วันที่ 21 ก.ย.2565 ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เขตหลักสี่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการ กอนช. ครั้งที่ 3/2565 มีวาระสำคัญเรื่องการจัดการพื้นที่ทุ่งรับน้ำ และการระบายน้ำในกรุงเทพมหานคร โดยมี นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร นายสมบัติ วรสินวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุม

ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีประมาณ 2,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่วนท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีประมาณ 1,980 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จากการประเมินในช่วงปลายเดือนก.ย-ต.ค.จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น จากแนวโน้มร่องมรสุมพาดผ่านในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณฝนมากขึ้น ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงมีการวางแผนจัดการน้ำลงมาท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของเขื่อนเจ้าพระยา และเฝ้าระวังน้ำจากลุ่มแม่น้ำป่าสักที่จะมาสมทบ ปัจจุบันกองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดให้สถานีบางไทรปล่อยน้ำ 3,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จากเดิม 3,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อบริหารความเสี่ยงกรณีพื้นที่กทม.และปริมณฑลมีฝนมาก จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสามารถรับน้ำได้ดี มีความจุเหลือพอระบายน้ำออกจากกทม.ได้ นอกจากนี้ ยังเตรียมทุ่งรับน้ำจำนวน 10 ทุ่ง ในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สามารถรับน้ำได้ 1,000-1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทานมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้าเป็นผู้ประเมินความจำเป็นในการปล่อยน้ำลงทุ่งก่อนประกาศล่วงหน้าให้ประชาชนรับทราบ โดยในระหว่างที่น้ำท่วมทุ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสนับสนุนพันธุ์ปลาเพื่อเป็นแหล่งอาหารและรายได้ของชาวบ้านในพื้นที่ทุ่งรับน้ำดังกล่าว หลังจากสถานการณ์ดีขึ้นจะเร่งสูบน้ำออกโดยเหลือน้ำไว้ส่วนหนึ่งให้เกษตรกรเป็นต้นทุนในการปรับพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป

ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า การประชุมร่วมกับกทม.ในวันนี้ได้เห็นตรงกันว่าจะปล่อยน้ำที่สถานีบางไทร 3,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเป็นระดับที่กทม.สามารถบริหารจัดการต่อได้ โดยเชื่อมโยงคลองทั้งหมดในกทม.เพื่อระบายน้ำออกแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา และคลองชายทะเล รวมถึงมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อย่างเต็มที่ เช่น หน่วยงานทหารเพื่อกำจัดผักตบชวาและขยะที่ขวางกั้นทางเดินน้ำในคลอง ประกอบกับวันนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มเกิดพายุ 1-2 ลูก ในช่วงต้นเดือนต.ค.แต่ยังระบุไม่ได้ว่าจะเกิดบริเวณพื้นที่ใดและมีความรุนแรงขนาดไหน กทม.จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้า

สำหรับข้อกังวลว่าจะมีน้ำท่วมเหมือนปี 2554 ดร.สุรสีห์ อธิบายว่า ขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์สามารถจุน้ำได้มากกว่าเมื่อปี 2554 ถึง 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หากมีพายุเกิดขึ้นเหนือเขื่อนดังกล่าวจะสามารถรับน้ำได้เป็นอย่างดี ต่างจากสถานการณ์ในปี 2554 ซึ่งเขื่อนเต็มความจุ กอปรกับมีพายุผนวกเข้ามา จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำในเขื่อนออก แต่ปีนี้ไม่มีความจำเป็น เขื่อนยังมีพื้นที่รับน้ำอีกมาก ยิ่งหากมีน้ำมาเติมในเขื่อนมากเท่าไร จะยิ่งเป็นผลดีต่อการจัดสรรน้ำให้เกษตรในช่วงฤดูแล้งอีกอีกด้วย