บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
เป็นมิติใหม่ของพืชพื้นบ้านใต้ดินไปสู่ “สินค้าคุณธรรม” หรือ “สินค้าบาป” (Merit Goods) ที่ระคนในข้อห่วงใยต่อสังคม เพราะยาเสพติดยังคงมีการปราบปรามที่หนักข้ออยู่ ยาบ้ายังมี แถมเสริมด้วยปัญหากัญชาที่ได้ปลดล็อกออกจากยาเสพติดแล้วพร้อมๆ กับกระท่อม แต่กฎหมายกัญชายังไม่มีผลใช้บังคับ เป็นความหวังว่ากระท่อมจะเป็น “พืชเศรษฐกิจ” กัญชา กัญชง และกระท่อม ที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจตามแนวนโยบายของรัฐบาล การปลูกการผลิตต้องมีการควบคุม ต้องได้รับอนุญาต แต่มีข้อฉงนว่า การปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดจะเหมือนกับกัญชาหรือไม่
ย้อนรอยความเป็นมาการปลดล็อกพืชกระท่อมในรอบปีที่ผ่านมา เป็นที่พอใจของสายเขียว ที่ราคาสูง ถึง กก.ละ 450 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้ถึงวันละกว่า 2,000 บาท เป็นปัญหาทางสองแพร่ง ดาบสองคม ระหว่างผลได้กับผลเสียในพืชพื้นบ้านนี้ เพื่อหวังสร้างเศรษฐกิจ เป็นสินค้าบาป (Merit Good) สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน เป็นยาสมุนไพร แม้จะเป็นพืชเสพติด (ยาเสพติด) ที่ต้องควบคุมตามกฎหมายอยู่
ความเป็นมากฎหมายพืชกระท่อม
ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ค้างมาตั้งแต่ปลายปี 2563 และแซงคิว ร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง เพราะได้มีการตรา พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 บังคับใช้เป็นผลสำเร็จตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง ยังต้องรอการพิจารณาตามขั้นตอนอยู่ วาระที่ 3 ในวันที่ 14 กันยายน 2565 ที่มีการโต้แย้งในประเด็นด้านลบกันมากทั้งในภาคประชาชน และในรัฐสภา
มีความพยายามเสนอปลดล็อกพืชกระท่อมมานานแล้ว โดยอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ( 2531-2533) แต่มาสำเร็จในปี 2565
การปลดล็อกพืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ รัฐต้องปล่อยผู้ต้องหา นักโทษกระท่อม 1,038 คน (ข้อมูล 24 สิงหาคม 2564)
การหลอกลวงเกษตรกรของมิจฉาชีพ
กระท่อมสายพันธุ์ก้านแดง สร้างรายได้แก่เกษตรกร ปลูกไม่พอขาย รายได้วันละหลายพันบาท เหตุเป็นสมุนไพรรักษาโรค โดยเฉพาะคนเป็นเบาหวานหันมาซื้อลดน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้มีข่าว การแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เกษตรเข้าไปหลอกลวงเกษตรกรให้ลงทุนพืชกระท่อม และมีผู้หลงเชื่อเสียหายเป็นเงินร่วม 20 ล้าน ตามที่เป็นข่าว
เมื่อ 7 กันยายน 2565 ที่ สน.ร่มเกล้า นายนรากร อักษรรัตน์ ผู้เสียหาย เดินทางมาพร้อมนำหลักฐานเอกสาร เข้าพบ พ.ต.ท.วิชิต เสนานอก รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ร่มเกล้า เพื่อแจ้งความดำเนินคดีหลังถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นฝ่ายส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ้างว่าเป็นทหารของ กอ.รมน. หลอกลงทุนปลูกต้นกระท่อม มีผู้เสียหายหลายราย รวมมูลค่าความเสียหาย ร่วม 20 ล้านบาท เหตุเกิดมาแต่ปลายปี 2564 อ้างว่าตนสามารถขอใบอนุญาตการปลูกต้นกระท่อมและมีการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและประเทศอื่นๆ โดยคิดค่าใบอนุญาตในราคา 8 แสน และส่งออกเมล็ดพันธุ์ใบกระท่อมในราคา กิโลละ 8 หมื่นบาท โดยชักชวนให้ผู้เสียหาย ซื้อพืชกระท่อม ลักษณะเป็นต้นกล้าเพื่อให้รัฐนำไปแจกจ่ายตามโครงการของรัฐบาล ซึ่งเมื่อร่วมลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนจากรัฐบาล มีผู้เสียหายถูกหลอกประมาณ 8-10 คน มีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน ผู้ถูกหลอกจะเป็นเกษตรกรของภาคใต้ รวมมูลค่าร่วม 20 ล้านบาท
ชา-น้ำต้มกระท่อมต้องขออนุญาต “อย.”
