นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมฟื้นฟูคลองหัวลำโพง เนื่องในวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ ณ บริเวณหน่วยเก็บขยะทางน้ำคลองหัวลำโพง เขตคลองเตย โดยมีสำนักระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตคลองเตย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ เครือข่าย ป.อนุรักษ์ ร่วมกันปลูกต้นอโศกอินเดีย 70 ต้น พร้อมลงเรือสำรวจสภาพน้ำและขยะในคลองหัวลำโพงด้วย

โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า วัน 20 กันยายน เป็นวันอนุรักษ์และพัฒนาคูคลอง ซึ่งหลายเดือนที่ผ่านมาเราได้ไปพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรม จึงคิดว่าเรื่องคูคลองเป็นเรื่องสำคัญของกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นเราจะลองเลือกคูคลองที่มันโหดๆ เพื่อเป็นต้นแบบในการทำให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง แล้วลองทำเป็นต้นแบบเพื่อเอาผลที่ได้ไปขยายต่อได้ อย่างไรก็ตามเลยลองนึกถึงคลองหัวลำโพงที่วิ่งไปถึงหัวลำโพง ตอนหลังโดนถมที่ทำถนน สุดท้ายก็จะเห็นเป็นคลองเล็กๆ มาจากตลาดคลองเตย แล้วก็วิ่งออกที่คลองพระโขนง และไปเชื่อมต่อกับคลองไผ่สิงโตถือเป็นจุดที่ท้าทาย และหากยืนอยู่ตรงจุดนี้ก็จะได้กลิ่นน้ำเน่าเหม็นเลย

“มีบ้านเรือนที่อยู่ริมคลองทิ้งสิ่งปฏิกูลลงมา ทั้งห้องส้วมทั้งการซักล้างทิ้งลงมาเลย  อีกทั้งต้นทางมีตลาดคลองเตยที่เป็นตลาดใหญ่ มีการเชือดไก่ มีน้ำล้างเขียงหมูแล้วก็ลงคลองหมด ไม่แน่ใจว่ามีบ่อบำบัดหรือเปล่า ก็เป็นต้นเหตุหนึ่ง ซึ่งอยู่ในนโยบายของเราด้วย นโยบายข้อที่ 171 เรื่องการดูแลตลาดให้ถูกหลักสุขอนามัย ซึ่งก็มีความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว ที่ผ่านมาได้มีการลงมาดูพื้นที่มานานแล้วเป็นเดือน โดยจะเอาพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาให้สะอาด ถ้าทำได้จะขยายผลไปทั่วพื้นที่กทม. อีกทั้งตรงนี้เป็นคลองที่ระยะทางมันสั้นแค่ 3 กิโลเมตร เป็นจุดที่เราดูแลได้เต็มที่ ไม่มีการสัญจรทางน้ำ ทำให้การควบคุมดูแลทำได้ง่ายขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

ด้านนายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูคลองหัวลำโพง 3 เฟส เฟสแรก (ระยะ 6 เดือน) สร้างผังข้อมูลน้ำและโมเดลนำร่อง เฟสที่ 2 (ระยะ 10 เดือน) เริ่มโมเดลนำร่องในจุดที่น้ำมีคุณภาพแย่ ส่วนเฟสที่ 3 ปรับภูมิทัศน์บ้านเรือน และสำรวจความเข้มข้นของน้ำ

ขณะที่ ดร.ไชโย จุ้ยศิริ ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำจืด กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า คลองหัวลำโพงวัดค่า FCB หรือค่าความสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากสิ่งปฏิกูลได้หลักแสน หลักล้าน จากค่าเฉลี่ย 4,000 ส่วนค่าบีโอดี BOD (Biological Oxygen Demand ) หรือการหาปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียใช้ในการหายใจ วัดได้หลักร้อย ซึ่งทั้งสองค่านี้สูงกว่าเกณฑ์ปกติมากเกินกว่าจะนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้