ปัญหาของเด็กและเยาวชน เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องใส่ใจ และเอาจริงเอาจัง เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเด็ก ที่มองว่าเล็ก แต่มันคือรากของปัญหาสังคมที่สามารถขยายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นจนแก้ไขได้ยาก เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรมเยาวชนอาสาพัฒนาชุมชน ปี 5 ที่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวันเรียนชุมชนเกาะมุสลิม เขตประเวศ ชุมชนเกาะมุสลิม หรือที่ชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่า “ชุมชนกองขยะ” ตั้งอยู่บนพื้นที่ 20 ไร่ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังและร่วมกันออกแบบวิธีการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่

นายมาโนช ทรงศิริ ประธานชุมชนเกาะมุสลิม เล่าถึงความเป็นมาว่า แต่เดิมเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วมีชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามอาศัยอยู่หนาแน่น จึงได้ชื่อว่าชุมชนเกาะมุสลิม ปัจจุบันคนพื้นที่ถิ่นเดิมได้ขายที่อยู่อาศัยอพยพไปอยู่ที่อื่น และตั้งแต่กทม.เริ่มปรับพื้นที่เป็นโรงขยะขนาดใหญ่ใกล้ชุมชน ปัญหาที่ตามมาคือสภาพแวดล้อมเสื่อมเสีย มลพิษทางกลิ่นและอากาศ รวมถึงสุขอานามัย ด้วยสภาพชุมชนและพื้นที่โดยรอบค่อนข้างรก เปลี่ยว ประกอบกับอยู่ติดกับโรงขยะซึ่งลับตาผู้คน ทำให้ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องปัญหายาเสพติดอย่างรุนแรงตลอดมา แต่ปัจจุบันเริ่มเบาบางลงแล้ว

ภายในชุมชนมี “ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ชุมชนเกาะมุสลิม” ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของเด็กๆ ตั้งแต่ 2-6 ขวบ ที่ผู้ปกครองนำมาฝากระหว่างที่ออกไปทำงาน การมีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนภายในชุมชนจึงช่วยเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็กในชุมชนซึ่งมีฐานะทางบ้านไม่สู้ดีนัก หากไม่มีศูนย์ฯแห่งนี้ เด็กหลายคนอาจไม่ได้เข้าเรียน ต้องติดตามพ่อ-แม่ไปหางาน ศูนย์ฯจึงเป็นเสมือนที่ที่คนในชุมชนไว้ใจมากที่สุดว่าบุตรหลานของพวกเขาจะปลอดภัย ดีกว่าทิ้งให้อยู่กับผู้อื่น หรือให้ติดตามไปทำงานภายนอกด้วย

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันนี้ตนตั้งใจมาทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆสภาเด็กและเยาวชนเขตประเวศ เนื่องจากสภาพของศูนย์ดังกล่าวค่อนข้างทรุดโทรม อีกทั้งบริเวณรอบๆยังรกไปด้วยต้นหญ้าสูง จนเกิดปัญหาโจรเข้ามาขโมยของในศูนย์ฯหลายครั้ง จึงดำเนินการตัดหญ้าปรับพื้นที่โดยรอบให้โล่ง แล้วเปิดกิจกรรมให้เยาวชนรวมตัวกันมาช่วยปรับปรุง มีทั้งช่วยกันปลูกต้นไม้ ทำป้ายศูนย์ฯใหม่ ทาสีโดยรอบศูนย์ฯให้สดใสขึ้น เพื่อให้ศูนย์ฯแห่งนี้เป็นสถานที่ปลอดภัยของเด็กๆ ในอนาคตจะเปิดโอกาสให้สภาเด็กและเยาวชนแต่ละเขต ร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่พบ โดยจะมีการประชุมสภาเหมือนผู้ใหญ่ มีการอภิปรายปัญหาต่างๆ จุดประสงค์เพื่อให้เยาวชนเห็นความสำคัญของตัวเอง ในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา และเสนอปัญหาผ่านกิจกรรม BKK เรนเจอร์ต่อไป

“เด็กไม่ใช่อนาคตของชาติอย่างเดียว เด็กคือปัจจุบันของชาติด้วย ทำยังไงให้เขาได้มีโอกาสร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมหาทางออก อย่างศูนย์ฯแห่งนี้ทุกคนทราบดีว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เยาวชนทำคือคิดหาวิธีช่วยกันพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ บรรเทาปัญหาต่างๆ ลง ร่วมมือกัน ส่วนกทม.เพียงเปิดพื้นที่ให้เยาวชนรวมตัวกันเท่านั้น สิ่งต่างๆ เยาวชนช่วยกันหามาเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสี หรือหาคนที่ถนัดวาดภาพมาช่วยวาดฝาผนัง หาคนที่เล่นดนตรีร้องเพลงมาช่วยสร้างบรรยากาศ รวมถึงการติดต่อประสานต่างๆ พวกเขาจัดการทำกันอย่างเต็มที่ และทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว ซึ่งเป็นที่น่าพอใจมากครับ” นายศานนท์ กล่าว

​​​​​​​

ขณะที่ นางตุลยดา จุ่นบุญ หัวหน้าครูพี่เลี้ยงศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ชุมชนเกาะมุสลิม เล่าว่า ตลอดเวลา 21 ปีที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กๆในชุมชนแห่งนี้ ต้องอาศัยการประสานผู้สนับสนุนจากหลายภาคส่วนเพื่อให้ศูนย์ฯดำรงอยู่ได้ เพราะศูนย์ฯไม่มีงบเพื่อจะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไร ได้รับงบเพียงค่าอาหารกลางวันจากภาครัฐจำนวน 20 บาทต่อเด็ก 1 คน แบ่งเป็นค่านมที่รัฐจัดหามาให้จำนวน 11 บาท ที่เหลือค่าอาหารกลางวันจริงๆจำนวน 9 บาท ปัจจุบันศูนย์ฯมีเด็กที่ดูแลทั้งหมด 42 คน มีครูพี่เลี้ยง 3 คน แม่ครัว 1 คน ดังนั้น ทางศูนย์ฯ จึงเจรจากับผู้ปกครองของเด็กว่าจำเป็นต้องเก็บค่าดูแลเด็กคนละ 400 บาทต่อเดือน เพื่อจะนำเงินมาจ่ายค่าอาหาร ค่าบำรุงอุปกรณ์และซ่อมแซมตามความจำเป็น

 

การที่กทม.มีนโยบายที่มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน และมองว่าโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กต่างๆของกทม.สามารถเป็นพื้นที่รวมตัวกันของเด็กและเยาวชนได้ จึงขับเคลื่อนกิจกรรม BKK เรนเจอร์ เปิดพื้นที่ต่างๆ ให้เยาวชนไปทำกิจกรรมที่ตนสนใจได้ตามจุดต่างๆ ที่กทม.จัดขึ้น อย่างวันนี้มีการรวมตัวกันของเยาวชนที่สนใจด้านจิตอาสา ในนาม “สภาเด็กและเยาวชนเขตประเวศ” มาช่วยพัฒนาศูนย์ฯแห่งนี้ โดยมีกิจกรรมทาสี ตกแต่งภายใน ทำความสะอาด และปลูกต้นไม้โดยรอบ ปรับปรุงพื้นที่ให้สะอาดตา เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