เถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร และเครือจักรภพ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับ เจ้าฟ้าชายชาลส์ มกุฎราชกุมารของอังกฤษ ที่ขึ้นครองราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์ ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2 ที่สวรรคต สู่สวรรคาลัย ไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชบัลลังก์ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมเฉลิมพระนาม ด้วยการทรงเลือกพระบรมอิสริยยศใหม่ว่า “สมเด็จพระเจ้าชาลส์ ที่ 3” แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ของอังกฤษ ส่งผลให้สหราชอาณาจักร และเครือจักรภพ เข้าสู่รัชกาลใหม่ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
    

ทั้งนี้ การขึ้นเถลิงราชรัชกาลใหม่แห่งสหราชอาณาจักรดังกล่าวของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ซึ่งแม้ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ คือ 73 พระชันษา แต่ก็ได้เป็นประกายแสงแห่งความหวังของเหล่าบรรดานักสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลยเหมือนกัน แม้ว่าเมื่อกล่าวถึง “ความนิยมชมชอบ” หรือความเป็น “ป๊อปปูล่า” ในหมู่พสกนิกรแล้ว อาจไม่เทียบเทียม “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2” ผู้เป็นพระราชมารดาที่เพิ่งสวรรคตไป ทว่า เมื่อกล่าวถึงความเป็น “นักสิ่งแวดล้อม (Environmentalist)” แล้ว ก็สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า พระองค์ ประทับยืนอยู่ในระดับแถวหน้า ไม่น้อยหน้าใครเหมือนกัน
    

ด้วยผลงานในพระราชกรณียกิจด้านสิ่งแวดล้อมของพระองค์นั้น โลกได้ประจักษ์มาตั้งแต่สมัยพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่ง “ปรินซ์ ออฟ เวลส์” คือ “มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ” มานานหลายทศวรรษแล้ว และมีพระราชกรณียกิจด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับที่พระองค์ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษมาอย่างยาวนานด้วยเช่นกัน 
     สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ทรงงานปลูกต้นไม้ที่พระราชอุทยานในพระตำหนักบัลมอรัล สกอตแลนด์ ร่วมกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2 พระราชมารดาของพระองค์ (Photo : AFP)

โดยมีพระราชประวัติว่า พระองค์ได้สนพระทัยและเริ่มดำเนินพระราชกรณียกิจด้านสิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่ปี 1968 (พ.ศ. 2511) นับถึงวันนี้ ก็ 54 ปีเข้าไปแล้ว 
    

เรียกว่า พระองค์ดำเนินพระราชกรณียกิจด้านสิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่ก่อนที่ประชาคมโลก จะเกิดกระแสการรณรงค์แก้ไขภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นอยู่นี้ด้วยซ้ำ
    

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโลกเราได้เริ่มพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” หรือ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ตั้งแต่เมื่อช่วงหลายทศวรรษเป็นต้นมา เจ้าฟ้าชายชาลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษในขณะนั้นก็ยิ่งดำเนินพระราชกรณียกิจด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ที่ถูกจัดให้เป็น “วิกฤติ” หนึ่งของโลกเรา
    

ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจด้านสิ่งแวดล้อมของพระองค์ ก็ดำเนินไปควบคู่กับพระราชกรณียกิจด้านการสาธารณกุศลอื่นๆ เช่น “พรินซ์ส ทรัสต์ (Prince's Trust)” ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือเยาวชนผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย และ “พรินซ์ส แชริตีส์ (Prince's Charities)” อันเป็นองค์กรการกุศลที่รวมเครือข่ายองค์กรการกุศลอื่นๆ ของพระองค์หลายองค์กรเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งทำงานสาธารณกุศลต่างๆ เช่น การอนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่น และการส่งเสริมด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เป็นต้น
     สมเด็จพระเจ้าชาลส์ ที่ 3 ครั้งที่ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ทรงปลูกต้นไม้ในระหว่างเสด็จฯ เยือนสวาซีแลนด์ ภูมิภาคแอฟริกา เมื่อปี 1997 (พ.ศ. 2540) (Photo : AFP)

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ตั้งแต่ครั้งที่ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ก็ต้องนับว่า “ปรินซ์ ออฟ เวลส์” พระองค์นี้ ได้รับการกล่าวขวัญในเรื่องการให้ความสำคัญและส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 
    

