ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับก้าวสำคัญของการร่วมมือกันแก้ปัญหาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ซึ่งขณะนี้ "ข้อตกลงปารีส" (Paris Agreement) อันเป็นความตกลงภายใต้กรอบการทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) กำลังจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่ช้า หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภาของสหภาพยุโรป (อียู) ได้มีการประชุมกัน และมีการลงมติรับรองด้วยคะแนนเสียง 610 ต่อ 38 โดยมีผู้งดออกเสียง 31 เสียง ที่จะให้สัตยาบันในข้อตกลงที่ว่านี้ โดยมีนายบัน คี มูน เลขาธิการ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้าร่วมเป็นประจักษ์พยานในการออกเสียงดังกล่าวด้วย "ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเป็นสักขีพยานในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้ และผมตั้งตารอที่จะเห็นข้อตกลงปารีสมีผลบังคับใช้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" เลขาธิการยูเอ็นกล่าว สำหรับข้อตกลงปารีสได้รับการรับรองจากผู้แทน 196 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 ถือเป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความครอบคลุมที่สุดนับตั้งแต่การจัดทำพิธีสารเกียวโตเมื่อปี 2540โดย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจำกัดระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกินระดับ 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม นายมาร์ติน ชูลซ์ ประธานรัฐสภายุโรป ลงนามในข้อตกลงจำกัดภาวะโลกร้อน โดยมีนายฌอง โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (อียู ) ร่วมเป็นสักขีพยาน กระนั้นแม้จะได้รับการรับรอง แต่ข้อตกลงจะไม่มีผลบังคับใช้หากปราศจากการลงนามให้สัตยาบันจากอย่างน้อย 55 ชาติ ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันอย่างน้อยร้อยละ 55 ของปริมาณทั้งโลก ซึ่งจีน และ สหรัฐฯ 2 ชาติที่เป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 1 และ 2 ของโลกได้ร่วมให้สัตยาบันไปแล้ว และล่าสุดก็เป็นอินเดียประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 3ของโลกที่เพิ่งให้สัตยาบันไป ก่อนหน้าที่รัฐสภาอียูจะมีมติครั้งสำคัญ ข้อตกลงปารีสมีประเทศที่ร่วมให้สัตยาบันไปแล้ว 62 ชาติ แต่ก็ไม่เพียงพอเพราะทั้งหมดมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันร้อยละ 52 แต่เมื่อรวมกับ 7 ชาติสมาชิกอียูได้แก่ ออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี มอลตา โปรตุเกส และสโลวาเกีย แล้ว ทั้ง 7 มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันที่ร้อยละ 7 และร้อยละ 12 หากนับรวมสมาชิกทั้งหมด ซึ่ง การให้สัตยาบันของรัฐสภาอียูคราวนี้เป็นการเร่งรัดให้รวดเร็วขึ้นเป็นพิเศษกว่ากระบวนการตามปกติ เพื่อให้ข้อตกลงปารีสผ่านเงื่อนไขที่ยังขาดอยู่ และต่อจากสหภาพยุโรป ก็เป็นแคนาดา ชาติที่ถือครองสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 1.95 ของปริมาณทั้งโลก ที่เพิ่งจะมีมติ 207 -81 สนับสนุนการให้สัตยาบันไปเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้จำนวนชาติภาคีที่ร่วมให้สัตบรรณในข้อตกลงฉบับนี้เพิ่มเป็น 74 ประเทศแล้ว แม้นี่จะเป็นข่าวดีที่ได้เห็นความร่วมมืออย่างจริงจัง แต่ความหวังของการแก้ปัญหาโลกร้อนจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะทุกคนทราบดีว่า นี่เป็นปัญหาร่วมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยรวมของมนุษยชาติ จากข้อมูลของศูนย์ทรัพยากรโลก ได้คาดการณ์สถานะของความมั่นคงในปี ค.ศ. 2050 ไว้ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 500 จากปี 2000 จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นอึก ร้อยละ 50 การบริโภคพลังงานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 300 กิจกรรมภาคการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 300 "ปัญหาที่เราเผชิญหน้าอยู่ในวันนี้ ไม่สามารถที่จะถูกแก้ไขได้ด้วยหนทางเดียวกับที่เราสร้างขึ้นมา" นี่เป็นคำพูดที่อัลเบิร์ต ไอสไตน์ กล่าวไว้ ซึ่งนับว่าสามารถอธิบายได้ดีว่าทำไมวันนี้เราต้องตระหนัก และต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลง กรณีตัวอย่างจากเวียดนาม ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่เปราะบางที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากรายงานที่นำเสนอต่อโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) พบว่า แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมาในเวียดนามสูงเกินระดับของการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ โดย อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 0.05-0.20 องศาเซลเซียส และระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 2 - 4 ซม. ต่อทศวรรษ ที่ผ่านมานช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในตอนท้ายของศตวรรษที่ 21 อุณหภูมิในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นระหว่าง1.1-1.9 ถึง 2.1-3.6องศาเซลเซียส ขณะที่ ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 -5.2 ถึง 1.8 -10.1 และ ระดับน้ำทะเลที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น65 -100 ซม. เมื่อเทียบกับช่วงปี 1980 -1999 ผลจากภาวะโลกร้อนสะท้อนให้เห็นอย่างเด่ดชัดในเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นฝนนอกฤดู ปริมาณฝนตกที่มากขึ้นอย่างมาก ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำท่วมขัง อย่างไม่เคยมีมาก่อนในหลายจังหวัด ผลจากปรากฏการณ์ลานิญาทำให้พื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศประสบภาวะขาดแคลนน้ำ และแห้งแล้ง โดยในปี 2010 -2011 ระดับน้ำลดลงแตะระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ผู้สื่อข่าวจากชาติอาเซียนลงพื้นที่สำรวจผลกระทบจากภาวะโลกร้อนบริเวณอุทยานแห่งชาติซวนทุย จ.นามดินห์ ประเทศเวียดนาม ปริมาณพายุที่ก่อตัวในทะเลจีนใต้มีมากกว่ารปกติ โดยในปี 2013 มีปริมาณพายุสูงที่สุดในรอบ 50 ปี ขณะที่ในฤดูหนาวก็ปรากฎว่ามีช่วงเวลาอากาศหนาวที่ยาวนานที่สุด คือ 38 วัน ในปี 2008 แต่ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นคืออุณหภูมิที่ต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี เพิ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 23 -28 ม.ค. ที่ผ่านมา ทำให้กรุงฮานอย และอีกบางพื้นที่มีหิมะตกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแน่นอน ซึ่งรัฐบาลเวียดนามเองก็ยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ เบื้องต้นจำต้องให้ประชาชนปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อชะลอความรุนแรงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่โดยรอบอุทยานแห่งชาติซวนทุย จ.นามดินห์ ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หรือน้ำกัดเซาะตลิ่ง ที่อุทยานแห่งชาติซวน ทุย ในจังหวัดนามดินห์ ห่างจากกรุงฮานอยไปราว 150 กม. ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บริเวณปากแม้น้ำแดง ที่นี่ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในแรมซาร์ ไซต์ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของพืชในป่าชายเลน สัตว์ต่างๆ ทั้งปลา และนกที่อพยพหนีหนาวลงมาจากทางตอนล่างของจีนเป็นประจำทุกปี ประชากร 4.6 หมื่นคน ในบริเวณดังกล่าว ดำรงชีพด้วยการพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของพื้นที่แห่งนี้ แต่หลายปีที่ผ่านมา เพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น สภาพอากาศที่รุนแรง ได้ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ธรรมชาติ ป่าชายเลนที่เป็นเหมือนเกราะกำบังคลื่นกัดเซาะตลิ่งถูกทำลาย น้ำท่วมบ้านเรือนราษฏรได้รับความเสียหาย ผู้ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำ จับสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ รัฐบาลทต้องรีบเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องการดำรงชีพของประชาชนที่พึ่งพาพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้อันเป็นปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ประกอบอาชีพอื่นทดแทน อาทิ การปลูกเห็ด เลี้ยงผึ้ง ทดแทนการพึ่งพาสัตว์น้ำ ร่องรอยน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ในพื้นที่ จ.นามดินห์ จากพายุถล่ม ฝนตกหนัก อันเนื่องมาจากอากาศแปรปรวนรุนแรง "เราพยายามอย่างหนักมาก ได้ทำทุกอย่างแล้ว แต่เราไม่สามารถต่อต้าน (การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ) ได้ ขณะเดียวกัน ถ้ามีเพียงแค่เราลำพังก็คงไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะปัญหานี้มาจากประเทศผู้ผลิต ประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนเราก็เป็นแค่ผู้รับเคราะห์ ที่จริงคนที่นี่ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นเหตุให้โลกร้อนเลย ดังนั้นเราจึงต้องการการสนับสนุน ทั้งจากองค์กรระดับภูมิภาค และองค์กรระหว่างประเทศ อย่างยูเอ็น รวมทั้ง ความรับผิดชอบจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศใหญ่ที่เป็นผู้เกี่ยวข้องสำคัญกับเรื่องนี้" นายแบค ง็อก เชน รองประธานจ.นามดินห์ กล่าว ชาวบ้านบริเวณปากแม้น้ำแดง ยึดอาชีพจับสัตว์น้ำ แต่เมื่อระบบนิเวศน์ได้รับการกระทบกระเทือนจากภาวะโลกร้อนทำให้ปริมาณ และคุณภาพสัตว์น้ำที่จับได้ลดลง