ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

การกระพือข่าวของตะวันตกเรื่องการขาดแคลนอาหารจนนำมาสู่การเจรจาเพื่อให้มีการส่งออกธัญพืชจากยูเครนทางทะเลดำ ก่อให้เกิดมายาคติที่ต่างจากความเป็นจริงอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ในความเป็นจริงทั้งยูเครน และรัสเซียต่างก็เป็นประเทศหลักในการส่งออกข้าวสาลีไปยังแอฟริกา ดังนั้นมันจะเป็นหัวข้อหลักในการเจรจาเพื่อช่วยเหลือประเทศแอฟริกาจากภัยพิบัติ เนื่องจากการขาดแคลนอาหาร

ด้วยเหตุนี้ในการสร้างความเข้าใจถึงต้นเหตุของการขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะแอฟริกา จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงสัดส่วนและโครงสร้างของตลาดอาหารในภูมิภาคต่างๆ

ลูกค้ารายใหญ่ด้านธัญพืชโดยเฉพาะข้าวสาลีของยูเครน และรัสเซียคือแอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง รองลงมาคือเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้

ทว่ายูเครนและรัสเซียมีโครงสร้างตลาดธัญพืชที่แตกต่างกัน โดยสินค้าหลักในกลุ่มธัญพืชนั้น ยูเครนมีสัดส่วนตลาดใหญ่ คือ การส่งออกเมล็ดข้าวโพด ซึ่งยูเครนจัดส่งให้ตลาดในแอฟริกาเหนือส่วนหนึ่ง ที่เหลือส่งยุโรปและจีน ฉะนั้นถ้าเราจะโฟกัสไปที่ยุโรป และเน้นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ยุโรปไม่ใช่ตลาดเป้าหมายหลักของรัสเซีย ซึ่งต่างจากยูเครน

ทว่าการขาดแคลนอาหารจนทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นนั้นมันก่อให้เกิดผลกระทบสูงสุดกับกลุ่มประเทศยากจนในแอฟริกา และสัดส่วนสำคัญในการประกอบอาหารหลักจากแป้ง คือ ข้าวสาลี ไม่ใช่ข้าวโพด เช่น ถ้าเราป่นข้าวสาลีเป็นแป้งมาจัดทำขนมปังเพื่อจำหน่าย ราคาข้าวสาลีจะมีผลกระทบต่อขนมปัง ซึ่งเป็นอาหารหลัก ไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อผู้บริโภคที่ยากจนในแอฟริกาเหนือ

แต่ถ้าผู้บริโภคอยู่ในประเทศที่ร่ำรวย อย่างเช่น สหรัฐฯ หรือยุโรป สัดส่วนของมูลค่าขนมปังต่ออาหารทั้งหมดที่ผู้บริโภคจะบริโภคในแต่ละมื้อนั้นย่อมน้อยกว่าผู้บริโภคในแอฟริกา ที่ยากจนมาก

เพราะชาวยุโรปและอเมริกัน มีองค์ประกอบในการบริโภคอาหารแตกต่างออกไป จึงเป็นผลให้ราคาอาหารหากเกิดปัญหาข้าวสาลีราคาแพงขึ้น จะมีผลกระทบเพียง 10% โดยภาพรวม และยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัว ผลกระทบนี้ก็จะมีน้อยมาก

ดังนั้นการเกิดปัญหาในการขาดแคลนข้าวสาลีอันเนื่องมาจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จึงมีผลกระทบต่อประชาชนในยุโรปน้อยกว่าประชาชนในแอฟริกา

ในทางตรงข้ามการเกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานและทำให้ระดับราคาพุ่งสูงขึ้นนั้นกลับก่อให้เกิดผลกระทบอย่างยิ่งยวดต่อผู้บริโภคในประเทศกำลัวพัฒนาและพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐฯและยุโรป

ทั้งนี้เพราะสินค้าพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการขนส่ง ซึ่งแน่นอนจะมีผลกระทบต่อระดับราคาอาหารทั้งกลุ่ม และสินค้าอื่นๆ จนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ไม่ใช่การขาดแคลนข้าวสาลี

อนึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศจะนิยมบริโภคอาหารที่ผลิตได้เองในประเทศ เช่น คนไทยก็จะรับประทานข้าวเป็นหลัก ตลาดข้าวจึงเป็นตลาดที่ค่อนข้างบาง (THIN MARKET) ที่จำกัดในหมู่ผู้บริโภคข้าว ตลาดข้าวสาลีก็เช่นกัน

แล้วทำไมราคาธัญพืชจึงพุ่งขึ้นสูงอย่างผิดปกติ เป็นคำถามที่จะต้องวิเคราะห์เจาะลึก

พึงทราบว่าก่อนเกิดวิกฤตการณ์ยูเครน จนถึงการที่ท่าเรือของยูเครนถูกบล็อก ราคาธัญพืชได้ขึ้นไปสูงมากแล้ว คือเพิ่มขึ้นประมาณ 150% หรือเท่าครึ่งของราคาปกติ

