ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

คนบางคนมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก ๆ ถึงขั้นที่เชื่อว่าตัวเองนั้นเนรมิตทุกสิ่งทุกอย่างได้

รังสรรค์มุ่งมั่นที่จะเป็นนักกฎหมายมาตั้งแต่เด็ก ๆ พ่อของเขาปลูกฝังให้เขาซาบซึ้งในตัวของนักกฎหมายหลาย ๆ คน ตั้งแต่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” และนายกรัฐมนตรีอีกหลายคนที่เป็นนักกฎหมาย รวมถึงประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาและนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ที่ก็มีนักกฎหมายได้ขึ้นสู่ตำแหน่งเหล่านี้อีกหลายคนเช่นกัน โดยเน้นย้ำให้รังสรรค์เลื่อมใสว่า อาชีพนักกฎหมายเป็นอาชีพของคนที่เป็นผู้นำ เป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อสังคม และจะให้คนที่มีอาชีพนี้เป็นคนที่ “ยิ่งใหญ่”

พ่อของเขาเสียชีวิตในปีที่เขาเอนทรานซ์สอบเข้าเรียนกฎหมายได้นั่นเอง โดยที่พ่อของเขาได้ “ซื้อติว” ในทุกวิชาที่จะสอบ ในทุก ๆ สถาบันการติวที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เขายังระลึกถึงสิ่งที่พ่อพร่ำสอนอยู่เสมอว่า เขาจะต้องเป็นผู้นำในการสร้างสังคมไทยนี้ให้ได้ พ่ออยากให้เขาเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง แล้วก็เป็นนักการเมืองต่อไป แต่พอเขาได้มาเรียนในมหาวิทยาลัยความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป เขาเชื่อว่าความร่ำรวยสำคัญกว่าการมีชื่อเสียง เพราะความร่ำรวยนั้นสามารถจะซื้ออะไร ๆ ก็ได้ ที่รวมถึง “ชื่อเสียง” นั้นด้วย เขาจึงเลือกเรียนในด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีและมรดก เพราะเขาได้ศึกษาในสังคมไทยนั้นมีปัญหาในเรื่องนี้อยู่มาก สังคมไทยมีตระกูลผู้ดีที่เป็นข้าราชการผู้ใหญ่และพ่อค้ารวย ๆ นั้นอยู่มาก แต่ยังขาดคนดูแลในเรื่องทรัพย์สินและมรดกต่าง ๆ โดยครอบครัวของเขาก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ ที่มีการทะเลาะเบาะแว้งแก่งแย่งกันวุ่นวาย ซึ่งเขาก็คิดไม่ผิด เพราะคดีแรกที่เขาได้ทำหลังจากที่จบปริญญาตรีและสอบได้เป็นเนติบัณฑิตแล้วก็คือคดีมรดกในครอบครัวของเขานั่นเอง และเขาได้ใช้ทรัพย์สินมรดกที่เขาได้ครอบครองมาส่วนหนึ่ง ส่งตัวเขาเองไปเรียนทางด้านกฎหมายภาษีและมรดกที่สหรัฐอเมริกาจนจบปริญญาเอกอีกด้วย จนเมื่อกลับมาแล้วเขาก็เคยคิดที่จะเข้าทำงานในบริษัทกฎหมายใหญ่หรือของต่างประเทศเพื่อรับเงินเดือนแพง ๆ แต่ในระหว่างที่เขาเลือกที่ทำงานในบริษัทเหล่านั้นเขาก็เปลี่ยนใจอีกครั้ง เมื่อพบว่านายกรัฐมนตรีในยุคสมัยที่เขาเติบโตมา 2 คน คือท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ กับท่านอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็เป็นอาจารย์ของบรรดานักกฎหมายคนสำคัญ ๆ ของประเทศไทย เขาเลยเปลี่ยนใจมาเป็นสอบเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขาก็สอบเข้าได้ แต่ความตั้งใจที่จะเป็นคนร่ำรวยให้มากยิ่งขึ้นนั้นก็ยังมีอยู่ โดยเขายังแบ่งเวลาไปเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทกฎหมาย รวมถึงที่รับทำคดีความต่าง ๆ ให้กับบรรดาเศรษฐีและผู้ดีมีเงิน ในทำนองแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐที่ยังใช้เวลานอกราชการไปทำงานคลินิกของตนเองหรือโรงพยาบาลเอกชนนั้น

