วันที่ 15 ก.ย.65 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล  หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" ระบุว่า ...

สถิติโควิดวันนี้ยังเปิดเข้าไปดูไม่ได้ เชื่อว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงชัดเจน

หลายคนบ่นว่า ไม่เห็นมีอะไรดีเมื่ออายุมากขึ้น แต่คิดผิดหรือพูดผิดเปลี่ยนใจใหม่ได้ เดือนก่อนได้เข้าชมอุทยานแห่งชาติป่าละอูโดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมเพราะอายุเกิน 60 ปี สองวันก่อนเจอแพทย์รุ่นพี่ที่ถึงวัยเกษียณก่อน บอกว่าช่วงหลังนี้บ่นอะไรน้อยลงเพราะปล่อยวางเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น

เมื่อวานมีธุระต้องใช้บริการบีทีเอสเพื่อไปสังสรรค์กับเพื่อน ลองแวะไปทำบัตรโดยสารผู้สูงอายุ น้องเจ้าหน้าที่มองหน้าแบบงงๆ คล้ายจะหลอกให้พี่ (ลุง) ดีใจ พอยื่นหลักฐานบัตรประชาชนเขาจึงยอมจำนน และให้บริการแบบรวดเร็วและฉับไวได้มาตรฐาน เสียดายไม่มีระบบการให้คะแนนประเมิน ก่อนจากกันเขาแนะนำว่าบัตรนี้มีอายุการใช้งาน 7 ปี จึงหันไปยิ้มแล้วตอบไปว่า ไม่รู้พี่ (ลุง) กับบัตรใครจะไปก่อนกันในเจ็ดปีข้างหน้านี้ หมายถึงบัตรหายไม่ใช่คนหาย

จากนั้นด้วยความเห่อเพราะขึ้นต้นทางสถานีบางหว้า ไม่มีคนร่วมตู้โดยสารให้อายเขา จึงชักรูปการใช้บัตรครั้งแรกเป็นที่ระลึก ระหว่างทางมีประกาศขอความร่วมมือทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขให้ใส่หน้ากาก คนไทยทุกคนให้ความร่วมมือ แถมคนต่างชาติในเที่ยวนี้ก็ร่วมมือกันดี มีบ้างทั้งไทยและเทศที่ใส่หน้ากากไม่กระชับใบหน้าดีนัก

แต่มีแพทย์รุ่นพี่เคยปรารภ (เห็นไหมไม่ใช่บ่นเพราะสูงวัยแล้ว) ว่าเจอคนต่างชาติมาเป็นกลุ่มไม่ใส่หน้ากากบนบีทีเอสแถมพูดคุยหัวเราะกันเสียงดัง จนเจ้าตัวต้องเปลี่ยนตู้โดยสาร เมื่อถึงจุดหมายจึงได้ร้องเรียนกับบริษัทผู้เดินรถ ได้รับการตอบกลับว่าทำตามที่ทางการแนะนำแล้ว

มีหมอปอดกลับจากไปประชุมทางการแพทย์ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน ในที่ประชุมมีสัญญลักษณ์ขอความร่วมมือให้ใส่หน้ากาก แต่หมอปอดหัวแดงหรือหัวดำเกือบทั้งหมดไม่มีใครทำตาม ยกเว้นหมอปอดที่ไปจากประเทศไทย น่าชื่นชมมาก แต่พอขึ้นรถไฟใต้ดินที่นั่น มีป้ายและเสียงประกาศบังคับให้ใส่หน้ากากพร้อมแจ้งบทลงโทษ และมีตำรวจคอยตรวจเอาจริงในตู้โดยสาร พอเจอคนไม่ใส่ก็จะเตือน พวกที่มีพกมาก็ควักมาใส่ พวกไม่มีมาก็ต้องลงจากรถหากไม่อยากถูกปรับ

บ้านเราฝากท่านผู้ว่ากทม.ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีอำนาจเด็ดขาดที่จะออกเป็นเทศบัญญัติหรือข้อบังคับเหมือนตัวอย่างข้างต้นได้ ไม่ต้องไปรอกระทรวงหมอที่ระยะนี้มัวแต่ไปสนใจเรื่องกัญชา แถมเรื่องนี้จัดการง่ายกว่าเรื่องน้ำท่วมที่เป็นปัญหาโลกแตกซึ่งควรต้องยอมรับข้อจำกัดในสภาพปัจจุบัน