ครั้นเกิดเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ตลาดก็เกิดปั่นป่วนด้วยความกลัวว่าจะขาดแคลนปัจจัยในการผลิต ทำให้ราคาอาหารยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก รวมทั้งราคาวัตถุดิบอื่นๆ ที่คาดว่าจะต้องนำเข้าจากยูเครน หรือรัสเซีย

ทว่าผลิตภัณฑ์จากรัสเซีย ยังคงมีการส่งออกโดยปกติ จนกระทั่งมีการแซงก์ชั่นจึงเกิดการติดขัดลงบ้าง

อย่างไรก็ตามผลผลิตในสหรัฐฯ และยุโรปเกิดปัญหาจากภูมิอากาศ โดยเฉพาะถ้าพูดเรื่องข้าวสาลีในยุโรป และข้าวโพดในสหรัฐฯ ซึ่งไม่เกี่ยวโดยตรงกับผลผลิตอื่นๆ ประจวบกับเกิดความเสียหายในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ จึงเป็นเหตุให้ราคาอาหารในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก

กล่าวโดยสรุปปัญหาที่แท้จริงของผลกระทบด้านวิกฤติราคาอาหารนั้น อาจมีผลกระทบไม่มากต่อผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว แต่การจัดส่งธัญพืชตามที่ได้มีการเจรจากันระหว่างยูเครน-รัสเซีย เพื่อเปิดช่องทางการขนส่งไปยังกลุ่มประเทศยากจน โดยเฉพาะในแอฟริกาเหนือกลับน้อยมาก

ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ถูกตอกย้ำโดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในการประชุม EASTERN ECONOMIC FORUM (WEF) ที่ประกอบไปด้วยประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (BRICS) และกลุ่มประเทศความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

โดยในวันที่ 7 กันยายน ปูตินได้กล่าวว่าจากข้อตกลงเพื่อเปิดช่องทางการขนส่งธัญพืชจากยูเครนนั้นได้มีการกล่าวอ้างว่า เพื่อจะได้จัดส่งไปยังประเทศที่ยากจนที่กำลังอดอยาก ทว่าในความเป็นจริงมีการขนส่งธัญพืชไปในภูมิภาคเหล่านั้นน้อยมาก

ทั้งนี้ผู้นำรัสเซีย จึงเน้นย้ำว่าจะทำการเจรจากับประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งสาธารณรัฐตุรเกียใหม่เพื่อให้มีการกำหนดทิศทางการขนส่งธัญพืช ไปยังกลุ่มประเทศยากจนเหล่านั้นให้ชัดเจน และในสัดส่วนที่เหมาะสม

เหตุที่ต้องปรึกษากับทางตุรเกีย เพราะตุรเกียเป็นประเทศเป็นกลางที่มีบทบาทในการเจรจาเพื่อเปิดช่องทางขนส่งธัญพืชจากยูเครนในทะเลดำ และต้องผ่านช่องแคบบอสฟอรัสของตุรเกีย

ประธานาธิบดีปูตินยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในข้อตกลงไม่ได้มีการระบุว่าจะมีการจัดส่งธัญพืชให้ประเทศกำลังพัฒนาเป็นจำนวนเท่าไร แต่เน้นว่าข้อตกลงนี้ระบุให้มีการจัดส่งธัญพืชไปยังประเทศกำลังพัฒนาซึ่งยากจน แต่ปรากฏว่ามีการขนส่งเพียง 3% เท่านั้นที่ส่งไปให้ประเทศยากจนเหล่านั้น

ดังนั้นปูตินจึงย้ำว่าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาในการกำกับการขนส่ง แน่นอนประเทศยากจนก็จะยังคงอดอยาก อันเป็นปัญหาด้านมนุษยธรรมที่ตะวันตกมักจะกล่าวอ้างและเรียกร้อง และนี่คือหายนะสำหรับประเทศยากจน

อนึ่งปูติน ยังกล่าวด้วยว่าการขนส่งธัญพืชไปยุโรปแทนการขนส่งไปยังประเทศยากจนที่อดอยาก เป็นการบิดเบือนข้อตกลงที่มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากวิกฤตการณ์อาหารอย่างแท้จริง และรัสเซียก็ได้พยายามที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศยากจนที่อดยากเหล่านั้น

นอกจากนี้การส่งออกธัญพืชของรัสเซียสู่ตลาดโลกก็ยังมีจุดประสงค์ที่จะพยุงฐานะของวิกฤตการณ์อาหารให้ดีขึ้น และจะมีผลทำให้ราคาอาหารถูกลง

ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ ภาวการณ์ขาดแคลนอาหารในแอฟริกาเหนือ จนถึงขั้นผู้คนอดยากล้มตาย เหมือนที่เคยเกิดมาแล้วในบางส่วนของภูมิภาคนี้ ยิ่งมาเกิดสภาพการแซงก์ซัน ซึ่งตะวันตกอ้างว่าไม่เกี่ยวกับอาหาร ทว่าในความเป็นจริงการขนส่งธัญพืชของรัสเซียมีปัญหามาตลอด และนั่นจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการก่อให้เกิดวิกฤตการณ์อาหารโลก นอกเหนือจากการกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อแพร่ระบาดไปทั่วโลก ควบคู่ไปกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐฯ)