ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

การเมืองที่ทำด้วยคนที่เห็นแก่ตัวก็ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เพราะยิ่งจะมีแต่คนคิดกอบโกยเอาเปรียบ

รังสรรค์ใน พ.ศ. 2534 ต้องถือว่าเป็นนักวิชาการรุ่นหนุ่ม “คนรุ่นใหม่” ในวัยที่ย่าง 30 ปี ทำให้เขารู้สึกลำพองใจที่ได้เข้าไปทำงานในส่วนสำคัญของรัฐบาล โดยอาจารย์ที่สอนเขามาได้มีตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทหารชุดนั้น และได้รับมอบหมายให้ดูแลงานสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับกฎหมายและการประสานงานส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งรังสรรค์ได้เข้าไปรับภาระในการดูแลสำนักงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงระบบภาษีอากรและทรัพย์สินต่าง ๆ ของรัฐ อันเป็นวิชาที่เขาได้ร่ำเรียนมาโดยเฉพาะจนจบปริญญาเอกนั้น

รังสรรค์ได้แสดงให้เห็นว่าเขามีความรู้เหนือกว่าพวกข้าราชการมากมายนัก เพราะข้าราชการที่เขาประสานงานด้วยส่วนใหญ่จะเป็นระดับอธิบดีหรืออย่างต่ำ ๆ ก็รองอธิบดีที่อธิบดีหรือปลัดกระทรวงมอบหมายมาให้ข้อมูลและ “รับบัญชา” ต่าง ๆ ซึ่งคนเหล่านี้จะมีอายุงานอย่างน้อยก็เป็นยี่สิบปีขึ้นไป ที่หนุ่มที่สุดอาจจะมีอายุ 40 ต้น ๆ แต่นั่นก็คือคนที่เรียนกฎหมายเก่าและตำราเศรษฐศาสตร์เก่า ๆ มาทั้งสิ้น รังสรรค์จึงถูกรองนายกรัฐมนตรีใช้เพื่อ “ข่ม” ข้าราชการระดับอาวุโสเหล่านี้ ซึ่งรังสรรคก็ไม่ได้ทำให้เจ้านายผิดหวัง สามารถซักไซ้ไล่เลียงโต้เถียงกับข้าราชการอาวุโสเหล่านั้นได้อย่างดี ด้วยท่าทีที่นอบน้อมแต่เต็มไปด้วยความมั่นใจ แน่นอนว่าก็คงมีทั้งคนที่รักและคนที่ไม่ชอบ โดยคนที่รักก็พยายามเอาอกเอาใจ ในขณะที่คนที่ไม่ชอบก็คงหาโอกาสแก้แค้นเอาคืนอยู่ในใจ

รังสรรค์ตอนที่จบมาจากสหรัฐอเมริกา และที่บ้านมีการจัดการมรดกกันใหม่ ในจำนวนมรดกที่รังสรรค์ได้รับก็มีรถเมอร์เซเดสรุ่นคลาสสิกซึ่งเป็นรถที่พ่อของเขาเคยใช้มาแล้วอยู่ 1 คัน แต่เขาก็ยังซื้อรถนั่งของญี่ปุ่นยี่ห้อหรูอีก 1 คัน เพื่อให้ดูทันสมัยที่เขาก็ขับไปทำงานตั้งแต่ในมหาวิทยาลัยจนมาอยู่ที่ทำเนียบนี้ แต่เพียงสองสัปดาห์เขาก็ได้รับการคะยั้นคะยอจากรองอธิบดีในกระทรวงการคลังคนหนึ่งให้รับรถเมอร์เซเดสรุ่นใหม่ไว้ทดลองใช้ พร้อมกับจัดคนขับมาให้พร้อมสรรพ ซึ่งรังสรรค์ก็รู้เท่าทันว่า คงให้คนขับรถนี้เป็นสายลับมาคอยรายงานว่ารังสรรค์ไปไหนมาไหนหรือพูดคุยและโทรศัพท์กับใครบ้าง กระนั้นเขาก็พอใจกับของฝากของกำนัลที่มีข้าราชการต่าง ๆ เอามาให้ แต่เขาก็ระมัดระวังมากในการรับข้าวของต่าง ๆ โดยจะทำอย่างเปิดเผยเสมอเพื่อให้มีพยานหรือผู้คนได้รู้เห็น ดังนั้นคนที่เอาข้าวของมาให้ก็จะต้องระมัดระวังตัวเอาเอง

