วันที่ 21 ก.ย.65  ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยสำนักพัฒนาสังคม ว่าที่ร้อยตรี วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง นายอาคม ศรีประภาพงศ์ เกษตรกรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม เพื่อหารือเรื่องการป้องกันการเผาชีวมวลในที่โล่ง (การเผาที่นา พื้นที่การเกษตร การเผาขยะ) เพื่อเตรียมดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรของกรุงเทพมหานคร
 
ในตอนหนึ่ง นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลจากสำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าในพื้นที่ด้านเกษตรปลูกข้าว (ข้าวนาปี 64/65) มากที่สุด ประมาณ 80,988.03 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 80,422.55 ไร่ มีเกษตรกร 3,295 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรที่เหลือเป็นเกษตรพืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับไม้ผล ไม้ยืนต้น สมุนไพร และพืชไร่  รวมพื้นที่ปลูก 95,194.92 ไร่ ทั้งนี้ประมาณ 10% ที่ยังใช้การเผาในพื้นที่การเกษตรก่อนทำการเพาะปลูกในครั้งต่อไป โดยจะสถิติปี 2564 พบ พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังปี 63/64 มีการเผา 11 จุด 6,875 ไร่ สถิติปี 2565 พบพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังปี 64/65 มีการเผา 9 จุด 5,625 ไร่ซึ่งลดลง 2 จุด 1,250 ไร่ คิดเป็น 12.5% อยู่ในพื้นที่เขตคลองสามวา 1 จุดเขตลาดกระบัง 2 จุดเขตหนองจอก 6 จุด โดยเกษตรกรจะเริ่มเผาตั้งแต่เดือนธ.ค.-มี.ค. โดยพบว่าเดือนมี.ค.จะมีการเก็บเกี่ยวข้าวในพื้นที่เกษตรก่อนทำนามากที่สุด ประมาณ 37,747 ไร่ ซึ่งเกษตรกรยังมีทัศนคติว่าควรเผาพื้นที่เกษตรเพื่อเตรียมแปลงเกษตรก่อนทำนาเนื่องจากสะดวกในการเตรียมดิน 
 
ทั้งนี้ กทม.เตรียมรณรงค์ปลูกจิตสำนึกของเกษตรกร ด้วยการรณรงค์ให้การเผาซังตอข้าวเป็น 0% เพื่อลดปัญหามลพิษและฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ โดยในเบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักงานเขตลงพื้นที่ที่ยังมีการเผา เพื่อหาข้อมูลในการหาจุดเป้าหมายที่จะทำกิจกรรมรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ด้วยการสร้างการรับรู้ การอบรม/สาธิต การประชาสัมพันธ์ รวมถึงสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา โดยให้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรน้อยที่สุด เนื่องจากการเผาตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเป็นวิธีที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้รถไถกลบตอซังข้าว ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานเขตร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีการรองรับ เช่น การช่วยเหลือด้วยรถไถกลบจากทางราชการ เป็นต้น รวมถึงการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยรถอัดฟางก้อน และเตรียมหาตลาดเพื่อรองรับฟางข้าว เช่น โรงงานผลิตไฟฟ้า เป็นต้น พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการการใช้ประโยชน์จากฟางข้าว จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์/สาธิต/ถ่ายทอดความรู้ เช่น การทำกระถางจากฟางข้าวและการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า การผลิตเป็นปุ๋ยหมัก เป็นต้น โดยให้กำหนดเป็น Action Plan เพื่อดำเนินการควบคู่กับการตรวจโรงงานในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 
 
อีกทั้งมอบหมายให้สำนักพัฒนาสังคมดำเนินการขยายตลาดในรูปแบบ Farmers Market เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีตลาดในการระบายสินค้าเกษตรให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมส่งเสริมการรณรงค์ปลูกผักสวนครัวในรูปแบบเกษตรปลอดสารพิษ ในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่ว่างในอาคาร บ้านเรือน ชุมชน ให้มีผลผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคครัวเรือนและในชุมชน และต่อยอดถึงการจำหน่ายสู่ตลาดเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของเมือง และยังสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในเมืองได้อีกทางด้วย ซึ่งเบื้องต้นอาจมีการสนับสนุนให้เกิดโครงการปลูกพืชผักเกษตรปลอดสารพิษให้ได้ 200 แปลง (เฉลี่ยเขตละ 4 แปลง) ในเมือง โดยเป็นการกำหนดเพื่อเป็นการขยายผลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต