หมายเหตุ : “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ รายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงสถานการณ์บ้านเมือง ในห้วงเดือนกันยายน ทั้งในอดีตที่จะครบรอบ 16 ปีเหตุการณ์ “รัฐประหาร 19 กันยา 2549”  รวมทั้งเดือนนี้ยังมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นต้องติดตามด้วยกันอีกหลายวาระ  เผยแพร่ผ่านช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีสาระที่น่าสนใจดังนี้

- สถานการณ์การเมืองวันนี้ ใกล้เคียงกับคำว่าปรองดองหรือว่ายิ่งไกลออกไปทุกขณะ

การปรองดองเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการบริหารจัดการหรือการปกครองประเทศเป็นเรื่องสำคัญก็ต้องอยู่ในวาระแห่งชาติหรือในยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของชาติ เพราะผู้ปกครองจะต้องมีการจัดระเบียบเรื่องของสังคมให้มีความรักความสามัคคีกัน ถ้าการจัดระเบียบในโลกนี้เป็นไปไม่ได้ สังคมในการอยู่ร่วมกันคงลำบาก ผู้ปกครองน่าจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ที่ผ่านมาทางผู้ปกครองคือรัฐบาลนี้ ได้พูดถึงเรื่องของการกำหนดเป็นเรื่องหลักการในการปฏิรูป เป็นหลักคิดที่ผ่านมาก็ตามว่าเราต้องปรองดอง เพื่อทำให้คนในสังคมไม่แตกแยก อันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าผู้ปกครองต้องทำอยู่แล้ว

ที่ผ่านมารัฐบาลจะทำหรือไม่อย่างไรอันนี้ ผมคงตอบได้ไม่หมดเพราะว่าบางอย่างก็เห็น บางอย่างก็ไม่เห็นเป็นรูปธรรมแต่ที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลาคือสังคมเรามีความคิดต่างกัน ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็แล้วแต่ แต่เกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการของรัฐ ซึ่งจะทำให้เป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก ฉะนั้นการปรองดอง คือที่ทำให้คนมีความคิดไปในทิศทางเดียวกันถึงแม้จะไม่เหมือนกันแต่ก็ต้องทำความเข้าใจโน้มน้าวให้ไปในทิศทางเดียวกัน ถึงจะไปกันได้ เพราะฉะนั้นการปรองดองถึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทางผู้ปกครองจะต้องดำเนินการให้ได้ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองสูงสุด

- วันนี้ถ้าเกิดความเห็นที่ต่างกันมาก ยังมีความจำเป็นที่จะพูดถึงเรื่องของการนิรโทษกรรมให้กับคดีทางการเมืองขึ้นมาหรือไม่

ที่ผ่านมาเราก็เคยพยายามทำกันมาแล้ว  ผมจะขออนุญาตถอยกลับไปเมื่อ 10 กว่าปี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ สมัยที่ท่านอยู่ ท่านได้พยายามทำเรื่องปรองดอง ในทั่วประเทศและเข้าไปในสถาบันการศึกษาต่างๆ ผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะฉะนั้นผู้ปกครองทุกๆรัฐบาล ทุกๆคนจะต้องดำเนินการตรงนี้ต่อ ในส่วนผมเองก็เคยทำในเรื่องปรองดอง  เรามองว่า ถ้าเกิดคนในชาติมีความขัดแย้งกันมีความคิดต่างกันมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลายๆคนก็มีคดีเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ในสากล คิดกันว่าเรื่องของคดีที่เกี่ยวกับการเมืองเป็นคดีที่เกิดจากความคิดต่าง แต่ทุกคนมีความปรารถนาดีกับประเทศชาติ ในความคิดต่างนั้นไม่ได้ทำให้ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมายถือเป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับ รับฟังในเรื่องของความคิดต่างๆเหล่านั้น

อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญรัฐบาลต้องให้ความเข้าใจว่าความคิดต่างในการเมืองถือเป็นเรื่องที่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นเราจะต้องถือว่าไม่ใช่ความผิด ความผิดในด้านการเมืองถือไม่ผิด ด้านกฎหมาย แต่ว่าถ้าเป็นความผิดทางด้านการเมืองและเป็นคดีอาญาก็แตกต่างกันคนละเรื่อง ดังนั้นการที่เราจะนิรโทษกรรม ต่างๆเหล่านี้ ต้องนิรโทษในคดีการเมือง อันนี้เป็นสากลที่เขายอมรับกัน

-มีโอกาสจะได้เห็นในระยะ 5-10 ปีนี้หรือไม่ 

มีจุดสำคัญหลายๆเรื่อง เรื่องแรก ก็คือผู้ปกครองประเทศ จะต้องตั้งหลักก่อนว่า เราจะต้องมาทำเรื่องปรองดอง สองก็คือฝ่ายการเมือง ต้องมีความเข้าใจกันอยู่ในกระบวนการในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ประการที่สามคือผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นองค์กรต่างๆเหล่านี้จะเป็นเครื่องหนุนในการที่จะทำให้การปรองดองนี้มันเกิดขึ้นได้ ผู้ปกครอง ใครเป็นผู้ปกครองก็ต้องมองคนทั้งแผ่นดินก็คือผู้ถูกปกครอง ซึ่งจะต้องเป็นคนของตัวเองไม่ใช่แยกพรรค แยกกลุ่ม แยกพวก อะไรผิดเลย  ไม่อย่างนั้นการปรองดองก็ไม่เกิด

เพราะฉะนั้นตรงนี้ผู้นำประเทศจะต้องมีความเข้าใจให้ชัดเจน ฝ่ายการเมืองจะต้องมีความเข้าใจว่าการที่เราจะเข้ามาบริหารประเทศหรือมาเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลก็ต้องมีความเข้าใจว่ารัฐบาลคิดอย่างนี้ มีข้อดีอย่างไร มีข้อเสียอย่างไร ไม่ใช่ว่าคิดไม่เหมือนและกลายเป็นศัตรู

ฝ่ายรัฐบาลเองก็ต้องทำให้ฝ่ายค้านมีความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นอย่างไร เมื่อเข้าใจกันแล้ว การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นก็คือการทำความเข้าใจไปสู่ระบบเสียงข้างมาก มันก็จะนำพาสิ่งต่างๆเหล่านี้ไป หรือบางทีต้องฟังเสียงข้างน้อย อันนี้มันเป็นหลักการประชาธิปไตย ไปสู่การปรองดองมันเป็นไปได้และก็ยอมรับกันได้

- วันนี้ถือว่าการรัฐประหารยังเป็นยาสามัญประจำประเทศไทย เพื่อใช้เป็นทางออกทางการเมืองอยู่หรือไม่

เราต้องเข้าใจคำว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอันนี้สำคัญ ทุกอย่างถือว่าประชาชนเป็นใหญ่ สิ่งแรกที่เราจะต้องทำวันนี้คือให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น วันนี้มีหลักการอันหนึ่งที่เขาพูดเสมอในประเทศประชาธิปไตยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมน้อยมาก เพราะนักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนไปแล้ว ประชาชนก็เลยไม่ค่อยได้เข้าไปเกี่ยวข้อง นักการเมืองก็เข้ามาบริหารจัดการ ประเทศ บางทีลืมมอง หรือมองข้ามความคิดความเห็นของประชาชนไป

สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นการปกครองที่มันจะทำให้มันไหลลื่น มันจะต้องเป็นความคิดจากข้างล่าง จากข้างล่างขึ้นไปข้างบน สำคัญที่สุดในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่เรามักจะเหมือนเป็นเผด็จการ กลายๆ คือสั่งการจากข้างบนลงมาหมด อันนี้อุปสรรค เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นหลายประเทศที่มีความคิดพวกนี้ประชาชนจะเกิดความเดือดร้อน นักการเมืองก็แสวงประโยชน์กับตัวเอง เมื่อผู้ปกครองที่ปกครองประเทศและประชาชนเกิดความไม่พอใจ อันนี้คือจุดสำคัญสุด

