เป็นหนึ่งหน่วยงานในการจัดเก็บภาษี เพื่อหารายได้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าการจัดเก็บภาษี เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะหน้าที่ของคนไทย เมื่อมีรายได้ก็ต้องจ่ายภาษี แต่การที่ภาครัฐจะจัดเก็บรายได้ภาษีนั้น ต้องหาแนวทางที่เหมาะสม ไม่กระทบทั้งประชาชน และรายได้แผ่นดิน  

ทั้งนี้ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ได้สัมภาษณ์ “ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพสามิตป้ายแดง ซึ่งได้เปิดใจว่า  กรมสรรพสามิตรมีแผนทบทวน และศึกษาจัดทำพิกัดอัตราภาษีในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม 6 รายการ ประกอบด้วย 1. น้ำมันไบไอเจ็ต 2.ไบไอพลาสติก 3.แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 4.เหล้าแอลกอฮอล์ 0% 5.เบียร์แอลกอฮอล์ 0% และ 6.บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปีงบประมาณปี 2566 โดยตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ที่ 567,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 65 ที่คาดว่าจะเก็บรายได้ที่ 500,000 ล้านบาท 

ในส่วนของภาษีเหล้า-เบียร์ ที่มีแอลกอฮอล์ 0% ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดพิกัดภาษีสรรพสามิตโดยเฉพาะ จึงจะมีการจัดทำเป็นพิกัดใหม่ขึ้นมา โดยมีแนวทางว่าจะเก็บอัตราภาษีให้ต่ำกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สูงกว่าเครื่องดื่มทั่วไป เพราะมองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% จะช่วยลดปัญหาสุขภาพของผู้ดื่มได้ อีกทั้งระยะหลังคนรุ่นใหม่หันมาดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้มากขึ้น ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันยังเป็นสินค้าต้องห้าม แต่ก็ยังพบมีการลักลอบขายผ่านทางออนไลน์จำนวนมาก ดังนั้นจะเข้าไปกำหนดพิกัดอัตราภาษี เพื่อให้มีอำนาจเข้าไปช่วยดำเนินการปราบปรามจับกุมได้ 

สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม จะกำหนดพิกัดอัตราภาษี น้ำมันไบโอเจ็ต และไบโอพลาสติก เพื่อช่วยส่งเสริมการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะระยะต่อไปน้ำมันเจ็ตที่ใช้ในเครื่องบินจะหันมาใช้ไบโอดีเซลมาผสม เพื่อช่วยลดมลภาวะ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้นำสินค้าเกษตรมาแปรรูปในการผลิต เพิ่มรายได้แก่เกษตรกร เช่นเดียวกับ ภาษีแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่ปัจจุบันกรมเก็บภาษีที่ 8% แต่ในปี 66 จะมีการทบทวนใหม่ หากเป็นแบตเตอรี่ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ อาจไม่เก็บภาษีหรือเก็บภาษีให้ถูกลง ส่วนแบตเตอรี่ที่รีไซเคิลไม่ได้ จะจัดเก็บอัตราภาษีแพงขึ้น 

"หลักการของกรมฯหากสินค้าใดบริโภคแล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็จะเสียภาษีสูงกว่า สินค้าที่ใช้แล้วเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะในแต่ละปีรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณการรักษาสุขภาพของประชาชนมากกว่า 100,000 ล้านบาท จึงต้องการเข้าไปช่วยป้องกันในส่วนนี้ เช่นเดียวกัน หากเป็นสินค้าทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ต้องเก็บภาษีสูงขึ้น" 