ถึงขนาดที่เมื่อพระองค์ ก้าวขึ้นครองราชบัลลังก์ในฐานะของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร และเครือจักรภพแล้ว ก็ขนานพระนามของพระองค์อีกพระนามหนึ่งว่า “กษัตริย์เขียว” หรือ “เดอะ กรีน คิง (The Green King)” อันหมายถึงพระมหากษัตริย์  ทรงเอาพระทัยใส่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการทรงงานปลูกต้นไม้ ปลูกป่า เพื่ออนุรักษ์และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมของโลกเราให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
  

 ผลงานพระราชกรณียกิจด้านสิ่งแวดล้อม ที่ถึงขนาดหลายคนยกย่องให้เป็น “เดอะ กรีน คิง” ข้างต้นนั้น ก็ปรากฏต่อสายตาชาวโลกหลายครั้ง 
    

เริ่มจากภาพต้นไม้นานาพรรณ ในพระอุทยาน ภายในพระตำหนักแคลเรนซ์ อันเป็นที่ประทับของพระองค์ย่านเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ และที่พระตำหนักไฮโกรฟ ในเขตกลอสเตอร์ อันเป็นที่ประทับของพระองค์กับพระสนมคามิลลา ซึ่งปรากฏว่า มีบรรดาพรรณไม้ปรากฏอย่างมากมาย ทั้งแปลงต้นไม้ต่างๆ ไม้ผลที่เพาะปลูกในแบบการเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก ที่ไร้สารเคมี ฮอร์โมนเร่งโต และปุ๋ยเคมีต่างๆ รวมถึงไม้ดอกที่มีสีสันสวยงามสารพัด ไม่เว้นแม้กระทั่งพืชประเภทผัก ที่ปลูกในแบบออร์แกนิก ซึ่งสามารถใช้รับประทานได้อย่างไร้กังวลในเรื่องสารเคมี ก็มีให้เห็นในพระตำหนักที่ประทับของพระองค์ข้างต้น 
    

นอกจากนี้ ก็ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ ในพระราชกรณียกิจด้านการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกสหราชอาณาจักร 
    

อย่างไรก็ดี ที่นับว่าสร้างความสั่นสะเทือนเลือนลั่นในวงการด้านการอนุรักษ์ พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ก็เห็นจะเป็นพระดำรัสของพระองค์ ที่เสด็จฯ ร่วมงาน “การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26” หรือ “ค็อป 26” ซึ่งมีขึ้น ณ นครกลาสโกว์ ดินแดนสกอตแลนด์ ในปีที่แล้ว เมื่อพระองค์มีพระดำรัสขอให้ชาวโลกอนุรักษ์ พิทักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อต่อสู้อย่างจริงจังกับวิกฤติภาวะโลกร้อน ให้เหมือนกับการต่อสู้ในสงคราม 
     สมเด็จพระเจ้าชาลส์ ที่ 3 ครั้งที่ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ พร้อมด้วยพระสนมคามิลลา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ ทรงร่วมกันปลูกต้นไม้ ระหว่างเสด็จฯ เยือนประเทศแคนาดา (Photo : AFP)

พร้อมกันนี้ พระองค์ยังมีพระดำรัส เรียกร้องให้ทางการประเทศต่างๆ ร่วมมือกับวงการอุตสาหกรรม เพื่อสร้างแนวทางการแก้ไขวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งวงการอุตสาหกรรมที่ว่า ก็ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติภาวะโลกร้อน 
   สมเด็จพระเจ้าชาลส์ ที่ 3 ครั้งที่ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ทรงร่วมงานรณรงค์ปลูกต้นไม้กับเหล่าเยาวชน (Photo : AFP)

 พระดำรัสของพระองค์เมื่อครั้งกระนั้น ก็เปรียบเสมือนเป็นการปลุกเร้ากระตุ้นเตือนให้ประชาคมโลก ได้ตระหนักถึงพิษภัยของวิกฤติภาวะโลกร้อน และร่วมมือกันต่อสู้อย่างจริงจังอาจหาญ ราวกับเป็นสงครามของมนุษยชาติสงครามหนึ่ง 
   สมเด็จพระเจ้าชาลส์ ที่ 3 ครั้งที่ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ มีพระดำรัสในงาน “การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26” หรือ “ค็อป 26” นครกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เมื่อปีที่แล้ว (Photo : AFP)

 นั่นคือ พระราชกรณีกิจสำคัญของกษัตริย์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์นี้ ซึ่งนับเป็นมิ่งขวัญกำลังใจให้แก่บรรดานักสิ่งแวดล้อมในการพิทักษ์โลกกันต่อไป