ส.ป.ก.มองการณ์ไกล เสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมชน ลุยผลักดันโครงการพัฒนาธุรกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน 72 จังหวัด เสริมแกร่งความรู้สร้างจุดเด่นผลิตภัณฑ์ ชูกลุ่มทอผ้าเพชรสามเรือน ต้นแบบความสำเร็จ ชูจุดขายผ้าทอไทยทรงดำ ดึงลูกค้า มีรายได้เสริมเฉลี่ยเดือนละ 3 พันบาท

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้กำหนดให้การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการแข่งขันด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. จึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตรของไทยสู่ความยั่งยืน เสริมสร้างโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน

“ด้วยชุมชน ถือเป็นฐานรากที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ เกษตรกรได้พึ่งพาและใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อการดำรงชีวิตและสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว แต่ปัจจุบันความร่วมมือของเกษตรกรในท้องถิ่นเริ่มลดลง จะเห็นได้จากการรวมกลุ่มทำได้ยากขึ้น เกษตรกรเข้าสู่วัยสูงอายุและขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรจำนวนมากขาดความรู้ในการทำธุรกิจเชิงระบบ          ทำให้ขาดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาธุรกิจโดยใช้เงินทุนเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ทำให้ธุรกิจไม่เกิดการขยายตัวและมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจในระดับที่ต่ำ ส่งผลให้การรวมกลุ่มเกษตรกรขาดความเข้มแข็ง” เลขา ส.ป.ก. กล่าว

ดังนั้น การเสริมสร้างโอกาสให้สมาชิกในชุมชนได้นำความรู้ ภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยเกษตรกรมีโอกาสในการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตนเองหรือชุมชนเพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ ส.ป.ก. จึงได้ดำเนินการภายใต้ “โครงการพัฒนาธุรกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน”

ดร.วิณะโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ส.ป.ก. ได้สนับสนุนการพัฒนาระบบธุรกิจชุมชนแก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินทั้ง 72 จังหวัด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์/สินค้า ให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้านั้น ๆ แล้ว จะเป็นการเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้นซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการคัดเลือกสินค้าและผลิตภัณฑ์จากบรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น ทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ วัสดุภายในท้องถิ่นแสดงความเป็นอัตลักษณ์ วัสดุเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วัสดุที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้ ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นอีกด้วย

“วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าเพชรสามเรือน  หมู่ที่ 4 ตำบลท่าตะคร้อ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีนางบุญนาค กานตพงศ์ เป็นประธาน เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ ส.ป.ก.ได้รับการพัฒนาตามโครงการพัฒนาธุรกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน จนประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ” ดร.วิณะโรจน์ กล่าว

ดร.วิณะโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าเพชรสามเรือน เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ซึ่งได้รับเเรงบันดาลใจ จากการทอผ้าใช้เองมาตั้งแต่โบราณ มีการรักษาสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาต่อกันมา ซึ่งทำให้ผ้าทอมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ คงความดั้งเดิมตามแบบชุมชนไทยทรงดำที่มีมาแต่อดีต

“จากวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ดังกล่าว ส.ป.ก.โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเพชรบุรี จึงได้พิจารณาคัดเลือก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าเพชรสามเรือน  ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน   เข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้มีมาตรฐาน น่าสนใจ ทันสมัยและสามารถจัดส่งไปยังผู้บริโภคผ่านตัวแทนธุรกิจการขนส่งได้โดยสินค้ายังอยู่ในสภาพเดิม ไม่เกิดความชำรุด เสียหาย นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์อีกด้วย” ดร.วิณะโรจน์ กล่าว

ด้านนางบุญนาค กานตพงศ์ เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าเพชรสามเรือน  กล่าวว่า อาชีพการทอผ้า เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาของชุมชนไทยทรงดำแห่งนี้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าขึ้นชื่อได้แก่ ผ้าขาวม้า และผ้าทอลายแตงโม ลายผ้าแบบดั้งเดิมสืบทอดกันมา ด้วยการสนับของส.ป.ก. ทำให้ดีขึ้นทุกอย่าง โดยเฉพาะการสร้างตลาด ด้วยการชูจุดขายที่โดดเด่นของผ้าทอไทยทรงดำ จึงทำให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากขึ้น โดยจุดเด่นนอกจากความสวยงามของลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นผ้าทอที่ระบายอากาศได้ดี  ซักแล้วไม่ยืด ไม่หด เนื้อผ้ามีความนุ่มไม่หยาบกระด้าง และมีราคาไม่แพง ปัจจุบันเกษตรกรสมาชิกสามารถสร้างรายได้เสริมจากการทอผ้าจำหน่าย เฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท

“ส.ป.ก.เพชรบุรี ได้เข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มีการจัดอบรมเสริมความรู้ภายใต้หลักสูตรต่าง ๆ ทำให้ทางกลุ่มของเรามีการพัฒนามากขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าทอของเรา เช่น อบรมหลักสูตรการประดิษฐ์ชิ้นงานจากเศษผ้า ทำเป็นที่ใส่ซองจดหมาย กระเป๋าใส่โทรศัพท์ และ กระเป๋าเอนกประสงค์  ตอนนี้พวงกุญแจกับกระเป๋าก็ขายได้ พอมีรายได้เสริมของสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุ เฉลี่ยแล้วก็อายุ 80 ปี ต้องขอบคุณ ส.ป.ก. เพราะไม่เคยได้ทิ้งเรา เข้ามาช่วยมาสนับสนุนตลอด ดูแลทั้งอาชีพการทอผ้า และอาชีพการทำเกษตร จะเข้ามาดูมาถามว่า น้ำแห้งตรงไหน ขุดบ่อไหม มีน้ำรดต้นไม้ไหม เขาจะทำให้ทุกอย่าง จะมีบ่อน้ำ บ่อน้ำใหญ่บ่อน้ำเล็ก จะมีหมด” นางบุญนาค กล่าว