วันที่ 20 ก.ย.65 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ว่า ...
โควิด 19 ความรุนแรงของโรคลดลง
นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคในประเทศจีน ในตอนแรกความรุนแรงของโรค โอกาสที่จะลงปอดและมีปอดบวมเป็นจำนวนมาก และทำให้สูญเสียชีวิต 3 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาก็เห็นได้ชัดเจนบ้างในการระบาดแต่ละละรอก (wave) ความรุนแรงของโรคมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด
ข้อมูลของศูนย์ควบคุมป้องกันโรค สหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่ออกมา จะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตขอ covid 19 ในผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล ในช่วงของเดลต้า ร้อยละ 15.1 อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมาก ในช่วง โอมิครอน เหลือร้อยละ 4.9 ในจำนวนผู้ที่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล
เช่นเดียวกับในประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ในปีแรก ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์หรือกว่าเล็กน้อย หลังจากนั้นก็เริ่มลดลง และมาในช่วง โอมิครอน อัตราการการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ น้อยลงมากๆ น่าจะน้อยกว่า 0.1% อย่างที่เห็นทุกวันนี้ จำนวนผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล ก็น้อยกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จำนวนผู้ที่ติดเชื้อมากกว่าที่นอนโรงพยาบาล น่าจะมากกว่าเป็น 10 เท่า
การที่ความรุนแรงลดลง และอัตราการเสียชีวิตน้อยลง มีผลมาจาก การได้รับวัคซีนไปเป็นจำนวนมาก การวินิจฉัยและการรักษาแต่เริ่มแรกทำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ประกอบกับการมียารักษาที่ดีขึ้น และมีจำนวนมากที่เคยติดเชื้อมาแล้ว