เพื่อให้การใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครที่จำกัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า กรุงเทพมหานครจึงประเดิมเวทีแรกติวเข้มราชการกทม.นำร่อง “สู่การจัดทำแผนและงบประมาณฐานศูนย์”ตัวแทนเจ้าหน้าที่เขต 50 เขตและสำนักงานต่างๆ ปักธงลุยใช้ตัวชี้วัดรูปแบบใหม่ OKRs แทนKPIและงบประมาณฐานศูนย์หวังเริ่มใช้ในปีงบ 2568  มุ่งใช้งบประมาณที่จำกัดแต่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามากขึ้นหนุนกรุงเทพเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า  กรุงเทพมหานครจัดการอบรมเรื่อง “การจัดทำแผนและงบประมาณฐานศูนย์” (Zero-based Budgeting) เพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจร่วมกับราชการ และ ตัวแทนเจ้าหน้าที่เขต 50 เขต และ สำนักต่างๆ ซึ่งเป็นครั้งแรก ที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในการปรับเป้าหมายและทิศทางของแผนงบประมาณในการพัฒนากรุงเทพมหานคร ให้สอดรับกับนโยบายของผู้ว่ากทม. ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนพัฒนาเส้นเลือดฝอย ให้กรุงเทพเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนซึ่งจะเป็นฐานไปสู่มหานครแห่งเอเชียคาดว่าจะจัดทำได้ในปีงบประมาณ 2568 

“แนวทางการทำงานของกทม.มียุทธศาสตร์ 7 ข้อที่เป็นแกนหลัก แล้วแตกแกนหลักมาเป็นยุทธศาสตร์ย่อย ซึ่งครั้งนี้ได้มุ่งเน้นเรื่องการทำ OKRs-Objective and key results  หรือ การตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด และ Zero-based budgeting หรือ งบประมาณฐานศูนย์ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งจะเป็นฐานไปสู่มหานครแห่งเอเชีย ซึ่งจากการหารือโรดแมพของกทม.แผนปี 2566 จะเป็นการล้อยุทธศาสตร์ทั้ง 7 ด้านและมีบางโครงการได้ทำ  OKRS ไว้แล้ว ส่วนแผนปี 2567   จะทำ Key results ใหม่ และ ปี 2568 งบประมาณจะต้องถูกเขียนใหม่ด้วยซีโร่เบสทั้งหมด” ดร.เกษรา กล่าว

สำหรับ OKRs จะเป็นตัวชี้วัดรูปแบบใหม่ที่ต่างจากดัชนีชี้วัดความสำเร็จหรือ KPI  (Key Performance Indicato) ที่วัดคนทำงานเพียงแค่กระบวนการที่ได้ทำ แต่ OKRs เป็นแนวคิดการบริหารที่เน้นการตั้งเป้าหมาย และติดตามผล ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งในด้านคุณค่า และสัมฤทธิ์ผลจริง แม้จะไม่ได้ตามเป้าหมายทั้งหมด เช่น กรณี กทม.มีเป้าหมายให้เด็กในกทม.ได้เรียนว่ายน้ำทุกปี สิ่งที่เป็นเป้าหมายหลัก คือเด็กต้องว่ายน้ำได้ และ ไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่หากเป็น KPI กระบวนการ คือ จ้างครูมาสอนเด็กว่ายน้ำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม OKRs จะทำให้สามารถประเมินได้ว่าความต้องการของประชาชนมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เพื่อปรับนโยบายให้สอดรับกับนโยบายและการจัดสรรงบประมาณ

ส่วนแผนการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ ปัจจุบันทีมกำลังร่างยุทธศาสตร์ ในการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ  ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ใช้งบประมาณที่น้อยลง และคุ้มค่าแต่ได้ผลลัพธ์การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น   ซึ่งแตกต่างจากการจัดทำงบประมาณแบบเดิมเพราะ จะทำให้ไม่เกิดการคิดใหม่ทำใหม่ เนื่องจากคิดจากฐานงบฯเดิมแล้วตั้งงบประมาณให้ครอบคลุมหรือมากกว่า  แต่ด้วยสถานการณ์โลกเปลี่ยน การทำแบบเดิมไม่สอดคล้องกับการที่จะพัฒนาของเมืองที่จะให้ไปข้างหน้า

 ดังนั้นการทำงบประมาณฐานศูนย์ คือ การที่เราคิดใหม่ทำใหม่ เปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานโดยการเซตความคิดเป็นซีโร่ โดยพิจารณาจากโครงการยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งบางโครงการอาจไม่สอดคล้องกับแผนการพัฒนาในขณะนี้ ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด เช่น ค่าไฟฟ้าแทนที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี เราอาจจะคิดใหม่นำเทคโนโลยีมาใช้ อาจเกิดงบลงทุนสูงในปีแรก แต่ค่าไฟฟ้าจะลดลงอย่างแน่นอน เป็นต้น

 “ด้วยประสบการณ์ที่ได้ทำงานทั้งใน ระบบราชการ และ องค์กรเอกชน จึงเข้าใจการทำงานทั้งสองระบบเป็นอย่างดี  สิ่งที่แตกต่างทั้งสอง  คือ งานราชการจะมีกรอบระเบียบกฎเกณฑ์มาก ขณะที่เอกชนมีเป้าหมาย  คือ การทำกำไร ดังนั้นหากสิ่งใดไม่มีประโยชน์ต่อการทำกำไรก็สามารถตัดออกได้เลย ” ดร.เกษรา กล่าว

โจทย์ของกทม.ไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่กทม.ต้องการก้าวไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ ดังนั้นตรรกะง่ายๆคือ หากสิ่งที่ทำอยู่วันนี้ไม่ได้เอื้อหรือทำให้กทม.เป็นเมืองที่น่าอยู่ในมิติต่างๆ ก็แสดงว่าเรื่องนั้นไม่ควรจะทำ เนื่องจากเวลาคือสิ่งที่มีค่าที่สุด และการเดินหน้าที่จะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกชน ราชการ หรือ กทม. ต่างก็ต้องมีกรอบที่เป็นหลักกว้างๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้