ย้ำ!! ไม่มีปัญหาหลายฝ่ายต่างสนับสนุนและช่วยกทม.การแก้ปัญหาทั้งกรมชลประทาน ทัพเรือ ในการผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด ทำให้หลายคลองน้ำลดระดับลงต่อ

วันที่ 13 ก.ย.65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบันว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาโชคดีไม่มีฝนเพิ่ม แต่ช่วงเย็นมีฝนประมาณ 100 มิลลิเมตรที่บริเวณเขตราชเทวี แต่น้ำระบายลงเร็ว จากข้อมูลมีพื้นที่น้ำท่วม 18 แห่ง ดังนั้น ระบบระบายน้ำของกทม.ถือว่ายังมีประสิทธิภาพที่ดี โดยเมื่อคืนบริเวณลาดพร้าวปริมาณน้ำลดลง 30 เซนติเมตร คลองเปรมประชากรปริมาณน้ำลดลง 20 เซนติเมตร ถนนหลักส่วนใหญ่แห้งหมดแล้ว แถวบริเวณวงเวียนบางเขนแห้งแล้ว พหลโยธินแห้งทั้งหมด ถนนเทพรักษ์แห้งทั้งหมด ส่วนซอยรามอินทรา 39 ยังมีน้ำท่วมอยู่และกำลังเร่งสูบ ส่วนเคหะฯกม.4 แห้งแล้ว แต่ยังมีบริเวณพื้นที่ด้านนอก บริเวณซอยย่อย ส่วนบริเวณเขตลาดกระบังยังมีปัญหาอยู่ โดยเมื่อวานนี้ได้ลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด เพราะเขตลาดกระบังปัญหาหลักๆคือระบายน้ำได้ยาก ฝั่งตะวันออกของคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตน้ำเต็ม ซึ่งทางกรมชลประทานพยามเร่งดูดออก ส่วนด้านใต้บริเวณสำโรงหนักมากปริมาณฝนอยู่ที่ 70 มิลลิเมตรต่อวินาที ส่วนมากด้านตะวันตกเร่งสูบน้ำเต็มที่เพื่อระบายน้ำเข้าทางคลองพระโขนง โดยมีการนำเรือผลักดันน้ำมาเพิ่มประมาณ 10 ตัว และติดปั๊มน้ำที่กรมชลประทานสนับสนุนมาเพิ่มอีก 3 ตัว

ดังนั้น ระดับน้ำใต้คลองประตูพระโขนงลดลงถึง 1 เมตรถือว่าสูงเพราะปกติลดประมาณ 80 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามกทม.จะสูบน้ำออกจากเขตลาดกระบังให้เร็วที่สุด โดยวันนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนปั๊มน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำมาเพิ่มอีก 6 ตัว พร้อมย้ำทุกหน่วยงานทำงานร่วมมือกันอย่างเต็มที่ มีการแจ้งประสานเจ้าหน้าที่ตลอดเวลาเพราะการตัดสินใจเป็นหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่คอยดูแล ผู้ว่าฯเองไม่สามารถไปสั่งเนื่องจากเป็นเรื่องเทคนิค โดยสถานการณ์น้ำแถวบริเวณสำโรงยังเต็มอยู่และลดลงไม่มาก ไม่สามารถผลักดันน้ำออกได้เพราะน้ำบริเวณดังกล่าวสูงกว่าพื้นที่รอบๆ ทั้งนี้ กทม.พร้อมรับฟังทุกคำแนะนำ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าทรัพยากรของกทม.มีจำกัด ที่ทำได้ตอนนี้คือ เบื้องต้นต้องใช้เรือผลักดันน้ำ โดยจะเน้นที่คลองประเวศบุรีรมย์เพื่อผันน้ำไปลงคลองพระโขนงเป็นหลัก

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากทม.ได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากกรมชลประทานและกองทัพเรือ เพื่อประสานเรือผลักดันน้ำมาเสริม อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับสภาพน้ำด้วยว่าเหมาะสมกับการนำเรือผลักดันน้ำมาใช้หรือไม่ เพราะต้องคำนวณการปล่อยน้ำให้เหมาะสม

"คลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งลาดกระบังลดลงประมาณ 8-10 เซนติเมตรก็ดีขึ้นเมื่อเปิดประตูระบายน้ำ เบื้องต้นคงต้องติดตามตลอดคอยดูปริมาณฝนด้วย ดังนั้นในกรุงเทพชั้นในน้ำแห้งหมดแล้ว ส่วนพื้นที่น่าเป็นห่วงก็มีลาดกระบังตามซอยย่อย ในส่วนของพื้นที่แก้มลิงเป็นไปได้แต่ต้องดูทางเข้าออกให้ดี เพราะแก้มลิงสำคัญคือ ถ้าเป็นแก้มลิงเฉยๆก็อาจจะมีประโยชน์จำกัด โดยจะต้องมีการนำน้ำเข้าออกจากคลองได้ ในช่วงที่ฝนไม่มีก็ต้องพร่องน้ำ ต้องมีระบบที่ดูดน้ำออกมาสู่คลองหลักเพื่อระบายออกไป แก้มลิงมีประโยชน์แต่ต้องดูตำแหน่งด้วยว่า อยู่ใกล้กับคลองที่สามารถระบายน้ำได้ แต่ถ้าแก้มลิงอยู่โดดๆก็จะทำให้บริหารจัดการได้ยาก กทม.น้อมรับทุกคำทุกแนวคิด แต่สิ่งสำคัญต้องทำคลองให้มีประสิทธิภาพดูแลระบบสูบน้ำปลายทางให้เข้มข้นขึ้น เมื่อฝนตกในพื้นที่ใหญ่ปริมาณน้ำหลายล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าจะให้สร้างแก้มลิงต้องดูเรื่องประสิทธิภาพและความคุ้มทุน ทางที่ดีใช้วิธีลอกคลองให้ลึกขึ้นดีกว่า เก็บน้ำได้มากกว่า และใช้งบไม่มาก" นายชัชชาติกล่าว