วันที่ 13 ก.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 270,830 คน ตายเพิ่ม 677 คน รวมแล้วติดไป 614,048,342 คน เสียชีวิตรวม 6,517,389 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.5 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 77.84

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 7 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...ประสิทธิภาพของวัคซีนเข็ม 4 ในคนสูงอายุ

Tan CY และคณะ จากประเทศสิงคโปร์ เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับสากล Annals of Internal Medicine วันนี้

พบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป การฉีดกระตุ้นครั้งที่สอง (เข็ม 4) โดย mRNA vaccines นั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรง และลดโอกาสที่ต้องนอนโรงพยาบาลได้ดี

โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันป่วยรุนแรงได้ 80% ณ 60 วันหลังฉีด โดยประสิทธิภาพลดลงเหลือ 60% หลังจากนั้น

ในขณะที่ประสิทธิภาพในการลดโอกาสต้องนอนโรงพยาบาลนั้นอยู่ราว 60%

แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการนั้นค่อนข้างน้อย เพียง 20-30% ในช่วงสองเดือนแรก และลดลงน้อยกว่า 20% หลังจากนั้น

การวิจัยนี้สะท้อนให้เราเห็นว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุนั้นมีประโยชน์

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเสริมด้วยการป้องกันตัวอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ทั้งตัวผู้สูงอายุเอง และผู้ที่ดูแลใกล้ชิด ทั้งเรื่องการสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่างจากคนอื่น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและป่วยได้ดีขึ้น

...ผลกระทบของ COVID-19 ต่อระบบงาน และเศรษฐกิจของประเทศ

ล่าสุด Goda GS และคณะ จาก National Bureau of Economic Research ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและระบบงานจากปัญหา COVID-19

สาระสำคัญพบว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบสองปีครึ่งที่ผ่านมานั้น ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากผลิตภาพแรงงานที่ลดลงไป เป็นมูลค่ากว่า 62,000 ล้านดอลล่าร์ต่อปี

และพบว่ามีแรงงานที่ขาดหายไปจากระบบถึงอย่างน้อย 500,000 คน

ค่าใช้จ่ายที่นายจ้างต้องจ่ายในแต่ละปี เพื่อดูแลลูกจ้างที่ติดเชื้อและป่วยต่อเนื่องจากปัญหาโควิด-19 นั้น สูงราวครึ่งหนึ่งของโรคมะเร็งและเบาหวาน

โดยเฉลี่ยแล้วคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จนต้องลางานหนึ่งสัปดาห์นั้น จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้อยู่ในระบบงานในปีถัดไป ราว 7%

ที่สำคัญคือ แม้หายป่วยจากการติดเชื้อช่วงแรกไปแล้ว ในทุกกลุ่มอายุ ก็จะมีแนวโน้มที่จะต้องลางานด้วยสาเหตุทางด้านสุขภาพในระยะหลังจากนั้น ไม่ว่าจะระยะสั้นใน 1-2 เดือนแรก และในระยะยาว 9-14 เดือนหลังจากการติดเชื้อครั้งแรกก็ตาม สะท้อนถึงปัญหาเรื่อง Long COVID ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของผู้ป่วยเองและการทำงาน สอดคล้องกับหลายการศึกษาทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด คนที่ติดเชื้อแล้วก็ควรหมั่นประเมินสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

1. Tan CY et al. Effectiveness of a Fourth Dose of COVID-19 mRNA Vaccine against Omicron Variant among Elderly People in Singapore. Annals of Internal Medicine. 13 September 2022.

2. Goda GS et al. The Impacts of COVID-19 Illnesses on Workers. NBER Working Paper Series. September 2022.

3. Now we know how many people COVID is keeping out of the workforce—and how much it’s costing employers. Long COVID is only the tip of the iceberg. Fortune. 13 September 2022.