วันที่ 18 ก.ย.65  ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุข้อความว่า ... 

ช่วงที่ BA.5 กำลังชะลอตัว ไวรัสสายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมก็จะเริ่มเข้ามาแย่งพื้นที่ซึ่งเป็นอะไรที่เราคาดการณ์ได้จากการระบาดของระลอกต่างๆ แต่บริบทเดิมคือ จะมีสายพันธุ์เด่นที่เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิมอย่างชัดเจน เช่น BA.2 มาแทนที่ BA.1 และ BA.5 จะมาแทนที่ BA.2 แต่ถ้าดูภาพของไวรัสที่มีความสามารถในการแทนที่ BA.5 มีอยู่จำนวนหลายสายพันธุ์มาก จากภาพเป็นการวัดความสามารถในการแพร่กระจายเทียบกับ BA.5 เดิม สีที่ไม่ใช่สีเทาแสดงว่าสายพันธุ์นั้นวิ่งไวกว่า BA.5 โดยสียิ่งแดงจะหมายถึงความสามารถเหนือว่า BA.5 ชัดเจน

ในจำนวนไวรัสที่มีศักยภาพในการทดแทน BA.5 เหมือนจะมีอะไรที่เหมือนกันคือ การเปลี่ยนแปลงที่บริเวณ hot spot บนหนามสไปค์ 6 ตำแหน่ง สลับกันไปมา คือ R346, R356, K444, L452, N460 และ F486 ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแบบสุ่ม แต่เป็นสิ่งที่ไวรัสหาช่องทางในการหนีภูมิ และ ติดเชื้อต่อในประชากรได้

ในบรรดาสายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ข้อมูลตอนนี้เหมือนจะชี้ไปที่ BA.275.2 ว่ามีความสามารถในการหนีภูมิสูงที่สุด ข้อมูลจากทีมวิจัยในปักกิ่งได้ทดสอบตัวอย่างของผู้หายป่วยจาก BA.1, BA.2 หรือ BA.5 พบว่า ภูมิของคนเหล่านั้นสร้างแอนติบอดีที่จับ BA.275.2 ได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ และ มีแนวโน้มว่า BA.275.2 อาจจะเป็นสายพันธุ์ไวรัสที่หนีภูมิจากวัคซีนรุ่น 2 ไม่ว่าสูตรที่มี BA.1 หรือ BA.5

ปล. ข้อมูลการหนีภูมิของ BA.275.2 มีรายงานออกมาจากทีมวิจัยในสวีเดนเช่นเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องว่า เป็นสายพันธุ์ที่หนีภูมิได้ดีที่สุด

*** แผนภาพนี้ชัดเจนมากๆว่า สิ่งที่เราเรียกว่าโอมิครอน จริงๆแล้วไม่เหมือนกันเลยในครอบครัวโอมิครอนนี้ การที่บอกว่าป้องกันโอมิครอนได้ควรต้องถามกลับว่า ตัวไหน???

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana