“ค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ หรือ RDPB Camp ทำให้มีองค์ความรู้ที่สามารถนำมาต่อยอด ในการพัฒนาโครงการของเราได้ คือการนำขยะพลาสติกในชุมชนมาใช้ประโยชน์เป็นส่วนผสมในการผลิตเป็นก้อนอิฐบล็อกคอนกรีต การใช้กระบอกไม้ไผ่ที่ทิ้งแล้วมาเป็นภาชนะเพาะไม้ชายเลน และการสร้างฝาย ซึ่งเกิดจากความรู้ที่ได้ไปศึกษาดูงานที่ จ.นครศรีธรรมราช ทั้งโครงการปากพนังฯ และป่าพรุควนเคร็ง ในการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าในชุมชน เหล่านี้คือแนวคิดที่นำมาต่อยอดพัฒนาโครงการที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้”

ผู้แทนเยาวชนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่เข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดําริ (RDPB Camp) รุ่นที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ประจำปี 2565 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กล่าวระหว่างนำทีมเข้ารับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 การนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าค่ายเยาวชนฯ มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการประกวดผลงานเยาวชนอาสาสานต่อพระราชดำริ ณ สำนักงาน กปร. เมื่อวันก่อน

โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวด ภายใต้ชื่อ จิตอาสาเปลี่ยนแปลงชุมชน โครงการบ้านหนองบัว  พื้นที่สีเขียว เพื่อการเรียนรู้และอนุรักษ์อย่างยั่งยืน (Go Green Sandbox : Ban Nong Bua) มีแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ อาทิ การนำกระบอกไม้ไผ่ที่ลอยมาจากท้องทะเล หรือเหลือใช้ทำเป็นกระถางเพาะชำต้นโกงกาง แล้วนำไปปลูกทั้งกระถางในพื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมเป็นการลดขยะจากการปลูกป่าชายเลน นอกจากนี้มีแนวคิดเรื่องการนำขยะทะเลจำพวกขวดพลาสติกมาทำเป็นส่วนผสมอิฐบล็อก เพื่อทำทางเท้าให้แก่ชุมชนสำเภาคว่ำ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี เป็นการสร้างนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน และการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นในผืนป่าชุมชนบนเขาสำเภาคว่ำอีกด้วย

ทางด้านผู้แทนเยาวชนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสกลนคร ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 เผยว่าได้จัดทำ “โครงการเฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน การเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ของคนกับความพอเพียง”โดยได้ทำกิจกรรมการนำผลผลิตในชุมชนมาแปรรูปเพื่อส่งเสริมอาชีพ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้การปลูกกล้วยและกรุงเขมา (หมาน้อย) ปลูกป่าอาหารแบบเกษตรปลอดภัย และการขยายพันธุ์ แก่สมาชิกชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระซึ่งการพัฒนาอาชีพให้แก่ผู้ปกครองบุคคลออทิสติกนี้ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากที่ต้องอยู่ดูแลลูกออทิสติก

“รู้สึกดีใจ และภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพลังเล็กๆ ในการขับเคลื่อนสังคม และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์การแปรรูปผงกล้วย การแปรรูปเจลลี่หมาน้อย ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้ใช้ตราของค่าย RDPB Camp เป็นโลโก้ผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายได้ และจะต่อยอดสู่รุ่นน้องในปีต่อไป ที่เรียนอยู่คณะทรัพยากรธรรมชาติ สาขาพืชศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารต่อไป และขอขอบคุณ สำนักงาน กปร. ที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเราได้เรียนรู้และนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม” ตัวแทนเยาวชนจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสกลนคร กล่าว

ทั้งนี้สำนักงาน กปร. ได้จัดพิธีประกาศและมอบรางวัลการประกวดผลงานเยาวชนอาสาสานต่อพระราชดำริ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมหนุมาน 1 สำนักงาน กปร. โดยมีนายลลิต ถนอมสิงห์ เลขาธิการ กปร. เป็นประธานในพิธี และกล่าวว่า การจัดโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ (RDPB Camp) รุ่นที่ 12 ประจำปี 2565 นั้น ค่อนข้างมีข้อจำกัดหลายประการเนื่องจากอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ทุกอย่างก็เดินหน้าได้อย่างลุล่วง และขอชื่นชมเยาวชนที่ร่วมโครงการทุกคน ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

“หวังว่าน้องๆ ทั้งหลายที่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยและตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จักได้นำผลที่ได้จากการเข้าค่ายฯ ไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาและขยายผลต่อไปยังรุ่นน้อง ครอบครัวตลอดถึงชุมชน ซึ่งแนวคิดในการสืบสาน แนวพระราชดำริสู่ประชาชนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนได้มีความอยู่ดีกินดี ก่อให้เกิดประโยชน์สุขอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ กปร. กล่าว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดขยายผลพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนนับเป็นทรัพยากรอันสําคัญของประเทศ เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การสานต่อแนวพระราชดำริเป็นไปอย่างยั่งยืน สำนักงาน กปร. จึงได้จัด โครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ (RDPB Camp) รุ่นที่ 12 ขึ้น เพื่อให้เยาวชนระดับอุดมศึกษาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือและแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในรูปแบบของการให้ความรู้แบบผสมผสานการเรียนรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและการลงมือฝึกปฏิบัติจากพื้นที่จริง