ศมส.จัดเสวนาออนไลน์ เมื่อลมเล่าเรื่อง: โลกทัศน์ภารตะกับร่องรอยเอเชียอาคเนย์ในวายุมหาปุราณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) ดำเนินโครงการวิจัยเอกสารโบราณสู่ความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ประวัติศาสตร์ผ่านเอกสารโบราณหายาก ในการเสวนาครั้งนี้จะเป็นตอนต่อเนื่องในการศึกษา วายุมหาปุราณะ เป็นหนึ่งในคัมภีร์สำคัญของชาวฮินดูไศวนิกาย จัดอยู่ในกลุ่มคัมภีร์ปุราณะรุ่นเก่าแก่ที่สุดซึ่งบรรดาคัมภีร์ปุราณะอื่นๆ ในสมัยต่อมาได้นำมาเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงและเรียบเรียง อีกทั้งยังนับได้ว่าเป็นวรรณกรรมภาษาสันสกฤตที่มีบทบทสำคัญต่อพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมของอินเดีย ประเด็นที่น่าสนใจในคัมภีร์วายุมหาปุราณะมีอยู่หลายประการที่สะท้อนถึงแนวคิดทางศาสนา เทพปกรณัมฮินดูแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมศาสตร์อื่นๆ ไว้อีกมากมายเปรียบได้กับ “สารานุกรม” ที่เก็บรวมรวมองค์ความรู้ของชาวอินเดียเป็นเวลาหลายพันปี นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับจักรวาลวิทยาและภูมิศาสตร์โบราณที่อาจมีความสืบเนื่องในโลกทัศน์ที่ว่าด้วยดินแดนในเอเชียอาคเนย์ ที่อาจนำมาสู่การสืบร่องรอยโลกทัศน์โบราณของดินแดนสุวรรณภูมิได้อีกด้วย
ศมส.ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดทำบทแปลภาษาไทยและบทวิเคราะห์เนื้อหาของคัมภีร์วายุมหาปุราณะขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ โดยสนับสนุนทุนวิจัยให้นักวิชาการรุ่นใหม่ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรมอินเดีย ได้แก่ ผศ. สยาม ภัทรานุประวัติ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.ดร. นาวิน โบษกรนัฏ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งได้ดำเนินงานในโครงการวิจัยเสร็จสมบูรณ์แล้ว เห็นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้าได้มีการนำเสนอความก้าวหน้าและเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยชิ้นนี้ให้กับแวดวงวิชาการและสาธารณชนผู้สนใจโดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านภารตวิทยาและวรรณกรรมภาษาสันสกฤต จึงได้จัดการเสวนาเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่ผู้สนใจได้รับชม
นอกจากนี้ผลงานชิ้นสำคัญของโครงการวิจัยเอกสารโบราณสู่ความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม อีกชุดหนึ่งที่ดำเนินการโดยนักวิจัย ศมส. ได้แก่ ดร.ตรงใจ หุตางกูร และ สุนิติ จุฑามาศ ซึ่งจะทำการเสวนาเกี่ยวกับความเป็นสุวรรณภูมิ: โลกทัศน์ยุโรปและมุสลิมช่วงศตวรรษที่ 1-15 ในหัวข้อ จาก “ภูมิศาสตร์ทอง” ถึง “ความเป็นสุวรรณภูมิ”: โลกทัศน์ยุโรปและมุสลิมช่วงศตวรรษที่ 1-15 จะเผยแพร่องค์ความรู้สำคัญอีกชุดหนึ่งว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ตรงไหน?” เป็นคำถามสำคัญเกี่ยวกับประเด็นศึกษาในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มาเป็นเวลานาน ในปัจจุบันกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) พยายามแสวงหารากเหง้าจากอดีตอันรุ่งเรืองและอ้างตนว่าคือศูนย์กลางของดินแดนสุวรรณภูมิ กระบวนการ “ทำให้เป็นสุวรรณภูมิ” (Suvarnabhumization) นี้เอง ได้นำไปสู่แนวคิดทางการเมืองเชิงวัฒนธรรม การสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์ และอัตลักษณ์ของที่เชื่อมโยงกับสุวรรณภูมิ
ในการเสวนาครั้งนี้ ดร.ตรงใจ หุตางกูร และ สุนิติ จุฑามาศ นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของ ศมส. จะนำหลักฐานประวัติศาสตร์ของอารยชนต่างชาติที่บันทึกเกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์สมัยโบราณ 2 กลุ่ม ได้แก่ ชาวยุโรปและชาวมุสลิมจากช่วงศตวรรษที่ 1-15 วิเคราะห์อภิปรายเพื่อทำความเข้าใจที่มาของโลกทัศน์ว่าด้วย “ภูมิศาสตร์ทอง” ว่ามีที่มาอย่างไร? มีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมอย่างไร? และมีความแตกต่างไปจากความเข้าใจเรื่อง “สุวรรณภูมิ” ในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด?
การเสวนาทั้ง 2 หัวข้อสำคัญนี้ จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2565 เวลา 10.00 – 15.00 น. ถ่ายทอดสดทาง Facebook Fan page และ Youtube: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-sac มีกำหนดการดังนี้ 10.00 – 12.00 น. เสวนาเรื่อง จาก “ภูมิศาสตร์ทอง” ถึง “ความเป็นสุวรรณภูมิ”: โลกทัศน์ยุโรปและมุสลิมช่วงศตวรรษที่ 1-15 โดย ดร.ตรงใจ หุตางกูร และ สุนิติ จุฑามาศ นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 13.00 – 15.00 น. เสวนาเรื่อง “เมื่อลมเล่าเรื่อง: โลกทัศน์ภารตะกับร่องรอยเอเชียอาคเนย์ในวายุมหาปุราณะ” โดย ผศ. สยาม ภัทรานุประวัติ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร. นาวิน โบษกรนัฏ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดสด รับชมย้อนหลัง หรือติดตามงานบรรยาย/เสวนาอื่นๆ ได้ที่ Fanpage Facebook: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC , Youtube: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC , Sac TV: www.sac.or.th