เมื่อปลายปี 2564 คณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีคำเตือนใน “ภาวะถุงท่อม” ซึ่งการบริโภคก้านใบกระท่อมในปริมาณมาก ร่างกายย่อยใบและก้านกระท่อมไม่ได้ อาจทำให้เกิดการอุดตันในลำไส้ เพราะใบกระท่อมไม่ต้องขออนุญาต อย. ยกเว้นน้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม ที่เป็นสมุนไพร ที่ต้องขออนุญาต ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบ ต้องผ่านประเมินความปลอดภัยของอาหาร
พืชกระท่อมได้รับการปลดล็อกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา และให้ไปกำกับดูแลภายใต้ (ร่าง) พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. .... โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ
ใบกระท่อม ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ไม่ต้องมายื่นขออนุญาตกับ อย. น้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตผลิตตาม พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 กรณีนำกระท่อมมาปรุงประกอบอาหาร ซึ่ง อย. ต้องจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย (ลำดับที่ 52 กระท่อม) เพื่อให้การใช้ส่วนของพืชกระท่อมและสารสกัด สามารถเป็นส่วนประกอบในอาหารได้ และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อย. จึงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกระท่อมต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยของอาหาร และส่งมอบฉลากให้ อย.ตรวจอนุมัติก่อนนำไปใช้ ตามเงื่อนไขของประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารใหม่ (Novel food)
ทั้งนี้ กระท่อมเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์และสรรพคุณที่หลากหลาย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจก็คือ ร่างกายของคนเราไม่สามารถย่อยก้านและใบกระท่อมได้ การบริโภคก้านใบกระท่อมในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการอุดตันในลำไส้ที่เรียกว่า “ภาวะถุงท่อม” ดังนั้น ขอให้บริโภคด้วยความระมัดระวัง และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีภาวะผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์
การควบคุมผู้ประกอบการค้าใบสด (ข่าว 30 มิถุนายน 2565)
การควบคุมทางยา ยังเป็นสมุนไพร “กระท่อม” หากกินพอดี “มีคุณ” หากกินเกิน “อันตราย” ลิมิตจำกัด 5 ใบ/วัน เป็นข่าวดีที่มาพร้อมกับข่าวความน่ากลัวของยาเสพติด ที่เกิดอาการคลั่งจากการเสพยาเสพติดกระท่อม
การชี้แจงประชาสัมพันธ์ปลดล็อกผลิตภัณฑ์ “กระท่อม” เพื่อหวังเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนยังต้องกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ นอกจากนี้รัฐบาลต้องรับข้อสังเกตของสภาฯ ในแนวทางจัดการพืชกระท่อมด้วย
กรณีผู้ประกอบการหาบเร่ จะมาขออนุญาตขายกัญชา ใบกระท่อม ถ้าเป็นใบกัญชา หรือใบกระท่อม ที่เป็นของสด ไม่ต้องขออนุญาตจาก อย. และ อย.จะรับขึ้นทะเบียนในกรณีที่แปรรูปเป็น อาหาร เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือหากจะขาย กล้าพันธุ์ หรือเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง กระท่อม ต้องขอกรมวิชาการเกษตร เนื่องด้วยเป็นพืชควบคุม
กระทรวงเกษตรฯ ให้ประชาชนสามารถนำเข้าเมล็ดพันธุ์ “กัญชา - กัญชง และกระท่อม” ได้ ปัจจุบัน พ.ร.บ.พืชกระท่อม บังคับใช้แล้ว พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 52 ก วันที่ 26 สิงหาคม 2565 หน้า 1-13 มีสาระสำคัญ ยกเลิกพ้นยาเสพติด และกำหนดมาตรการคุมขายและบริโภค “กระท่อม” มีไว้ครอบครอง ซื้อขายได้ เช่น เกี่ยวกับสถานที่ บุคคลที่ห้ามขายให้ หากฝ่าฝืนมีโทษ ปลูก-ใช้เสรี ควบคุมห้ามเด็กต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ (ห้ามเด็ก คนท้อง) การนำเข้า-ส่งออกต้องขออนุญาต การปลูกขาย นำเข้า-ส่งออกเชิงอุตสาหกรรม ต้องมีใบอนุญาต
พ.ร.บ.พืชกระท่อม บังคับใช้แล้ว เช็กเลย สถานที่-บุคคลห้ามขายให้ ฝ่าฝืนมีโทษ (ที่มาข่าวสด)