เพื่อนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแอบนินทาเรื่อง “ความงก” ของรังสรรค์นี้อีกหลายเรื่อง หลังจากที่เขาสอบเข้าเป็นอาจารย์ได้แล้ว เขาก็ยังไม่เข้ามาทำงานตามคำสั่ง เพราะเขารู้กฎหมายมาว่าเขาสามารถมาทำงานช้ากว่าคำสั่งนั้นได้ภายใน 15 วัน แต่ในระหว่างนั้นเขาก็ลากิจ แล้วมาสำรวจห้องทำงานอยู่วันหนึ่ง ต่อมาอีก 2-3 วัน เขาก็ขนโต๊ะเก้าอี้และตู้หนังสือเก่า ๆ อีกใบหนึ่งมาจากบ้าน เอาเข้ามาวางแทนที่เฟอร์นิเจอร์ของที่ทำงาน (ซึ่งในระบบราชการชุดโต๊ะและเฟอร์นิเจอร์ห้องทำงานจะมีลำดับชั้นเหมือนกัน เช่น ถ้าเป็นระดับ ซี 3 ถึงซี 5 จะเป็นแบบหนึ่งและยังอยู่ในห้องรวม ซี 6 ถึงซี 8 เป็นอีกแบบหนึ่งและจะมีพื้นที่ส่วนตัวเป็นกั้นห้องหรือแบ่งบริเวณให้โดดเด่น พอขึ้นผู้บริหารเป็นซี 9 ถึงซี 11 ก็จะมีห้องส่วนตัว รวมถึงห้องประชุมและห้องน้ำส่วนตัวด้วย สำหรับข้าราชการมหาวิทยาลัยในตำแหน่งอาจารย์ ซึ่งจะเริ่มต้นที่พวกที่จบปริญญาโทก็จะได้ตำแหน่งระดับซี 4 และปริญญาเอกก็จะได้ตำแหน่งระดับซี 5 ทุกคนจะมีห้องส่วนตัวและมีเฟอร์นิเจอร์ตามลำดับชั้น แต่ถ้าใครจะเอาเฟอร์นิเจอร์มาจากข้างนอกหรือซื้อมาใหม่ก็ถือว่าสามารถทำได้) แต่ชุดโต๊ะเก้าอี้ที่ทางราชการมีให้เขาก็ไม่ให้เอาออกไป เขาเอาจัดไว้มุมห้องข้างประตูทางเข้า ซึ่งห้องอื่น ๆ จะวางเก้าอี้ให้แขกหรือนักศึกษาที่มาขอเข้าพบได้คุยธุระที่เป็นส่วนตัว แต่ในห้องรังสรรค์ให้เอาออกไป แล้วออกไปรับแขกในห้องรวมหรือมุมรับแขกของคณะที่อยู่ด้านหน้าที่กว้างขวางกว่า มีคนแอบนินทาว่าเขาต้องการอวดว่ามีคนมาพบเขาเป็นใครบ้าง รวมถึงที่เขาหวงความเป็นส่วนตัวมาก ๆ และไม่อยากให้ใครเข้าไปยุ่มย่ามในห้องทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นเขายังขนเครื่องเขียนและของตกแต่งไปจากบ้านอีกส่วนหนึ่ง แต่เขาก็ยังใช้เครื่องเขียนที่เบิกจากหลวง แม้กระทั่งกระดาษชำระที่เขาทราบว่ามีสวัสดิการของที่ทำงานให้ทุกคน ๆ ละ 1 ม้วน เขาก็ยังใช้สิทธินั้นโดยไม่ลืมที่จะเบิกมาใช้ในทุกต้น ๆ เดือน รวมถึงบรรดาเครื่องดื่มในตู้เย็นและชากาแฟที่เป็น “กองกลาง” ของคณะ เขาก็ใช้บริการดื่มกินอย่างเต็มที่ในทุกวันที่มาทำงาน

รังสรรค์เป็นคนที่ “รักษาสิทธิ์” ในทุก ๆ เรื่อง เขารู้ว่าข้าราชการมีสิทธิลาพักผ่อนได้ปีละ 20 วัน ลาป่วยและลากิจได้ไม่จำกัดแต่ต้องมีหลักฐาน เช่น ใบรับรองแพทย์ และถ้าวันลากิจรวมกันเกิน 15 วันก็จะไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน ดังนั้นเขาจึงลางานอยู่เป็นระยะในช่วงที่ไม่มีตารางสอน ส่วนใหญ่จะลาเพียงครึ่งวัน ซึ่งบางคนก็พอรู้ว่าเขาแวบไปทำธุรกิจในบริษัทข้างนอก ซึ่งเขาก็ฉลาดพอที่จะไม่เข้าไปเป็นหุ้นส่วนหรือผู้บริหาร เอาเพียงแค่เป็นที่ปรึกษาและรับจ้างดูแลทรัพย์สินให้กับเศรษฐีบางตระกูล ถ้าเป็นช่วงปิดเทอมเขาก็จะลาพักผ่อนเป็นอาทิตย์ ๆ ซึ่งก็ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน แต่ไป “หากินข้างนอก” อย่างที่ทำอยู่เป็นปกตินั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นในหน่วยงานราชการก็จะมีสวัสดิการให้มากมาย ทั้งของหลวงในส่วนกลาง เช่น การรักษาพยาบาล หรือสิทธิการเบิกจ่ายต่าง ๆ และที่เป็นสวัสดิการของหน่วยงานอย่างที่มหาวิทยาลัยของรังสรรค์ ก็จะมีสวัสดิการปลีกย่อยอีกหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าชุดปกติขาวที่ต้องใส่ในวันพระราชทานปริญญาบัตร ทางมหาวิทยาลัยก็ตัดให้ 4 ปีครั้ง และเมื่อเสร็จจากงานพระราชทานปริญญาบัตรในแต่ละครั้งนั้นแล้วก็ยังมีค่าซักแห้งให้อีกด้วย ทั้งหมดนั้นรังสรรค์ใช้สิทธิอย่างครบถ้วน แม้บางปีเขาจะไม่ได้เข้าร่วมงานพระราชทานปริญญาบัตรก็ตาม (อาจารย์หลายคนจบมาจากมหาวิทยาลัยที่ใช้เสื้อครุยแบบฝรั่งคลุมทับและสามารถใส่ได้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ดังนั้นชุดข้างในอาจจะเป็นชุดสากลหรือชุดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชุดปกติขาวก็ได้ แต่ทุกคนก็มีสิทธิเบิกค่าตัดชุดปกติขาวและค่าซักแห้งในทุกครั้ง)

ในช่วงที่รังสรรค์เป็นอาจารย์มาได้สัก 4-5 ปี ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง คือการยึดอำนาจของทหารที่ชื่อว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ซึ่งอาจารย์ที่สอนกฎหมายให้กับเขาที่ต่อมาหลังการรัฐประหารได้รับการแต่งตั้งให้ไปช่วยงานในทำเนียบรัฐบาล ได้มาขอให้เขาไปช่วยราชการด้านกฎหมาย เขาเองก็เห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ “ไต่เต้า” ทางการเมืองที่เขาใฝ่ฝัน เขาจึงตกลงรับในทันที กระนั้นเขาก็ยังไม่ทิ้งงานสอนที่มหาวิทยาลัย รวมถึงงานที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยุ่งยากนักสำหรับเขา แต่เป็นสิ่งที่เขามีความสุขอย่างมากเสียด้วยซ้ำ เพราะได้ทั้งงาน เงิน และ “กล่อง” อย่างมากมายไปด้วยพร้อม ๆ กัน

บางครั้งความเชื่อมั่นที่ว่าตัวเองสามารถเนรมิตอะไรได้ทุกอย่างนั้นก็มีข้อเสียอยู่มาก ซึ่งรังสรรค์ก็ต้องเจออยู่หลายครั้งในชีวิต