การปฏิวัติรัฐประหารมันทำไม่ได้ ถ้าประชาชนพร้อมกันไม่พอใจ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ถ้ามีการปฏิวัติรัฐประหารโดยผู้ปกครองประเทศใดเวลานั้น มีพฤติกรรม ไปส่อไปสู่ในสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อันนี้ผมคิดว่าประชาชนมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้ หรือทหารอาจจะมีส่วนร่วมกับประชาชนเข้าไปทำรัฐประหารก็เป็นไปได้ เพราะผู้ปกครองยังไม่ดีพอ ผมถือหลักการตรงนี้ ผมไม่ได้หมายถึงว่า ทหารจะต้องปฏิวัติ ถ้าทหารปฏิวัติ แต่ประชาชนไม่เอาด้วย ทหารไปไม่ได้ไปไม่รอด อันนี้เป็นหลักการเลย เราเห็นว่ามันมีตัวอย่างหลายประเทศที่ทำการปฏิวัติ เราเรียกว่า green revolution หรือ flower revolution ที่เกิดในฟิลิปปินส์ถ้าจำไม่ผิด โดยประชาชนร่วมกับทหาร ร่วมกับทุกภาคส่วน เข้ามาปฏิบัติไล่รัฐบาล มันเกิดขึ้นได้ เรียกว่าการปฏิวัติโดยประชาชน

ทั้งนี้ผมยืนยันว่า ไม่สมควรทำยิ่งในเวลานี้ เพราะเรื่องความขัดแย้ง และปัญหาในประเทศมีมาก ทหารไม่ควรทำอะไรที่บุ่มบ่าม และเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

-ปัญหาที่แท้จริงของประชาธิปไตยเมืองไทยคืออะไร และอะไรเป็นระเบิดเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องตระหนัก เร่งแก้ไข ถอดสลักระเบิดในเร็ววัน

ในฐานะที่มีความเข้าใจในเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและหลักรัฐศาสตร์ทางการเมืองค่อนข้างมาก อยากจะเรียนว่า คำว่าประชาธิปไตยมันมีหัวข้อในการปฏิบัติเยอะมาก เป็นเกือบสิบๆหัวข้อ สิ่งที่มันปรากฏชัดมากในระบอบประชาธิปไตยแบบที่เรากำลังต้องการให้เป็น เช่น ความเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำ หลักนิติธรรม นั่นก็คือพวกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และสิทธิเสรีภาพ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เสียงข้างมากเสียงข้างน้อย เราต้องเข้าใจพวกนี้ให้ละเอียด ไม่ใช่ไปฟังเขาพูดว่าความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาค สิ่งต่างๆเหล่านี้มันเป็นไปได้ไหม เราต้องเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของเรา อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก

เพราะฉะนั้นเราไปพูดว่าฝ่ายรัฐบาลต้องการที่ทำให้คนมีความกินดีอยู่ดี แต่อีกบางฝ่ายก็บอกว่ามันไม่เสมอภาค มันเหลื่อมล้ำเห็นไหม คนรวยมีหน่อยเดียว แต่คนจนมันเยอะแยะไปหมด  จะทำอย่างไร ความเสมอภาคมันอยู่ตรงไหน อันนี้มันพูดไปในเชิงทฤษฎีแล้ว ความเสมอภาคกับความเหลื่อมล้ำในระบอบประชาธิปไตยมันวัดยากมาก โดยเฉพาะอย่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม บางทีมันก็พูดถึงเรื่องของทุนนิยม ทุนนิยมก็คือมือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือว่าใครมีกำลังที่มากกว่าก็ได้เปรียบกับคนที่มีกำลังที่น้อยกว่า

สิ่งต่างๆเหล่านี้มันอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่เราจะนำมาใช้อย่างไรที่ทำให้การปกครองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในบ้านเรานี่เอง ที่พบว่ามีหลายอย่างที่ทำให้องค์ประกอบของความเป็นประชาธิปไตยมันเดินไปได้ช้า  สิ่งที่ผมพูดไปเหล่านั้นเป็นเรื่องของหลักการ แต่ที่สำคัญก็คือทั้งมวลทั้งหมดเราต้องมีความเข้าใจแล้ว ถ้าเราสามารถปฏิบัติตามนั้นได้ ไม่ใช่พอเราออกกฎหมายมาแล้วกลายเป็นว่ากฎหมายไม่ถูก ไม่เหมาะ เป็นเผด็จการบ้าง อะไรบ้าง

แต่เราต้องยอมว่า ประชาธิปไตยนั้นหลักนิติธรรม ถือเป็นหัวใจหลัก ซึ่งรัฐเป็นผู้ออกหลักนิติธรรมขึ้นมา หรือออกกฎหมายขึ้นมา แล้วรัฐจะต้องสามารถบังคับใช้กฎหมายนั้นได้ที่ สำคัญประชาชนจะต้องรักษาหลักนิติธรรมนั้น ถ้าเราสามารถเดินตามหลัก ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม ระบอบเผด็จการก็ตาม มีหลักหมด  แต่เป็นหลักที่ทำให้คนคือการจัดระเบียบสังคม เพราะฉะนั้นจะมอง ว่าคนนี้ทำไมต้องบังคับอย่างนั้นอย่างนี้อันนี้ ถือว่าเป็นหลักของการปกครอง หลักของการจัดระเบียบของสังคม

ผมคิดว่าเราคนไทยเอง จะต้องเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ประการที่หนึ่ง ประการที่สอง คนไทยเราต้องมีวินัยมากกว่านี้ รักษากฎ ปฏิบัติตามกฎ และทุกอย่างที่มันเป็นหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็จะไหลตามกันไปหมด เอาความรู้สึกตัวเองไม่ได้ ต้องเอาความรู้สึกส่วนรวม และเอากฎกติกาที่เขาวางไว้มาปฏิบัติตาม สังเกตหรือไม่ว่า เวลาที่นั่งรถไปที่ไหน มีรถส่วนหนึ่ง จำนวนหนึ่ง มักจะวิ่งฝ่าไฟแดง ไฟแดงเขามีไว้ทำไมให้จอด เพื่อให้หยุด เพื่อให้ไฟเขียวไป แต่บางทีกลายเป็นว่าไฟแดงเป็นไฟที่รถวิ่งอออกไปเลย นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความมีวินัย

ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายของผู้มีอำนาจก็อ่อนด้อย ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทุกอย่างเป็นองค์ประกอบหมด ในเรื่องของประชาธิปไตยในบ้านเรา เราต้องเข้าใจถึงแก่นแท้ ของประชาธิปไตย แล้วหันกลับมาศึกษาความเป็นแก่นแท้ของคนไทย  ผมอยากเรียนว่าคนไทยเรามีเอกลักษณ์เยอะมากที่ไม่เหมือนใคร เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญก็ตาม หลักนิติธรรมก็ตาม ต้องสอดคล้องกัน

ผมเรียนหนังสือมา ผมเห็นว่าผมเรียนในเรื่องการเปรียบเทียบการปกครอง ก็จะเห็นว่าวันนี้ เราดูตัวอย่างในประเทศจีน ทำไมถึงเจริญเติบโตเร็วมาก ทำไมปัญหาในประเทศทางด้านตะวันตกซึ่งเป็นประชาธิปไตยกำลังเริ่มแย่ลง พบว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต้นๆ บางที ความเหลื่อมล้ำ บางคนกางเต็นท์นอนอยู่ริมถนนไม่มีที่อยู่ ที่จะกิน มีความยากลำบากยากจน ความเหลื่อมล้ำสูง

สิ่งต่างๆเหล่านี้เราก็ต้องหยิบมาเปรียบเทียบกันว่าทำไมประเทศนี้มีความเจริญเร็ว ทำไมประเทศนี้ถึงจะเริ่มมีอุปสรรคมากขึ้น ต้องหยิบหลักการปกครองต่างๆ มาประยุกต์เข้าด้วยกันเพื่อเอามาเปรียบเทียบกับการปกครองของเราและลักษณะนิสัยคนไทยและเราจะเอาอย่างไรกันดี ผมว่ารัฐธรรมนูญควรมานั่งคิดและเขียนนี้กันใหม่