เมื่อ 27 สิงหาคม 2565 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ โดยกฎหมายให้นิยามใบกระท่อม หมายความถึง ใบของพืชกระท่อม และให้รวมถึงน้ำต้มใบของพืชกระท่อม และสารสกัดที่ได้จากใบของพืชกระท่อม เพื่อให้การใช้พืชกระท่อมเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจ โดยไม่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย
สาระของกฎหมายครอบคลุม การขออนุญาต การนำเข้าส่งออกใบกระท่อม การพักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคใบกระท่อม และการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด บทกำหนดโทษ จึงขอให้ประชาชนศึกษากฎหมายให้ดี เพื่อการใช้พืชกระท่อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ตัวอย่างบางมาตราใน พ.ร.บ. มีดังนี้ มาตรา 3 การใช้ใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้
รวมถึงการนำเข้า การส่งออก การขาย และการโฆษณา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เว้นแต่กรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด 5 การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคใบกระท่อม และการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด
มาตรา 10 ผู้ใดประสงค์จะนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อมต้องได้รับใบอนุญาต จากผู้อนุญาต ซึ่งหมายถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หรือผู้ซึ่งเลขาธิการป.ป.ส.มอบหมาย
มาตรา 24 ห้ามผู้ใดขายใบกระท่อมหรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร ที่มีใบกระท่อม เป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบแก่บุคคลดังต่อไปนี้ บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร บุคคลอื่นใดตามที่ รมว.ยุติธรรม และรมว.สาธารณสุข ร่วมกันประกาศกำหนด
มาตรา 25 ห้ามผู้ใดขายใบกระท่อมในสถานที่ โดยวิธีการหรือในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก ขายโดยใช้เครื่องขาย ขายในสถานที่โดยวิธีการหรือในลักษณะอื่นใดตามที่ รมว.ยุติธรรม และรมว.สาธารณสุข ร่วมกันประกาศกำหนด
มาตรา 26 ห้ามผู้ใดโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดใบกระท่อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจสาธารณชนให้บริโภคใบกระท่อมที่ปรุงหรือผสมกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา วัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย หรือวัตถุอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27
มาตรา 33 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
มาตรา 34 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนประชาชนในการเพาะปลูก หรือแปรรูปพืชกระท่อม เพื่อใช้ตามวิถีชุมชน และในการพัฒนาให้เป็นพืชที่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาทั้งการเพาะปลูกและแปรรูป หรือการพัฒนาสายพันธุ์ของพืชกระท่อม การผลิต การจัดการ และการตลาดด้วย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจ ผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้พืชกระท่อมในทางการแพทย์ และสร้างรายได้แก่เกษตรกร
ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและขยายกระท่อมพันธุ์ดี แจกจ่ายแก่เกษตรกรหลายแสนต้นไปแล้ว เพื่อให้ปลูกเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านในครัวเรือน และสามารถนำไปพัฒนาอาชีพเป็นพืชทางเลือกในอนาคต
เส้นทางพืชกระท่อมเดิมทางมาควบคู่กับ “กัญชา” ที่กัญชามีกระแสตอบรับต่อต้านจากประชาชน ที่เป็นห่วงเด็กและเยาวชน นักเรียน เพราะ การเปิดเสรี แต่การควบคุมมีข้อจำกัด ปัจจุบันมีการซื้อขายใบกระท่อม กัญชากันมาก ที่เยาวชนสามารถไปซื้อได้ หรือ การผสมในอาหาร หรือ การประกอบอาหารจากกัญชา เช่น บราวนี่กัญชา หากบริโภคมากจะเกิดปัญหาอาการหลอน ซึ่งจะเหมือนกัน “พืชกระท่อม” เช่นกัน การอุดช่องโหว่ใช้เสพติดด้วยระเบียบกฎหมายต้องมีมาตรการที่รัดกุมเหมาะสม นอกจากนี้ ยังต้องคุ้มครองเกษตรกรรากหญ้า ไม่ให้นายทุน หรือต่างชาติมาแสวงกำไรจากพืชเสพติดพื้นบ้านนี้ ความหวังจึงอยู่ที่รัฐบาล ไม่ขายฝัน แต่ทำจริง และเป็นจริง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน