ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายวิชาการ  กล่าวว่า  ช่วงวันที่ 7 – 9 ก.ย. ที่ผ่านมา บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน และประเทศลาวตอนบน ทำให้ร่องมรสุมกำลังแรงเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคอีสานตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 10 – 13 ก.ย. นี้  ร่องมรสุมจะมีกำลังอ่อนลงและจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือและภาคอีสาน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง

 

“ ช่วงนี้ถึงกลางเดือนกันยายนจะมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะแถวแนวปะทะเขา แต่ฝนจะไม่ตกหนักมากเหมือนก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนนี้ ทั้งแรงและเบาสลับกันไป ฝนตกชุกหนาแน่น ตกหนักมาก  ตกสะสม  ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทั้งที่ราบเชิงเขาทางน้ำไหลผ่านและที่ราบลุ่มยังจะต้องระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยฤดูฝนจะสิ้นสุดกลางเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคใต้ ทำให้ใต้มีฝนชุก   กรณีภาคตะวันออกเจอฝนถล่ม น้ำท่วม น้ำป่าทะลักในหลายพื้นที่ทั้ง จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด รองอธิบดีย้ำเหตุที่ฝนตกหนักมากนอกจากร่องมรสุมแรงพาดผ่านแล้ว ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำทะเลจีนใต้แผ่ลงมา ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองตลอด“ ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์​  กล่าว

สถานการณ์ฝนตก น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย ไทยจะเจอพายุอีกหรือไม่  ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้กรมอุตุฯ จับตาการก่อตัวของพายุดีเปรสชั่นที่ปกคลุมมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณทิศตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ตอนนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อ   เส้นทางพายุยังไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าประเทศไทย  แต่ต้องติดตามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง     หากพายุจ่อเข้าทะเลจีนใต้ จะส่งผลกระทบต่อไทย กรมอุตุฯ จะออกประกาศแจ้งเตือนประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือได้ทัน  

  “ จากการพยากรณ์อากาศประเทศไทย ปี 2565 นี้ คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเข้าไทย 2 ลูก ไทยต้องเผชิญกับพายุโซนร้อนเป็นสิ่งเกิดขึ้นกันทุกปี แต่ละปีสร้างความเสียหายให้กับประเทศ “ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์​  กล่าวและว่า

ทั้งนี้ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุวิทยาในช่องทางต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีทันสมัยทำให้การพยากรณ์มีความแม่นยำมากกว่า 80%  ข้อมูลเหล่านี้เพื่อสนับสนุนการทำงานและส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ต่อไป 

ในปี 65 ฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 %  และมากกว่าค่าเฉลี่ยปี 54 ซึ่งเจอลานีญาเหมือนกัน ปีนั้นพายุเข้า 5 ลูก ทั้งเข้าไทยตรงๆ และทางอ้อม มีผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่​ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนส่งผลต่อสภาพอากาศแปรปรวน เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว หรือ Climate Extremes ลมพายุรุนแรง ฝนตกหนักเกินกว่าปกติ