การแก้ปัญหาน้ำเสียที่ส่งกลิ่นรบกวนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลอง นับเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ผู้ว่าฯชัชชาติให้ความสำคัญและต้องการเร่งดำเนินการให้เห็นรูปธรรม โดยมีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียในชุมชนและระบบบำบัดน้ำเสียต้นทาง ซึ่งอยู่ในนโยบายข้อที่ 170 และ 171 ของกรุงเทพมหานคร

และจากการลงเรือสำรวจคลองหัวลำโพงด้วยตัวเองเนื่องในวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ และสำนักระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตคลองเตย และเครือข่าย ป.อนุรักษ์ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะและสภาพน้ำในคลองหัวลำโพง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ให้เหตุผลว่า การทำให้คลองหัวลำโพงเป็นคลองสวยน้ำใสถือเป็นโจทย์ยากที่สุด เป็นความท้าทาย หากทำสำเร็จคลองอื่นๆ ในกทม.ก็ไม่น่ากลัว แม้ตัวคลองมีความยาวไม่ถึง 3 กิโลเมตร แต่อุปสรรคที่พบคือปริมาณขยะและของเสียจากบ้านเรือนริมคลองซึ่ง “รุกล้ำ” ออกมา ทำให้การลอกคลองทำได้ยากเพราะกระทบต่อบ้านเรือนริมคลองโดยตรง แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่กทม.ตั้งใจฟื้นฟูสภาพคลองแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ เพราะถือว่าบริเวณนี้คือใจกลางเมือง ควรมีการปรับสภาพภูมิทัศน์ควบคู่ไปด้วย

“คลองหัวลำโพง” เป็นแหล่งรวมน้ำเสียจุดสุดท้ายตั้งแต่เขตสุขุมวิท พระราม4 อโศก ไล่ลงมาเขตคลองเตย โดยเฉพาะชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ มีประชากรกว่า 1,000 หลังคาเรือน พูดง่ายๆคือน้ำเสียทั้งหมดในชุมชนคลองเตยท้ายสุดแล้วมารวมอยู่ที่คลองหัวลำโพงแห่งนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บขยะทางน้ำ เขตคลองเตย เปิดเผยว่า ในระยะไม่ถึง 500 เมตรของคลองหัวลำโพง เก็บขยะบนผิวน้ำได้มากกว่า 1 ตันภายใน 3 ชั่วโมง เฉพาะขยะบนผิวน้ำในลำคลองเขตคลองเตยทั้งหมดเก็บได้เฉลี่ยวันละ 20 ตัน ใช้รถ 6 ล้อ 5 คันขนไปกำจัดวันละ 1 เที่ยว ยังไม่นับรวมขยะที่อุดตันท่อและขยะที่จมน้ำซึ่งประมาณการไว้ถึง 900 ตัน เห็นชัดว่าส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำในชั่วโมงวิกฤต ทั้งยังทำให้ลำคลองเน่าเสีย หมักหมม โดยเฉพาะคลองหัวลำโพง ถือเป็นจุดวิกฤตด้านขยะและมลพิษที่กทม.มีแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างโรงบำบัดน้ำเสียเขตคลองเตย รณรงชาวบ้านให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม และแนวคิดสร้างประตูน้ำเพื่อผันน้ำจากเจ้าพระยามาเติมตามทฤษฎีน้ำดีไล่น้ำเสีย

สำหรับแผนที่กทม.สามารถทำได้ทันที คือการรณรงค์และช่วยปลูกต้นไม้เพื่อปรับภูมิทัศน์ หาแนวทางสนับสนุนสุขาเพิ่มเติมให้ชาวบ้าน เพื่อลดการรั่วซึมของสิ่งปฏิกูลสู่ลำคลอง ส่วนการเจรจากับประชาชนที่รุกล้ำพื้นที่ริมคลองนั้น มองว่ากทม.ต้องมีส่วนช่วยเหลือชาวบ้านด้วยหากจะให้พวกเขาย้ายออกจากที่อยู่เดิม

ด้านดร.ไชโย จุ้ยศิริ ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำจืด กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยถึงสาเหตุน้ำเสียในคลองหัวลำโพงว่า หากมองด้วยตาเปล่า จะเห็นว่าตลอดฝั่งคลองมีบ้านริมน้ำเรียงชิดกัน แต่ละบ้านมีบ่อเกรอะอยู่ใต้ถุนบ้านซึ่งตั้งในลำคลองบริเวณริมตลิ่งใต้ตัวบ้านที่ยื่นออกมา และมีการเจาะรูเล็กๆ ให้ของเสียระบายออกมาในลำคลองได้ ทำให้ส้วมไม่มีวันเต็ม ประกอบกับความแออัดของบ้านทำให้รถดูดส้วมเข้าไปไม่ถึง การเจาะรูให้ของเสียระบายออกมาเมื่อบ่อเกรอะใกล้เต็มความจุจึงเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และประหยัดของชาวบ้านริมคลองหัวลำโพงมากที่สุด ซึ่งมาตรฐานการปล่อยของเสียจากร่างกายและครัวเรือนลงคลองต้องไม่ทำให้น้ำในคลองเสื่อมคุณภาพเกิน 4,000 FCB แต่ปัจจุบันคลองหัวลำโพงวัดค่า FCB ได้มากกว่า 100,000 หมายความว่าประชาชนริมคลองปล่อยของเสียเกินค่ามาตรฐานไปมาก การลอกคลองเป็นวิธีหนึ่งสามารถช่วยได้ แต่บ้านบริเวณริมคลองอาจได้รับความเสียหาย

แต่จะโทษชาวบ้านที่อาศัยริมคลองหัวลำโพงกับตลาดคลองเตยว่าเป็นตัวการทำให้น้ำเน่าเสียคงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเหนือตลาดขึ้นไปคือ สุขุมวิท พระราม4 อโศก ชุมชนคลองเตย ต่างก็ระบายน้ำมารวมกันบริเวณนี้ ซึ่งส่งผลให้น้ำในคลองเน่าเสียด้วยเช่นกัน ซึ่งหากจะทำให้ “คลองสวยน้ำใส” ต้องอาศัยน้ำดีจากแหล่งอื่นเข้าช่วย เพราะค่าน้ำเสียจากบ้านเรือนที่บำบัดแล้ว(20BOD)สวนทางกับระดับค่าความสกปรกของคลองที่ต้องการ(2BOD) ต้นเหตุหลักจึงมาจากการบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนต้นทางย่านสุขุมวิทก่อนไหลมารวมกันที่คลองระบายน้ำหัวลำโพง ต้องมีการช่วยยับยั้งที่ได้มาตรฐานตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งกทม.มีแนวคิดสร้างโรงบำบัดน้ำเสียในเขตคลองเตย แต่อาจต้องใช้เวลา 5-10 ปี

สุดท้าย ดร.ไชโย ได้ยกตัวอย่างตลาดยิ่งเจริญที่มีระบบบำบัดน้ำที่ดีจากภาคเอกชนซึ่งทำควบคู่กับบ่อบำบัดของรัฐ มีการนำสาหร่ายเทียมและระบบเติมอากาศมาเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดน้ำเสีย ในอนาคตหากร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบ CSR มากขึ้นเพื่อนำมาใช้กับคลองต่างๆในกทม. ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาได้ และอีกทางแก้หนึ่งคือทำประตูน้ำที่คลองพระโขนงเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อผันน้ำดีเข้ามาไล่น้ำเสีย ให้น้ำเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งเป็นหัวใจของการบำบัดน้ำ แต่วิธีดังกล่าวต้องอาศัยช่วงน้ำเจ้าพระยาสูงมากพอที่จะเปิดประตูน้ำได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีปริมาณมากเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น ในจำนวนแนวทางแก้ไขทั้งหมด ดร.ไชโย มองว่า ทางที่จะช่วยได้ดีและยั่งยืนที่สุดตอนนี้คือสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเขตคลองเตย