ซึ่งค่าเฉลี่ย 30 ปี อยู่ที่ 268.8 มม. ซึ่งเกิน 2 เท่าตัวทั้งๆ ที่ไม่มีพายุ เป็นสัญญาณเตือนว่าภาวะโลกเปลี่ยนแปลง แต่ กทม. มีการบริหารจัดการได้ดีขึ้น จึงทำให้มีน้ำท่วมขังเป็นบางแห่ง ขณะที่ทราฟฟี่ ฟองดูว์ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ในการแจ้งน้ำท่วม ขอข้อมูลระดับน้ำ และระยะเวลาท่วม ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมีการรายงานอัพเดตสถานการณ์ปัจจุบันกลับไป ขณะนี้มีประชาชนแจ้งเรื่องน้ำท่วมเข้ามา 15,067 ปัญหาแล้ว
วันที่ 26 ก.ย.2565 ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์ฝนใน กทม.จนถึงปัจจุบัน ปริมาณฝนเฉพาะเดือน ก.ย. อยู่ที่ 755 มิลลิเมตร (มม.) มากกว่าค่าเฉลี่ย 180.9% ซึ่งค่าเฉลี่ย 30 ปี อยู่ที่ 268.8 มม. ซึ่งเกิน 2 เท่าตัวทั้งๆ ที่ไม่มีพายุ เป็นสัญญาณเตือนว่าภาวะโลกเปลี่ยนแปลง แต่ กทม. มีการบริหารจัดการได้ดีขึ้น จึงทำให้มีน้ำท่วมขังเป็นบางแห่ง เช่น ลาดกระบัง บางเขน และดอนเมืองบางส่วน ขณะที่ปริมาณฝนสะสมรายปีตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 25 ก.ย. 65 อยู่ที่ 1,933 มม. มากกว่าค่าฉลี่ย 49.2 % ซึ่งค่าเฉี่ลย 30 ปี อยู่ที่ 1,295.2 มม. ส่วนปริมาณน้ำเหนือปัจจุบันที่จุดวัดบางไทรอยู่ที่ 1,254 ลบ.ม./วินาที
ส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือพายุโนรูนั้น จากการติดตามเส้นทางพายุ ฝนจะตกที่ภาคอีสานและภาคกลาง กทม.จึงเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่จะปล่อยมาทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ส่งผลให้กรุงเทพฝั่งตะวันออกและบ้านเรือนประชาชนริมน้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบ จึงให้สำนักการระบายน้ำ(สนน.) เตรียมความพร้อม 3 ส่วน ได้แก่
1.พร่องและเร่งระบายน้ำในคลอง 2.เสริมคันกั้นน้ำในจุดอ่อนแอและเสริมแนวป้องกันเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งปัจจุบันได้จัดเตรียมกระสอบทรายไว้แล้ว 2 แสนใบ และได้จัดซื้อกระสอบทรายเพิ่มอีก 2.5 ล้านใบ และ 3.ให้ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยามีส่วนร่วมในการป้องกันน้ำท่วม โดย กทม. จะจัดกระสอบทรายให้ พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ระดับน้ำเพื่อไม่ให้เอ่อล้นขึ้นมาในพื้นที่
ด้านนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้แบ่งงานให้รองปลัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 6 คน ไปดูแล 6 กลุ่มเขต รวมทั้งเตรียมความพร้อมขุดลอกคูคลอง เก็บผักตบชวา เปิดทางน้ำไหล ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เรียงกระสอบทรายป้องกันน้ำหลาก และรับน้ำทะเลหนุนสูง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและแผงบังคับน้ำเพิ่มเติมในคลองสายหลัก สร้างคันนบกั้นน้ำชั่วคราวเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ 100% โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมชลประทาน(ชป.) จังหวัดปริมณฑล กองทัพเรือ (ทร.) หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กรมทรัพยากรน้ำ โดยมีมาตรการการให้ความช่วยเหลือประชาชน ทั้งการจัดรถรับส่ง จัดช่วยเหลือรถเสีย จัดเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรในพื้นที่ เตรียมอาหาร เตรียมที่พักฉุกเฉิน โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ช่วง 1.ก่อนฝนตกหากเรดาห์ตรวจพบมีรายงานและพยากรณ์การเกิดฝนตกในพื้นที่ จะแจ้งประชาสัมพันธ์ให้เขตลงพื้นที่เตรียมพร้อมประจำจุด และแจ้งประชาชนวางแผนการเดินทางก่อน 2 ชั่วโมง 2.ขณะเกิดฝนตกเก็บกิ่งไม้ขยะหน้าตะแกรง กวาดไล่น้ำถนนที่มีน้ำท่วมขัง ช่วยเหลือประชาชน รายงานสถานการณ์น้ำท่วมและระดบน้ำทั้งถนนสายหลักสายรอง เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว และ 3.หลังฝนตกเร่งสูบระบายน้ำออกนอกพื้นที่โดยเร็ว และตรวจสอบน้ำท่วมขังทุกจุดก่อนรายงานผู้บริหารรับทราบ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุด่วนได้ที่โทร. 199 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รับสายตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ทราฟฟี่ ฟองดูว์ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ในการแจ้งน้ำท่วม ขอข้อมูลระดับน้ำ และระยะเวลาท่วม ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมีการรายงานอัพเดตสถานการณ์ปัจจุบันกลับไป ขณะนี้มีประชาชนแจ้งเรื่องน้ำท่วมเข้ามา 15,067 ปัญหาแล้ว