เขาได้ทำงานใกล้ชิดกับทหารกลุ่มหนึ่งที่คณะ รสช.ได้ส่งมาทำหน้าที่ประสานงานในทำเนียบ ซึ่งเขาก็ได้เรียนรู้ว่าทหารมีความระแวงพวกนักการเมืองเป็นอย่างมาก งานที่ทหารกลุ่มนี้เข้ามาทำก็คือการหาข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตของนักการเมือง เพราะภายหลังจากการยึดอำนาจของ รสช.ก็ได้มีประกาศยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดก่อนจำนวน 15 คน ทหารกลุ่มนี้ยังขยายผลไปถึงการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจเบื้องหลังของบรรดานักการเมืองทั้งหลาย ซึ่งก็ทราบว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพ่อค้าและผู้มีอิทธิพลทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น รวมถึงความสัมพันธ์กับข้าราชการที่มีตำแหน่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านั้น ถึงขั้นที่พบว่าข้าราชการนั่นเองที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักการเมืองเหล่านั้นสร้างอิทธิพลขึ้นมา แล้วร่วมกันเสวยสุขในผลประโยชน์ทั้งหลาย แต่ว่าข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยได้ลำบากมาก เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องล้วนแต่มีอิทธิพลมาก ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงขั้นตอนและกระบวนการด้านการเอาผิดตามกฎหมายนั้นยุ่งยากมาก แม้จะตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาตรวจสอบก็ทำได้เพียงเสี้ยวเดียว และที่สุดอดีตรัฐมนตรีหลายคนรวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีด้วยนั้นก็หลุดพ้นจากการตรวจสอบ “ลอยนวล” ออกไป เหตุผลสำคัญก็คือถ้าสืบสาวต่อไปก็จะพบว่าไปพัวพันกับใครต่อใครอีกมาก ที่รวมถึงแกนนำบางคนในคณะ รสช.นั้นเองอีกด้วย

ในช่วงเวลานั้นรังสรรค์ก็ยังต้องยุ่งเกี่ยวกับนักการเมืองจำนวนมาก ทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีทุจริตที่รังสรรค์รับผิดชอบอยู่ กับที่เข้ามาหาเพื่อ “ผูกมิตร” หรือสร้างความสัมพันธ์ให้แนบแน่นเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองต่าง ๆ ซึ่งรังสรรค์เองก็ได้เรียนรู้จากนักการเมืองเหล่านั้นไปพร้อม ๆ กัน นักการเมืองบางคนก็เข้ามาโน้มน้าวเขาเพื่อที่จะให้เขาเข้ามาเป็นพวก บ้างก็ชวนมาเข้าพรรค บ้างก็ชวนให้ลงเล่นการเมือง เพราะตอนนั้นคณะ รสช.กำลังจะให้มีการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2535 แต่รังสรรค์ก็ปฏิเสธไปทั้งหมด แม้เขาจะมีความฝันที่อยากจะเป็นนักการเมืองอยู่ก่อนแล้ว เรื่องนี้มีคนไปแอบรู้ถึงเหตุผลที่รังสรรค์ไม่ยอมตกล่องปล่องชิ้นที่จะลงเลือกตั้งในครั้งนั้นก็เป็นเพราะว่า รองนายกรัฐมนตรีที่เป็นอาจารย์ของรังสรรค์ได้ห้ามไว้ และแนะนำว่าการเป็น “นักวิชาการทางการเมือง” แบบที่ทำกันอยู่อย่างนี้แหละเป็นอาชีพที่ดีอาชีพหนึ่งในสังคมไทย แต่รังสรรค์ชอบที่จะพูด กับใครๆว่า เขายังชอบที่จะเป็นข้าราชการคือเป็นอาจารย์นั้นมากกว่า

การเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2535 ผลปรากฏว่าพรรคสามัคคีธรรมที่เกิดจากการรวบรวมนักการเมืองหลายกลุ่มมาจัดตั้งขึ้นเป็น “พรรคเฉพาะกิจ” เพื่อสนับสนุนผู้นำทหารให้อยู่ในอำนาจต่อไป ได้รับชัยชนะได้ ส.ส.มามากที่สุด แต่ก็ไม่พอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ต้องเอาพรรคอื่นมารวมเข้าด้วยอีกจำนวนหนึ่ง ท่ามกลางกระแสการต่อต้านไม่เอานายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตอนแรกพลเอกสุจินดา คราประยูร รองหัวหน้าคณะ รสช.ก็จะไม่รับตำแหน่งและปฏิเสธไปแล้ว แต่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมมีปัญหาเรื่องเป็นแบล็กลิสต์ยาเสพติด ทำให้ต้องไปเชิญพลเอกสุจินดากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็เกิดการต่อต้านขึ้นทั้งในและนอกสภา โดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้ออกมาอดอาหารประท้วงที่หน้ารัฐสภา แล้วขยายตัวเป็นการชุมนุมของประชาชนขึ้นที่ถนนราชดำเนิน ที่สุดก็เกิดการจลาจลขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 21 พฤษภาคม ที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงต้องเรียกพลเอกสุจินดากับพลตรีจำลองมาเข้าเฝ้าให้สงบศึกกันเสีย เหตุการณจลาจลจึงจบลง และมีการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมกันไป

รังสรรค์ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นโดยตลอด หลังจากการเลือกตั้งเขาก็กลับไปทำงานที่มหาวิทยาลัยอย่างเต็มตัว เมื่อพลตรีจำลองอดอาหารประท้วง เขาก็ร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ให้กำลังใจ และมาร่วมชุมนุมทุกวันหลังเลิกงาน เขาได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่ในทำเนียบ บทความนั้นเป็นข้อแนะนำทางกฎหมายแก่ประชาชนในสิทธิที่จะร่วมชุมนุม รวมทั้งโจมตีฝ่ายพรรคสามัคคีธรรมที่เป็นต้นเหตุในการสร้างความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เพราะไปสนับสนุนทหารให้ครองอำนาจต่อไป เมื่อการชุมนุมจบลงด้วยชัยชนะของ “ฝ่ายเทพ” คือพวกต่อต้านทหาร เหนือพวกสนับสนุนทหารที่เรียกว่า “ฝ่ายมาร” หรือ “พรรคมาร” จากวิกฤติการเมืองในครั้งนั้นได้ทำให้รังสรรค์รู้สึกว่าการเป็นนักวิชาการนั้นก็สามารถมีบทบาททางการเมืองได้มากมายไม่แพ้กับการที่เข้าไปเป็นนักการเมืองนั้นโดยตรง

รังสรรค์ได้ร่วมเคลื่อนไหวในกระบวนการปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เขาได้เข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาการเมืองของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ร่วมกับนักวิชาการและผู้นำประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จนกระทั่งได้เกิดเป็นคณะปฏิรูปการเมืองในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา จนที่สุดก็มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในตอนต้นปี 2540 แล้วร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองคือฉบับ พ.ศ. 2540 เสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคมปีนั้น ที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

หนทางชีวิตของรังสรรค์เหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ ที่เขาสามารถทำอะไรได้อย่างที่นึกที่ฝันเสมอมา กระทั่งเขาได้มาเจอ “ของจริง” ในการเมืองยุคปฏิรูปที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น