วันที่ 12 ก.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...

698 --> คาดประมาณ 23,267 ขาลงชัดเจน

ระลอกก่อนๆ ไทยเรามักอยู่ในช่วงสงบราว 6-10 สัปดาห์ หวังว่าจะดีไปอย่างต่อเนื่อง

หากปะทุใหม่แบบระลอกก่อนๆ ก็จะเป็นช่วงธันวาคม

ปัจจุบันทั่วโลก ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดรุนแรงวงกว้าง แต่ที่ต้องเฝ้าระวังมากคือ สายพันธุ์ BA.2.75, BA.4.6, และ BJ.1

ขอให้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ระมัดระวัง ป้องกันตัวสม่ำเสมอ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

โดยก่อนหน้านั้น โพสต์ข้อความระบุว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 285,152 คน ตายเพิ่ม 603 คน รวมแล้วติดไป 613,694,480 คน เสียชีวิตรวม 6,516,263 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น รัสเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.79 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 88.72

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...ประเด็นที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายยาต้านไวรัสระดับชาติ

ยาต้านไวรัสนั้นใช้เพื่อหวังผลอะไรกันแน่?

ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ทางคลินิก (Desired clinical endpoints) คือ ลดโอกาสป่วยรุนแรง ลดการเสียชีวิต ลดหรือกำจัดปริมาณไวรัสในร่างกาย

ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้จึงควรเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาสรรพคุณของยาต้านไวรัสมิใช่หรือ?

ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงของไข้ ชีพจร ความดันโลหิต การหายใจ ซึ่งเป็นตัวแปรทางคลินิกที่ไม่ตรงกับผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ที่เราเรียกมันว่า surrogate outcomes

ทั้งนี้ตัวแปรทางอ้อมเช่นนี้ อาจสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์เลยกับผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ก็ได้ โดยอาจมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อตัวแปรทางอ้อมนั้นเช่นกัน

ที่น่าสนใจคือ นโยบายสำหรับคนในสังคมนั้น น่าจะชี้แจงให้กระจ่างว่า สุดท้ายแล้วยานั้นหวังผลอะไรกันแน่ และทางเลือกอื่นๆ ที่ให้ผลดีกว่า เท่ากับ หรือแย่กว่า มีอะไรบ้าง โดยสำแดงให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้ในการพิจารณาทั้งหมด และนำไปสู่การแจ้งให้รับทราบว่า สุดท้ายแล้วเหตุใดจึงใช้ยานั้นๆ

หากเราทำเช่นนี้ได้ ความกระจ่างก็จะเกิดขึ้น ทรัพยากรของชาติก็จะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่า และคนในสังคมก็จะสามารถตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

สุดท้ายแล้ว เชื่อว่าทุกคนหวังใจไว้มิใช่หรือ ที่จะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของคน

ดังนั้น หากคิดว่าเป็นตัวเรา เราจะทำอย่างไร และจะตัดสินใจใช้อะไรบ้าง อย่างไร นั่นคือสิ่งที่น่าจะเป็นคำตอบ