แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานคร มีความสำคัญกับประชาชนในหลายมิติ เช่น เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนริมแม่น้ำ เป็นแหล่งเศรษฐกิจของผู้ประกอบการน้อยใหญ่ เป็นแหล่งสร้างงานและสร้างรายได้อีกหลายอาชีพ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นความงามเชิดหน้าชูตาของเมืองหลวงแห่งนี้

“กทม.” พร้อมสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยว “ริมเจ้าพระยา” ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชน ในรูปแบบ “เทศกาลแสงสีริมแม่น้ำเจ้าพระยา” ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับชุมชน สังคม สู่การเชื่อมกับสถานที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการกระตุ้น เดินทางท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2565 กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมหารือกับสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา ในประเด็นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ การพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ด้านคมนาคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มีแผนพิจารณาปรับปรุงบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อต้อนรับการท่องเที่ยว โดยนำแนวคิดทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้เชื่อมต่อชุมชนตลอดจนสถานีรถไฟฟ้าใกล้แม่น้ำ เพื่อให้การสัญจรเข้าถึงริมแม่น้ำสะดวกขึ้น จากเดิมเคยมีแผนทำทางเดินดังกล่าวไว้ที่ความกว้าง 10 เมตร ได้ปรับให้เป็นทางเดินเล็กๆขนาด 2-3 เมตร เพื่อให้คนแต่ละชุมชนสัญจรถึงกันได้ และเป็นเส้นทางให้นักท่องเที่ยวได้เดินเข้าถึงชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจริมแม่น้ำให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากโรคโควิด-19 เบาบางลง

“แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหัวใจของกรุงเทพมหานคร รวมถึงเป็นหัวใจเศรษฐกิจและความงามของเมือง สิ่งที่กำลังพิจารณาขณะนี้คือการทำ “เทศกาลแสงสีริมแม่น้ำเจ้าพระยา” เพื่อคืนชีวิตชีวาให้เส้นเลือดใหญ่ของกรุงเทพมหานครกลับมางดงามสมศักดิ์ศรีเมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งนอกจากทำทางเดินเล็กๆเชื่อมต่อชุมชนและสถานีรถไฟฟ้าแล้ว ยังมีแนวคิดประดับไฟสว่างไสวตามสถานที่สำคัญต่างๆริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองผดุงฯ คลองโอ่งอ่าง คลองบางลำพู รวมถึงสถานที่สำคัญ เพื่อสร้างสถานท่องเที่ยวใหม่ๆ กระจายรายได้สู่ชุมชน”

นอกจากนี้ กทม.ยังมีแนวคิดที่จะทำที่จอดเรือ ซึ่งมีพื้นที่อยู่บริเวณสะพานพระราม 9 ซึ่งมีความกว้างถึง 500 เมตร สามารถเป็นจุดจอดเรื่องท่องเที่ยว เรืออาหาร เรือยอชต์ และสามารถเป็นจุดสันทนาการใหม่ได้อีกแห่งหนึ่ง บริเวณสะพานพระราม 7 สามารถปรับเป็นที่ท่องเที่ยวหรือสวนสาธารณะอีกแห่งได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หัวใจของโครงการ “เทศกาลแสงสีริมแม่น้ำเจ้าพระยา” คือทางเดิน และการเข้าถึงริมแม่น้ำได้ เป็นพื้นฐานของเรื่องทั้งหมด เพราะไม่ว่าแม่น้ำจะสวยด้วยแสงสีขนาดไหน แต่คนเดินเข้าไปชมไม่ได้ก็จบ ดังนั้น กทม.จึงเน้นพิจารณาทางเดินเชื่อมถึงกันเป็นหลัก

“กทม.กับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของคู่กัน หน้าที่กทม.คือเจียระไนแม่น้ำเจ้าพระยาให้สวยงามสมศักดิ์ศรีแม่น้ำของเมืองหลวง และทุกกิจกรรมที่ทำนั้น ไม่ว่าจะเป็นแสงสี แสงไฟ ที่จอดเรือ แหล่งสันทนาการใหม่ ทางเท้าเชื่อมชุมชนกับสถานที่ต่างๆ หรือการเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ดี เราจะต้องไม่ลืมวิเคราะห์ผลกระทบซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้การกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ชุมชน ความปลอดภัย และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องพัฒนาไปพร้อมกัน” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

ด้านนาวาโท ปริญญา รักวาทิน นายกสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา มองว่า เทศกาลแสงสีริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเรื่องที่ทางสมาคมฯสนับสนุนและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่ขอให้กทม.มีแผนประจำปีที่แน่นอน เช่น แต่ละเดือนมีกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อผู้ประกอบการจะได้นำเสนอนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศได้ ซึ่งที่ผ่านมากทม.มีนโยบายเรื่องการฟื้นฟูเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยกิจกรรมและการท่องเที่ยวอยู่แล้ว การกระตุ้นการท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยการสนับสนุนพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นจุดสันทนาการและจุดท่องเที่ยวใหม่ๆ จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาหมุนเวียนดีขึ้น