีใดที่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายมารองรับก็มี คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน สามารถพิจารณาออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ มาดูแลเพื่อให้เกิดความเหมาะสมเพิ่มเติมได้
ปัญหาเส้นแบ่งระหว่างกัญชาเพื่อการแพทย์ กับการระบาดของการเสพติดกัญชา เพื่อการนันทนาการ
ตามร่างกฎหมายกัญชากัญชงที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภา เพื่อสภาจะลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ต้องตกไป โดยฝ่ายที่คว่ำร่างเห็นว่า ร่างกฎหมายนี้ผิดจากหลักการเดิม หละหลวม ไม่รัดกุม นำไปใช้สันทนาการมากกว่าการแพทย์ เนื้อหาใหม่ผุด 69 มาตรา พร้อมจี้ รมว.สาธารณสุขทบทวนเรื่องปลดล็อกกัญชา แต่พรรค ภท.ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าเป็นเกมการเมือง และชี้แจงว่า วัตถุประสงค์หลักของร่างกฎหมายนี้ คือเพื่อการแพทย์ มิใช่เพื่อการนันทนาการ ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด เพราะมิได้มีคำว่า "นันทนาการ" ในร่างกฎหมายนี้
โดยสรุปของร่าง พรบ.กัญชา กัญชง ฉบับของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ถูกถอนร่าง มีบทบัญญัติเรื่องการอนุญาต การจดแจ้ง การผลิต การปลูก รวมไปถึง การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัดและการป้องกันการใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัดในทางที่ผิด รวมไปถึงบทลงโทษทั้งปรับและจำคุก รวมทั้งสิ้น 46 มาตรา
สาระสำคัญ ได้แก่ (1) ห้ามจำหน่าย กัญชา สารสกัด อาหารผสมกัญชา ผ่านช่องทางออนไลน์ และห้ามขายผ่านเครื่องอัตโนมัติ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท (2) ห้ามโฆษณา ช่อดอก สารสกัด อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท (3) ห้ามโฆษณา กัญชาทางการแพทย์เกินจริง หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท (4) ห้ามขาย ในสถานที่กำหนด เช่น วัด ศาสนสถาน สถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี (5) ใส่กัญชาผสมในอาหาร โดยไม่แจ้งต่อผู้กิน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี (6) ขับขี่ยานพาหนะ ขณะเมากัญชา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท (7) ปลูก-จำหน่าย-แปรรูป โดยไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท (8) นำเข้ากัญชา โดยไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท (9) เพิ่มโควตาปลูกกัญชา ได้บ้านละ 15 ต้น
การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
ข่าว กสม.เพิ่งเตรียมจัดเวทีรับฟังปัญหาการใช้กัญชา (4 สิงหาคม 2565) ต้องห้ามในเด็ก เยาวชน และหญิงตั้งครรภ์ ในสิทธิด้านสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่างกฎหมายกัญชาได้รับฟังความเห็นที่รอบด้านมากขึ้น แม้ว่าร่างกฎหมายอยู่ในขั้นแปรญัตติ ห้ามใช้ช่อดอกประกอบอาหารหรือเสพ จะให้ปลูกได้บ้านละ 15 ต้น ห้ามโฆษณาขายผ่านตู้ออนไลน์ มึนเมาไม่ขับ ฝ่าฝืนจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท ลักลอบนำเข้าโทษหนักทำลายชาติ ฯลฯ ที่ต้องมีการควบคุมรอบด้าน เป็นต้น แม้ว่าปัจจุบันในย่านถนนข้าวสาร กทม.ยังมีการลักลอบขายกัญชาเพื่อเสพกันอยู่ และมีขายกันทั่วประเทศ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของกัญชาปัจจุบัน พบว่าปัจจุบันปัญหายาเสพติดอื่นยังมี เช่นยาบ้า เมื่อปลดล็อกกัญชาแล้ว ทำให้กัญชามีการขายเสรี เปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน นักเรียน และคนทั่วไป ได้ซื้อไปลองเสพกันมาก รวมทั้งนักท่องเที่ยวด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำไปผสมอาหารจำหน่าย บริโภคกัน มีขายเป็นน้ำกัญชา (อย.) มีกัญชาผสมในขนมบราวนี่ เป็นต้น ซึ่งยากต่อการควบคุม เพราะขั้นตอนการปลดล็อกกัญชา และการตรากฎหมายกัญชา ยังไม่ได้ทำตามขั้นตอนมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แต่ได้ทำข้ามขั้นตอนไปมาก เรื่องนี้ ลองนำไปเปรียบเทียบกับการปลดล็อกพืชกระท่อม ตาม พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 ได้ เพราะเริ่มการปลดล็อกออกจากยาเสพติดมาพร้อมๆ กัน แต่กฎหมายพืชกระท่อมได้สำเร็จเรียบร้อยก่อน
มีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายการปลดล็อกกัญชาแต่ขาดกลไกการควบคุม
(1) ทุกส่วนของกัญชาปลูก ครอบครอง ขาย เสพ ไม่ผิดกฎหมาย (2) สารสกัดจากกัญชาที่มี THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก ยังถือเป็นยาเสพติด (ตรวจสอบอย่างไร) (3) สารสกัดจากกัญชาที่มี THC แม้ต่ำกว่า 0.2% โดยน้ำหนัก แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการสกัด (ขออนุญาตจากหน่วยงานไหน) ยังถือเป็นยาเสพติด (4) ไม่มีกฎหมายควบคุมการจำหน่วยแก่เด็กเยาวชน (น่าห่วงกังวลมาก หากเทียบกับสุรา/ยาสูบ) (5) การนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชาจากต่างประเทศต้องเป็นไปตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง พ.ศ.2565 (6) โฆษณา จัดจำหน่าย อวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยา มีความผิดตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510, พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 (7) หากนำมาเป็นอาหารเพื่อจำหน่าย ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและการคุ้มครองผู้บริโภคพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 (8) กรณีขับขี่รถในขณะมึนเมากัญชา (แค่ไหนคือเมา) จะเป็นความผิดตามมาตรา 43 (2) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือไม่ (ตรวจสอบอย่างไร)
การปลดล็อกพืชเสพติดกัญชาที่ยังมีโทษอยู่ตามกฎหมาย
พืชกัญชากัญชง ถูกชูว่าเป็นยาใช้ในทางการแพทย์ เป็น "Green Medicine" กัญชามีสารสำคัญ 2 ชนิด คือ สาร CBD ที่ใช้ผสมอาหาร เครื่องดื่ม ใช้รักษาโรคลมชักที่รักษายาก และ สาร THC ที่ใช้เป็นยาเสพติด (สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล, THC) น้ำหนักเกิน 0.2% เท่านั้น ที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 THC ไม่เกิน 1% ของช่อดอกเรียกกัญชง หากเกิน 1% เรียกกัญชา คนที่เสพกัญชาเป็นยาเสพติดจะมีอาการเหลือง คืออาการข้างเคียงจากกัญชา ที่พบได้ในบางคนที่ไวต่อสารในกัญชามากหรือได้รับปริมาณที่เกินควร จะมีอาการ ง่วงนอนมากกว่าปกติ ปากแห้ง คอแห้ง หิวน้ำ เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน แต่กฎหมายต่างประเทศยังมีอัตราโทษทางอาญา มีข่าวการจับกุมคนไทยที่ขนกัญชาเข้าประเทศด้วย ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ยังถือว่ากัญชาเป็นพืชต้องห้าม ยังมีอัตราโทษตามกฎหมายที่สูง เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มีข่าวการใส่กัญชาในขนม (บราวนี่) หรืออาหาร ผลกระทบของกัญชาต่อสมองและพัฒนาการของเด็กและวัยรุ่น และแนวทางการสื่อสารและรับมือ มีความเห็นข้อสังเกตทางบวก
(1) อาหารพอเพียง คงได้เห็นกันตอนนี้ ราคาสินค้าขึ้น แต่เมื่อกัญชา กัญชง กระท่อม ทำเป็นยา กระทบยาแผนปัจจุบัน ยอดขายลดลง แต่คนป่วยที่รายได้น้อย มีทางเลือกมากขึ้น ของดีที่ระบบทุน ครอบงำ ภูมิปัญญา (Local Wisdom/Intellectual) จะได้พัฒนาเสียที ไม่ติดขัด ทะเบียนการค้า สิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์
(2) ยังไม่ทันไร แพทย์แผนไทย สมุนไพร ก็ออกผลิตภัณฑ์ "บาล์มกัญชา" (Balm) จากฟาร์มออร์แกนิก ไม่มีสารเคมี มี อย. เป็นความหวังยาพื้นบ้านบรรเทารักษาในผู้ป่วยปวดเข่า ปวดเส้นเอ็น ปวดข้อกล้ามเนื้อ เกาต์ แมลงกัดต่อย วิงเวียนศีรษะ ไมเกรน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนต่างๆ (Dispensary) ลงทุนด้านผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษาอาการของโรค ทั้งในรูปแบบ ดอกไม้แห้ง และรูปแบบ น้ำมันและแคปซูล
(3) พืชเสพติดพื้นบ้านที่แซงหน้ากัญชาไปแล้วคือ "กระท่อม" เพราะได้มีการประกาศใช้กฎหมายพืชกระท่อมตาม "พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ.2565" แล้วเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ในขณะที่พืชกัญชายังเป็นร่างกฎหมายอยู่
(4) กัญชาไทยเป็น Soft Power ด้านลบไปแล้ว และสาวข่าวไปมาจะเป็นเรื่องของการเอื้อประโยชน์นายทุนใหญ่ ผลประโยชน์ทับซ้อนผู้เกี่ยวข้อง กัญชาทำท่าจะมีปัญหาว่าเป็นประเด็นการหาเสียงทางการเมือง ปลดล็อกกัญชาจริงหรือ ข่าว (25 กรกฎาคม 2565) กลุ่มแพทย์รามาฯ 851 คนลงชื่อร้องรัฐบาลให้ปิดสภาวะกัญชาสุญญากาศทันที วิธีง่ายสุดในการควบคุม คือยกเลิกประกาศกระทรวงที่ทำให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดไปก่อนตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ แม้จะมีข่าว รมว.สาธารณสุขออกมาแย้งยันปลดล็อกกัญชาไม่มีช่องโหว่ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ก็คือ กัญชาไทยเป็น Soft Power ด้านลบไปแล้ว
(5) การควบคุมที่ไม่ควบคุมระหว่างกัญชากับกวาวเครือ มีข้อสังเกตว่าทั้งกัญชา และ กวาวเครือ ต่างมีประกาศสาธารณสุขกำหนดให้เป็น "สมุนไพรควบคุม" ทั้งคู่ ซึ่งเมื่อเป็น "สมุนไพรควบคุม" แล้วตามกฎหมายในผู้ใช้ประโยชน์ จำหน่าย แปรรูป จะต้องทำการจดแจ้ง และ ขออนุญาต ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในประกาศแต่ละฉบับก่อน เมื่อเปรียบเทียบกันประกาศกระทรวงสาธารณสุขของ "กัญชา" กับ "กวาวเครือ" พบว่าประกาศของ "กวาวเครือ" มีการกำหนดระเบียบขั้นตอนเพื่อควบคุมการขายกวาวเครือมากมาย ทั้งต้องทำเรื่องจดแจ้ง ขอใบอนุญาต ระบุปริมาณ ระบุชนิด ระบุสถานที่ประกอบการ ส่วนประกาศของ "กัญชา" แทบจะไม่มีการควบคุมอะไรเลย จึงสงสัยว่า วิธีการควบคุมกัญชาของสาธารณสุข จะเป็นการควบคุมโดยไม่ควบคุม
(6) ประเทศที่กัญชาถูกกฎหมายที่ค่อนข้างเสรีหรือถูกกฎหมาย ทั้งทางสันทนาการและการแพทย์ มีไม่กี่ประเทศ ประเทศที่มีกฎหมายที่ให้ใช้กัญชาแบบเสรีหรือถูกกฎหมาย ได้แก่ แคนาดา จอร์เจีย แอฟริกาใต้ อุรุกวัย นอกจากนั้นแล้วแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไป เช่น มีการจำกัดการใช้ นิรโทษกรรม และไม่ถูกบังคับ หรือ ใช้เพื่อการแพทย์แบบถูกกฎหมาย แต่การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการถือว่าผิดกฎหมาย หรือ ใช้เพื่อการแพทย์และการสันทนาการแบบมีเงื่อนไข (จำกัดปริมาณ ใช้อนุพันธ์ของกัญชา หรือ ใช้ในบางรัฐ) เป็นต้น
(7) ในมุมมองของชาวบ้านกล่าวข้อดีของการปลดล็อกกัญชาแบบบ้านๆ ไว้หลายประการ อาทิว่า (1) คนไทยเลิกทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะคนสูบกัญชาจะอารมณ์ดี หัวเราะได้ทั้งวัน (2) ลดปัญหาข่มขืน เพราะคนสูบกัญชามักจะไม่มีอารมณ์ทางเพศ (3) คนเสพยาบ้าลดลงหรือหมดไปเลย เพราะมีราคาแพง กัญชาถูกกว่าและไม่ผิดกฎหมาย (4) พ่อค้าแม่ค้าขนมหวาน น้ำแข็งไส ขายดีขึ้น เพราะคนสูบกัญชาชอบกินของหวาน (5) ลดปัญหาการฆ่าหรือทำร้ายพ่อแม่บุพการีและจับผู้อื่นเป็นตัวประกัน เพราะคนสูบกัญชาไม่เคยทำร้ายผู้ใด (6) ลดการทะเลาะวิวาทหรือตีกันหน้าเวทีหมอลำเพราะคนสูบกัญชาจะขี้ขลาดตาขาว ไม่สู้คน (7) ลดจำนวนคนดื่มเหล้า เพราะคนสูบกัญชาไม่นิยมดื่มเหล้าไปด้วย (8) ทำให้รัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นจากนักร้อง นักดนตรี นักแสดง ศิลปินแขนงต่างๆ เพราะคนกลุ่มนี้ชอบสูบกัญชา (9) ลดรายจ่ายค่ากับข้าวในครอบครัว เพราะสูบกัญชาแล้วกินข้าวเปล่าได้เป็นหม้อๆ (10) ทำให้ต้มไก่อร่อย
รัฐจะเอาไงดีกับกฎหมายกัญชากัญชง เส้นแบ่งมันไม่ชัดเจน รัฐบาลทำคลุมเครือเอง คงต้องรื้อใหม่ให้เหนียวกว่าเดิม สายเขียวมีทั้งชอบและไม่ชอบ กรณีบริบทสังคมไทย การสานประโยชน์แก่คนรากหญ้าคงสำคัญมากกว่าอย่างอื่น เพราะ กัญชาคงไม่ทำให้ใครรวยได้ ยกเว้นนายทุน