เคยกล่าวถึงการศึกษาที่พบว่า ทางฝั่งประชาชนท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิดที่ผ่านมา มีความไว้เนื้อเชื่อใจและร่วมมือระหว่างปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนกันมากขึ้นในช่วงยอดพีค และลดน้อยลงในช่วงยอดซา แล้วสำหรับทีมเวิร์คของบุคลากรทางการแพทย์ ที่รับงานหนักไม่ว่าจะยอดพีคหรือยอดซา โดยเฉพาะกลุ่มคนด่านหน้าที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิดโดยตรง พวกเขาจะ

ทีมนักวิจัยจากอเมริกา ได้ทำการสำรวจในบุคลากรทางการแพทย์จำนวนราว 50,000 คน จากระบบสุขภาพใหญ่ๆ 3 แห่ง ในช่วงก่อนและหลังการระบาดของโควิดระลอกแรก ครอบคลุม 9 ด้านของวัฒนธรรมองค์กร คือ บรรยากาศทีมเวิร์ค ความปลอดภัยในงาน การมีส่วนร่วมผลักดันงาน การเตรียมความพร้อม การอ่อนล้าด้านจิตใจ บรรยากาศด้านจิตใจโดยรวม การดิ้นรน การฟื้นตัว และ สมดุลชีวิตการงานกับชีวิตส่วนตัว มีผู้เข้าร่วมงานวิจัยทั้งก่อนและหลังโควิดราว 75% ของเป้าหมาย ในภาพรวมพบว่าบรรยากาศทีมเวิร์คลดลงเล็กน้อย จากเดิมที่อยู่ในระดับดี 45.6% เป็น 43.7% แต่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยลดลงในทั้ง 9 ด้าน มีในบางหน่วยงานย่อยที่พอจะรักษาบรรยากาศทีมเวิร์คไม่ให้แย่ลงได้ ด้วยการเปิดกว้างให้แสดงความเห็น พยายามแก้ไขข้อขัดแย้ง และประสานการร่วมมือกันระหว่างสาขาวิชาชีพ https://journals.lww.com/.../Teamwork_Before_and_During...

ในบ้านเราดัวยวัฒนธรรมการทำงานแบบตะวันออก มีความยึดมั่นในองค์กร ให้เกียรติผู้อาวุโส รักกันฉันพี่น้อง และรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ส่วนตัวที่พบมาในช่วงแรกที่เราไม่รู้จักศัตรูโควิดว่าร้ายแรงเพียงใด บรรยากาศทีมเวิร์คของเราก็ไม่ต่างจากของเขา แต่พอเราตั้งหลักได้ มองเห็นความสำคัญของภาระหน้าที่ และตระหนักในศักดิ์ศรีวิชาชีพต่อการเป็นที่พึ่งของประชาชนในวิกฤตสุขภาพ เราค่อยๆ ตีโต้สร้างบรรยากาศทีมเวิร์คดีขึ้นเรื่อยๆ จนบางหน่วยงานอาจดีกว่าก่อนโควิดเสียด้วยซ้ำ แถมยังมีการเชื่อมโยงความร่วมมือข้ามหน่วยงาน ข้ามสายงาน ข้ามไปวิชาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ แถมข้ามไปมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนเสียด้วยซ้ำ แล้วจึงค่อยๆ ลดลงตามสถานการณ์โควิดที่ลดความรุนแรงลงจนมาถึงปัจจุบัน ไม่เชื่อพิสูจน์ได้จากทีมเวิร์คของเราในการกิน ดังรูป

เชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่อยากให้ถึงเวลาพักกันแล้ว แต่อยากให้บรรยากาศดีๆ ในการทำงานร่วมกันคงอยู่ต่อไป ส่วนประชาชนก็ช่วยเราได้ด้วยการร่วมมือควบคุมให้โรคติดต่อนี้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ไม่ลุกลามเร็วและมากเกินไป จนกว่าเขาจะหมดแรงไปเองหรือจนกว่าเราจะมีวัคซีนในอุดมคติ

#เตรียมพร้อมยุคหลังโควิด