ขณะที่ในเรื่องของ “โครงการจำหน่ายน้ำมันเขียวให้กับชาวประมงในราคาถูก” นั้น คุณเอกนิติ  กล่าวว่า เป็นน้ำมันดีเซลที่ผลิตมาจากโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและเงินนำส่งกองทุนต่าง ๆ ของกระทรวงพลังงาน ตามมติ ครม. วันที่ 3 ตุลาคม 2543 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 ซึ่งจะทำให้น้ำมันเขียวที่ขายกันอยู่กลางทะเลมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลที่ขายอยู่บนบก เพื่อให้ต้นทุนการทำประมงถูกลง และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีเรือประมงบางลำลักลอบนำน้ำมันเขียวที่ได้รับยกเว้นภาษีกลับเข้ามาขายต่อในทะเลอาณาเขต หรือนำกลับมาขายบนบก ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มเรือประมงที่ดีไม่มีน้ำมันเขียวเพียงพอที่จะเติมให้ 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการลักลอบนำน้ำมันเขียวกลับมาขายตามชายฝั่งหรือบนบก นอกจากเรื่องส่วนต่างของภาษีที่เป็นแรงจูงใจแล้ว ดร.เอกนิติ กล่าวว่า เกิดจากระบบการกำกับดูแลไม่เชื่อมต่อกัน โดยโครงการน้ำมันเขียวนั้นมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลหลายหน่วยงาน เช่น กรมสรรพสามิต, กรมศุลกากร, กรมธุรกิจพลังงาน, กรมประมง, กรมเจ้าท่า และศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง (ศปนม.ตร.) เป็นต้น แต่ยังขาดการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ทำให้การตรวจสอบการกระทำความผิดทำได้ยาก ยกตัวอย่าง หากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น มักจะเป็นความผิดในอดีต ต้องขอข้อมูลจากหลายหน่วยงานมาใช้ในการตรวจสอบย้อนหลัง ใช้เวลาในการตรวจสอบนานมาก และไม่มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ส่วนข้อมูลที่มีอยู่ก็ได้มาจากการทำบัญชีของผู้ควบคุมเรือเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างชัดเจน ขณะที่การรับรองเรือประมงที่เข้าร่วมโครงการนั้น ดำเนินการโดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานราชการ ที่ผ่านมามีการรับรองเรือประมงไม่ตรงตามเงื่อนไขเป็นจำนวนมาก 

ดร.เอกนิติ กล่าวว่า จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น กรมสรรพสามิตได้กำหนดแนวทางการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันเขียวกันใหม่ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบจำหน่ายสินค้าหนีภาษี ตามแผนยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตประจำปีงบประมาณ 2566 โดยออกประกาศกำหนดให้เรือบรรทุกน้ำมัน, เรือสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน (Tanker Boat) และเรือประมงทุกลำที่เข้าร่วมโครงการจำหน่ายน้ำมันเขียว ต้องติดตั้งเครื่อง AIS หรือ “Automatic Information System” และต้องติดตั้งระบบมาตรวัด (Flow Meter) ของกรมสรรพสามิตด้วยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งข้อมูลการซื้อ-ขายน้ำมันเขียวในเขตต่อเนื่อง ทั้งจากเรือบรรทุกน้ำมัน, เรือ Tanker และเรือประมง จะออนไลน์มาที่กรมสรรพสามิตทันที ทำให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตเห็นข้อมูลเรือประมงแต่ละลำเติมน้ำมันเขียวจากเรือ Tanker ในปริมาณเท่าไหร่ ในพิกัดหรือบริเวณไหน แบบ Realtime หากพบความผิดปกติ ก็จะแจ้งให้เรือของกรมศุลกากร, ตำรวจน้ำ หรือกองทัพเรือเข้าไปตรวจสอบได้ทันที 

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังได้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลทั้ง 11 หน่วยงาน หลังจากได้รับทราบปัญหาจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กรณีระบบติดตามตำแหน่งของเรือประมง หรือ “Vessel Monitoring System — VMS” ของกรมประมงเสียจะต้องรีบนำเรือกลับเข้าฝั่ง ซึ่งตรงนี้กรมสรรพสามิตได้ประสานกับกรมประมงแล้ว หากเครื่อง VMS เสียให้ใช้เครื่อง AIS ของกรมสรรพสามิตแทนได้ ไม่ต้องนำเรือทั้งหมดกลับเข้าฝั่ง ทำให้ชาวประมงสามารถทำประมงได้อย่างต่อเนื่อง 

หลังจากนี้จับตาผลงาน “อธิบดีสรรพสามิต” ป้ายแดง  “ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” จะสร้างภาพมิติใหม่ในการจัดเก็บภาษีเป็นอย่างไร???