วันที่ 21 ก.ย.65ที่ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี “หยุด ก่อนทางม้าลาย” โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมกิจกรรม ที่ห้องรัตนโกสินทร์ เน้นย้ำการสนับสนุนขับเคลื่อนให้เกิดทางม้าลายปลอดภัย พร้อมปล่อยขบวนรณรงค์หน้าศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)

           

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวเปิดงานว่า เรื่องอุบัติเหตุถือเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตพี่น้องประชาชนทำให้เกิดการสูญเสียและส่งผลไปถึงระบบเศรษฐกิจ สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก ช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายหน่วยงานพยายามช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อลดและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะอุบัติเหตุบริเวณทางข้ามทางม้าลายมีสถิติสูง ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับกระทรวง หน่วยงานต่างๆ จังหวัดและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงได้บูรณาการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขอความร่วมมือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดสร้างกิจกรรมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนซึ่งจะมีการดำเนินการทุกวันที่ 21 ของทุกเดือน เพื่อใช้พลังสังคมช่วยกันสร้างกระแส เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุอย่างเช่นกรณี หมอกระต่ายอีก รวมถึงขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการปรับปรุงด้านกายภาพของทางข้าม/ทางม้าลาย และการบังคับใช้กฎหมายต้องทำอย่างเข้มงวด สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนคือการสร้างจิตสำนึก สร้างวัฒนธรรมในการใช้รถใช้ถนน ทั้งคนข้ามและคนขับ

           ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุหมอกระต่าย เฉพาะทางม้าลาย กทม. มีทั้งหมด 2,788 แห่ง ที่ผ่านมาเรามีการปรับปรุงทั้งหมด 1,286 จุด เป็นการปรับปรุงทาสี มีส่วนที่เป็นสีแดงและสีขาว โดยส่วนที่เป็นสีแดงเราทาไปทั้งหมดประมาณ 250 จุดที่เหลือเป็นสีขาว จริงๆแล้วทางม้าลายทั้งหมดจะมี 3 แบบ ที่มีไฟกระพริบตรงทางแยก แต่เดิมมี 538 แห่ง เราเพิ่มทางม้าลายตรงทางแยก อีก 2 แห่งเป็น 540 ที่ติดตั้งสัญญาณกดปุ่ม แต่เดิมมี 237 เราเพิ่มขึ้นอีก 34 แห่งในช่วงปี 2565 เป็น 271  ส่วนสัญญาณไฟกระพริบเตือนเมื่อก่อนมี 924 เราเพิ่มอีก 50 เป็น 974 แห่ง และที่ผ่านมาในปี 2565 เราเพิ่มสัญญาณไฟขึ้นอีก 86 จุด ในปีงบประมาณ 2566 จะมีการเพิ่มเติมอีก เพราะฉะนั้นทางกายภาพเรามีการปรับปรุงเต็มที่เป็นสิ่งที่กำลังทำ นอกจากนี้ เรามีเทศกิจลงไปดูทางม้าลายหน้าโรงเรียน โครงการ School Care ทั้งหมดประมาณ 526 จุด เป็นโรงเรียนกทม. 437 แห่ง โรงเรียน สพฐ. 45 แห่ง โรงเรียนเอกชน 43  แห่ง และจุดอื่นๆ 1 โรงเรียน ใช้เทศกิจ 574 นายต่อวัน ประจำหน้าโรงเรียนทั้งเช้า-เย็นเพื่อเพิ่มอำนวยความสะดวกการจราจร ทั้งหมดนี้

           “ กายภาพเราจะปรับปรุงต่อไป แต่เราไม่สามารถทำไฟปุ่มกดทุกจุดได้ เพราะบางจุดก็ไม่คุ้มที่จะติดตั้งคงต้องเลือกจุดที่เหมาะสม ปรับปรุงแสงสว่างให้ดี แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึกไม่มีเรื่องการหยุดให้คนข้ามก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการรณรงค์วันนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ภาพรวมเข้มข้นขึ้น มี 3 ส่วน คือกายภาพต้องดี เรื่องจิตสำนึก และเรื่องบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งตอนนี้ กทม.ได้มีการปรับลดความเร็วตามอำนาจของกทม.สามารถลดความเร็วบริเวณทางม้าลายหรือว่าชุมชนได้ มีทดสอบอยู่ 5 จุด ปักป้ายความเร็ว 30 กม./ชม. เพื่อให้รถชะลอ ถ้าเกิดความเร็วเกินก็ต้องมีการจับปรับ จะเริ่มมีการจำกัดความเร็วตามจุดต่างๆ โดยจะร่วมมือกับตำรวจนครบาลตำรวจจราจร ประชาสัมพันธ์และแสดงให้ถึงการเอาจริงเอาจังในการจับปรับ ซึ่งเป็นอำนาจของทางตำรวจจราจร เพราะอยู่บนผิวทาง เราต้อง เอาจริงเอาจังทั้งด้าน solf Power ก็คือรณรงค์ hard Power คือการจับปรับ “ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

             นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จากสถิติการรับเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมา พบกว่า 500 เรื่อง  เป็นปัญหาเกี่ยวกับงานจราจร ในจำนวนนี้มากถึง 300 - 400 คน ต่อปี ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการข้ามถนน และ จากข้อมูลการสำรวจการหยุดรถที่ทางม้าลาย พบว่าผู้ขับขี่รถเกือบร้อยละ 90 ไม่หยุดรถตรงทางม้าลาย โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์มีสถิติสูงสุด จึงเล็งเห็นว่าทุกภาคส่วนต้องเร่งร่วมมือกันรณรงค์ แก้ไขปัญหาดังกล่าวจากต้นเหตุให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างจริงจัง จึงอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 หยิบยกกรณีปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้ทางข้าม (ทางม้าลาย) แก้ไขในเชิงระบบ ใน 3 ด้านหลัก คือ 1.ด้านการแก้ไขกฎหมาย 2.ด้านการปรับปรุงทางกายภาพ  3.ด้านการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและการสร้างเครือข่าย  โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมกับ สสส. บูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ-เอกชน ขับเคลื่อนการทำงาน และ รณรงค์ “ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี" เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการข้ามถนนโดยใช้ทางม้าลายอย่างเป็นรูปธรรม  สำหรับด้านการแก้ไขกฎหมาย จะเสนอแนะให้เพิ่มเติมกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่ควรกำหนดให้ผู้ขับขี่หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลายเป็นการเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายยังไม่มีการบัญญัติโทษไว้เป็นการเฉพาะ รวมถึงกำหนดกฎหมายเพิ่มบทลงโทษกับคนที่ฝ่าฝืนด้วย ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นองค์กรกลางสนับสนุนทุกหน่วยงานในขับเคลื่อนการทำงานเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม  ตั้งเป้าในอีก 1 ปีข้างหน้า ทางม้าลายทุกทางรถจะต้องหยุดให้คนเดินข้าม ซึ่งจะติดตามประเมินผลทางสถิติอย่างต่อเนื่องทุก 2-3 เดือน เพื่อดูว่าอุบัติเหตุหรือผู้ฝ่าฝืนกฎหมายนั้นลดลงหรือไม่อย่างไร

   

          ทั้งนี้ วันเดียวกันยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ Kick off ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี คู่ขนาน อีก 10 จุดทั่วกรุงเทพ คือ บริเวณทางข้ามทางม้าลายหน้าครุสภา เขตดุสิต ทางเข้าวัดราชาธิวาสวิหาร เขตดุสิตหน้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เขตพระนคร หน้าวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร หน้าโรงเรียนสันติราษฎร์เขตราชเทวี หน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เขตราชเทวี  เขตสวนหลวง เขตห้วยขวาง และบริเวณแยกวชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง รวมถึงภาคีเครือข่ายดานความปลอดภัยบนท้องถนนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