จากการคาดการณ์ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ ได้ระบุว่า ภายในไตรมาส 3 ของปี 2565 จะมีนักเดินทางไมซ์จากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามากว่า 6.13 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้รวมกว่า 28,400 ล้านบาทให้กับประเทศไทย บวกกับข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตที่พบว่า ตั้งแต่การเกิดสถานการณ์โรคระบาด หนึ่งในเทรนด์พฤติกรรมกับชีวิตวิถีใหม่ของผู้คนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงกลุ่มนักธุรกิจ ที่หันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น จากทิศทางดังกล่าวนี้ ทำให้อุตสาหกรรมโรงแรมเริ่มปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว ล่าสุด โรงแรมอวานี สุขุมวิท ปรับยุทธศาสตร์เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันทางธุรกิจไมซ์ โดยชูจุดแข็งในส่วนของพื้นที่จัดงานและห้องประชุมให้ตอบรับความสนใจที่เปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โรคระบาด
เพิ่มคุณค่าและสร้างประโยชน์สูงสุด
โดย นางสาวชิดชนก พศินพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมอวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ กล่าวว่า อวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ เป็นโรงแรมขนาด 382 ห้องพัก พร้อมห้องประชุมสัมมนาและจัดเลี้ยง พื้นที่รวม 1,076 ตารางเมตร ได้ปรับยุทธศาสตร์เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันทางธุรกิจไมซ์ เพิ่มคุณค่าและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับการประชุมสัมมนาผ่านกิจกรรมเสริมหลัก ๆ 3 ส่วน ได้แก่ ความบันเทิง การดูแลสุขภาพ และกิจกรรมที่เหมาะกับความต้องการในแบบ mix and match ภายใต้คอนเซ็ปต์ Meeting & Entertainment ผ่านแพ็กเกจการจัดประชุมที่ผสานระหว่างการประชุมสัมมนากับความบันเทิงและเทรนด์การดูแลสุขภาพ
ซึ่งประกอบด้วย 3 ตัวเลือก ได้แก่ 1.แพ็กเกจ Meet and Play ที่ผสานการประชุมมื้อเที่ยงเพื่อสุขภาพ และความบันเทิงของการรับชมภาพยนตร์ไว้ด้วยกัน 2.แพ็กเกจ Boost It Up Your Way ที่ช่วยสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ผ่านการเติมวิตามินเข้าสู่ร่างกายที่สามารถทำได้ทั้งในขณะประชุม หรือระหว่างพัก และ 3.แพ็กเกจ Mix & Match ที่ให้ผู้จัดประชุมได้เลือกเสริมกิจกรรมระหว่างประชุมได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิง กิจกรรมเพื่อสุขภาพกายหรือกิจกรรมที่เสริมสุขภาพใจในแบบ conscious chill ที่มีให้เลือกมากกว่า 10 ชนิด อาทิ การทำสมาธิกับกิจกรรมเสียงบำบัด sinking bowl กิจกรรม ecstatic dance หรือการเต้นเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเสียงเพลง เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่าบริการภายใต้คอนเซ็ปต์ Meet-ertainment จะช่วยทำให้โรงแรมมีจำนวนนักธุรกิจและผู้ใช้ห้องประชุมและจัดอีเวนต์เพิ่มขึ้นกว่า 90% ภายในสิ้นปีนี้ และน่าจะช่วยทำให้รายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 70% ภายในไตรมาส 1 ปี 2566 เมื่อเทียบกับไตรมาสนี้
หลังจากบรรยากาศการเดินทางผ่อนคลายอย่างชัดเจนทำให้ภาคธุรกิจโรงแรมมีการเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ และทั้งตลาดนักท่องเที่ยวทั่วไป และนักเดินทางเพื่อธุรกิจ รวมถึงงานประชุมสัมมนา ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเกิดความเชื่อมั่นในการกลับมาพลิกฟื้นธุรกิจกันอีกครั้ง พร้อมทั้งปรับยุทธศาสตร์ วางตำแหน่งสินค้ากันใหม่ เพื่อให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหลังโควิด
ได้รับกระแสตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดย นางสาวชิดชนก กล่าวว่า ปัจจุบันโรงแรมได้รับกระแสตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยต่อวันมีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 70-80% ขณะที่อัตราการใช้บริการห้องประชุมและการจัดงานอยู่ที่ 50-60% ซึ่งในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะงานประชุมขนาด 20-40 คนที่เลื่อนการจัดมานาน รวมถึงงานแต่งงาน พอไตรมาส 2 สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย เริ่มมีลูกค้าประชุม และนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาแล้ว เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น
ซึ่งงานดังกล่าว ทำให้มีจำนวนห้องพักที่มาพร้อมกับงานประชุมสัมมนาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาส 3 นี้ โดยมีห้องพักที่มีบุ๊กกิ้งมาพร้อมกับงานประชุมสัมมนาถึง 15-20% ของจำนวนห้องพักทั้งหมด และเชื่อว่าจะดีต่อเนื่องยาวไปถึงปี 2566
ขณะที่ตลาดโดยรวมของธุรกิจโรงแรมเปลี่ยนไปหลาย ๆ ด้าน คือ 1.พฤติกรรมการจองล่วงหน้าสั้นลง จากเดิมเคยจองล่วงหน้า 1-2 เดือนมาเป็นแค่ 1-2 สัปดาห์ ทำให้ต้องปรับรูปแบบการให้บริการมีความยืดหยุ่นที่สูง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 2.เกิดการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากตลาดการท่องเที่ยวและการเดินทางระหว่างประเทศยังกลับมาได้ไม่เท่าเดิม ความคุ้มค่าและบริการที่แตกต่างจึงมีความสำคัญสูงมาก และ 3.คนทำงานเริ่มคุ้นชินกับการทำงานในรูปแบบ work from home หรือ work from anywhere ดังนั้น ผู้จัดงานประชุมสัมมนาต้องเน้นทำให้คนอยากเข้าร่วมและรับคุณค่าจากการจัดสัมมนามากที่สุด
โดยในส่วนของห้องพักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 โดยบางเดือนมีอัตราการเข้าพัก 70-80% สูงกว่าช่วงก่อนโควิด ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4 นี้โรงแรมน่าจะาจะขยับราคาห้องพัก (room rate) ให้สอดรับกับดีมานด์อีกประมาณ 15-20% เมื่อเทียบกับราคาในปัจจุบัน และคาดว่าจะมีอัตราการเข้าพักจะเพิ่มขึ้นเป็น 75-80%