ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
คนทั่วไปถือว่าการได้เปรียบเสียเปรียบเป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุข แต่บางคนนั้นไม่ยอมใครเสียเลย
ตอนที่รังสรรค์ได้ทำงานในทำเนียบก็ได้รู้จัก “คนใหญ่ ๆ” เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็คือคนที่ใหญ่ด้วยตำแหน่งและความร่ำรวยจริง ๆ แต่บางคนก็ “ใหญ่เทียม” คือชอบอวดตนเองว่าใหญ่ แบบที่เรียกว่า “เบ่งใหญ่” หรืออ้างคนอื่นเพื่ออิงแอบให้ดูยิ่งใหญ่ไปกับเขาด้วย
ตอนนั้นก็มีรุ่นพี่ที่ทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศมาขอความอนุเคราะห์ “ปรึกษา” ในเรื่องภาษีจนสำเร็จลุล่วงเรียบร้อย แต่ก็ยังเทียวไปเทียวมาหาธุระมาพูดคุยด้วยอยู่เป็นประจำ กระทั่งสนิทสนมเป็นมิตรสหายกัน รุ่นพี่คนนี้ชักชวนว่าอยากได้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานทางการเมือง “บอส” ของเขากำลังจะตั้งพรรคการเมือง โดยมีอุดมการณ์ที่จะ “สร้างการเมืองใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่” ตอนนี้ได้ชวนใครต่อใครมาร่วมด้วยจำนวนมาก แล้วเขาก็สาธยายรายชื่อผู้คนต่าง ๆ กว่าสิบคนออกมา ซึ่งล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงในวงการต่าง ๆ พร้อมกับบอกว่ายังขาดแต่นักวิชาการที่เขามองเห็นว่ารังสรรค์นี่แหละคือตัวแทนของคนกลุ่มนี้
รังสรรค์นึกถึงคำพูดของอาจารย์ที่บอกว่า ไม่มีอาชีพอะไรที่ดีไปกว่า “นักวิชาการทางการเมือง” ก็ตอบไปว่ายินดีช่วยเหลือ แต่ไม่ขอรับตำแหน่งใด ๆ ในพรรค ขอเป็นทีมงานที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อช่วยจัดทำนโยบายและวางแผนการเลือกตั้ง แล้วถ้ามีอะไรที่จะให้ช่วยต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง ก็ค่อยมาว่ากันอีกที รุ่นพี่คนนั้นบอกว่ายังไงก็ต้องขอชื่อของเขาไป “โฆษณา” ต่อไป ซึ่งรังสรรค์เห็นว่าไม่มีอะไรเสียหายก็ตอบตกลง
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2544 ปรากฏว่าพรรคการเมืองของนายทุนที่รุ่นพี่ทำงานอยู่ด้วยนั้นชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล รุ่นพี่คนนั้นก็ทำตามสัญญาโดยการให้เขาเข้าไปทำงานในทีมของนายกรัฐมนตรี เรียกว่า “Think Tank” ที่ฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “ติ๊งต๊อง” การทำงานเป็นไปด้วยความคึกคักด้วยความไฟแรงของทีมงานที่มีอยู่ราว 10 กว่าคน แต่กระนั้นก็เกิดปัญหาขึ้นเมื่อมีนักวิชาการในทีมบางคนคิด “เซ็งลี้” คือสมคบกับนักการเมืองคิดค้นนโยบายที่ใช้เงินมาก ๆ เพื่อให้มี “เงินทอน” มาก ๆ เป็นนโยบายที่เรียกกันในชื่อว่า “ประชานิยม” แต่อีกชื่อหนึ่งก็คือ “อภิมหาโปรเจคต์” ซึ่งรังสรรค์ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะจะเป็นเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แม้จะได้รับความชื่นชมและ “ได้ใจ” จากประชาชนเป็นอย่างดี แต่ก็คือนโยบายที่เปิดช่องให้มีการทุจริตได้มากมายมโหฬารเช่นกัน
ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในตอนกลางปี 2548 รังสรรค์ก็ลาออกจากทีม “ติ๊งต๊อง” โดยให้เหตุผลว่าเขากำลังต้องทำผลงานขอตำแหน่งทางวิชาการ จากผู้ช่วยศาสตราจารย์เป็นรองศาสตราจารย์ อีกทั้งกำลังจะมีตำแหน่งบริหารเป็นคณบดี เกรงว่าการทำงานการเมืองจะมีความยากลำบาก แต่ความจริงนั้นเป็นเพราะเขาไปขัดผลประโยชน์กับนักการเมืองใหญ่บางคนในพรรค จากนั้นอีกไม่นานก็เกิดกรณี “ขายหุ้นไม่เสียภาษี” ในตอนต้นปี 2549 โดยได้มีนักวิชาการหลาย ๆ มหาวิทยาลัยได้มารวมกลุ่มกันในชื่อว่า “คณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย” (ควป.) เพื่อประท้วงการกระทำที่เลี่ยงภาษีดังกล่าว โดยรังสรรค์ก็เป็นหนึ่งในคณะนักวิชาการกลุ่มนี้ และผมก็ได้รู้จักกับรังสรรค์ครั้งแรกในการอภิปรายเรื่องการขายหุ้นโดยไม่เสียภาษีนี้นี่เอง
มีนักวิชาการที่อาจจะไม่ค่อยชอบรังสรรค์นักคนหนึ่ง มาบอกกับผมว่าให้ระวังรังสรรค์ให้ดี แล้วก็เล่าประวัติชีวิตในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งผมได้เอามานำเสนอแต่ในบางส่วน เนื่องจากอีกหลาย ๆ ส่วนล้วนแต่เป็นเรื่องที่เลวร้าย เสี่ยงต่อข้อหาหมิ่นประมาท และหลายเรื่องก็ไม่น่าเชื่อว่านักวิชาการที่มีชาติตระกูลดี มีการศึกษาดี และตำแหน่งหน้าที่การงานดีอย่างรังสรรค์ จะเป็นที่ “เลวร้าย” ถึงขนาดนั้น กระนั้นในภาพรวมก็พอจะเชื่อได้ว่ารังสรรค์นี้เป็นคนที่คิดเข้าข้างตัวและเอาตัวรอดมาก ๆ อย่างที่เรียกว่าเป็น “คนเห็นแก่ตัว” หรือเป็น “มนุษย์ต่างดาว” ที่แตกต่างจากคนทั่วไปพอสมควร
รังสรรค์ก็คงจะรู้ว่ามีคนสงสัยและรังเกียจเขาในเรื่องความเห็นแก่ตัวและชอบเอาตัวรอดนั้นอยู่พอสมควร เขาจึงหาโอกาสพูดแก้ตัวในเรื่องนี้อยู่เสมอ เช่น ในครั้งที่ผมถามถึงการที่เขาเข้าไปทำงานกับรัฐบาลจอมอภิมหาโปรเจคต์ที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร เขาก็ตอบว่าเขาจบด้านกฎหมายภาษีและทรัพย์สิน และเคยทำให้รัฐบาลคณะหนึ่งมาตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และเขาก็ได้ใช้ความรู้ของเขานั้นช่วยปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลชุดอภิมหาโปรเจคต์นั้นอยู่ด้วย แต่เขาก็ต้องออกมาเพราะเขารู้ว่าจะต้องมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งเขาไม่สามารถจะทำอะไรได้ เนื่องจากนักการเมืองจะเอาอย่างนั้นให้ได้
ข่าวคราวของรังสรรค์หลังจากนั้นก็มีแต่ข่าวเสีย ๆ หาย ๆ คือภายหลังคณะทหารที่นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ก็ทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ตอนนั้นผมได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในโควตาของนักวิชาการ ก็มีคนบอกว่ารังสรรค์อยากได้ตำแหน่งนี้มาก เพียงแต่เขาคงเคยทำงานอยู่ในทีมที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจ จึงทำให้เขาไม่ได้ตำแหน่งนี้ ต่อมาพอมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีข่าวว่ารังสรรค์ก็วิ่งเต้นผ่านอาจารย์และนักกฎหมายผู้ใหญ่ที่เขารู้จัก ขอเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างด้วย แต่ก็ไม่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งเขาก็แก้ข่าวกับใครและใครด้วยเหตุผลดังเดิมนั้น ที่สุดเขาได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่งในช่วงท้าย ๆ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้น ซึ่งเมื่อเขาได้เจอกันกับผมเขาก็บอกว่า ที่จริงมีผู้หลักผู้ใหญ่ชวนเขามาให้เป็นที่ปรึกษานี้หลายคน รวมถึงคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เขาก็ต้องปฏิเสธไป เพราะเขามีภาระงานรัดตัวมากมาย
ในปี 2552 รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 คณะกรรมการฯได้มอบหมายให้ผมไปทาบทามรังสรรค์ เพราะเห็นว่ามีความสนิทสนมกันพอสมควร เพื่อให้มาเป็นอนุกรรมาธิการในชุดที่ต้องดูแลเรื่องการจัดการกับการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง แต่พอผมไปแจ้งเรื่องนี้แก่เขาก็ได้รับการปฏิเสธ โดยบอกว่างานรัดตัวอีกเช่นเดิม ทั้งที่ตอนนั้นเขาก็เพิ่งพ้นจากตำแหน่งคณบดี และกำลังวิ่งเต้นเข้าไปหาสมัครงานในองค์กรอิสระ 2-3 แห่ง บางทีอาจจะเป็นเพราะตำแหน่งอนุกรรมาธิการนั้น “กระจอก” เกินไป ที่คนที่มีคุณสมบัติมากมายอย่างเขาจะลดตัวลงไปรับตำแหน่งนั้นได้
ผมได้พบกับรังสรรค์ล่าสุดเมื่อปีกลายในการประชุมทางวิชาการโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เห็นเขาโดยบังเอิญในภาพที่ไม่ค่อยคุ้น คือเห็นเขาเดินไปในห้องอาหารระหว่างพักกลางวัน ไปคุยกับหลาย ๆ คนที่มาร่วมประชุมโต๊ะโน้นโต๊ะนี้ แล้วก็มาถึงโต๊ะที่ผมนั่งอยู่ เขาแนะนำตัวเองว่าเขาได้เป็นกรรมการในองค์กรอิสระแห่งหนึ่ง ผมถามเขาว่าเขาน่าจะเกษียณอายุราชการแล้วมิใช่หรือ เขาบอกว่าองค์กรอิสระนี้สามารถเป็นกรรมการได้ถึงอายุ 70 ปี ส่วนที่มหาวิทยาลัยของเขาก็อยากให้เขาต่ออายุราชการอีก 5 ปี ตามสิทธิ์ที่เขามีอยู่ในตำแหน่งศาสตราจารย์และจบดอกเตอร์ แต่เขาไม่เอาและอยากออกมาทำงานรับใช้สังคมบ้าง
ผมได้ยินเสียงหัวเราะแว่วมาจากโต๊ะใกล้ ๆ พอรังสรรค์เดินไปแล้วผมก็ถามเจ้าของเสียงว่าหัวเราะอะไรหรือ เจ้าของเสียงคนนั้นตอบว่ารังสรรค์โกหก ความจริงรังสรรค์ดิ้นรนที่จะต่ออายุราชการอย่างหนัก แต่สภาวิชาการของมหาวิทยาลัยบอกว่าผลงานไม่เพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ ถึงขั้นที่มีการฟ้องร้องกันค้างอยู่ในศาลปกครอง และกรรมการที่เขาเป็นอยู่ในองค์กรอิสระนั้นก็เป็นแค่ตำแหน่งที่ปรึกษา มีวาระชั่วคราวปีต่อปี และไม่ได้มีสิทธิอำนาจอะไรมากมาย
ชีวิตรังสรรค์จะจบลงอย่างไรไม่รู้ แต่ที่จบแล้วในความคิดของผู้คนก็คือ “คน ๆ นี้เชื่อได้ยากจริง ๆ”