บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
ว่าด้วยเรื่องบ้านๆ ของท้องถิ่น หรือเรื่องนอกสายตาที่คนในไม่ค่อยใส่ใจมีมาก แต่ไม่รู้ว่าจะขึ้นต้นว่าอะไรดี เพราะองคาพยพต่างๆ สูญพลังไปหมด ต้องเท้าความไปที่ภาพรวมสังคมไทย มีปัญหาสะสมคั่งค้างที่ปล่อยไว้นาน ไม่ว่าจะเรื่อง อุปถัมภ์เส้นสาย (Connection, Patronages) รวมไปถึงอำนาจรัฐที่ผูกขาด รวมศูนย์ ที่ล้วนนำไปสู่ปัญหาเรื่องการตรวจสอบที่ขาดประสิทธิภาพ เป็นช่องทางของการทุจริต คอร์รัปชัน เอื้อประโยชน์พวกพ้อง โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบายที่มีมากขึ้น แถมยังฉงนกับคำว่า ระบบอำนาจแฝง อำนาจมืด อำนาจรัฐซ้อนรัฐ (state within a state) รัฐพันลึก (Deep State) เป็นประเด็นวิพากษ์มานานแล้ว แต่ไม่จบรอปัญหาเกิด ในที่นี้ มิได้หมายถึงเพียง การใช้อำนาจของรัฐที่ถูกต้องโดยอำนาจเท่านั้น หากแต่ยังเหมารวมการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง ตรวจสอบไม่ได้ อาจสร้างสถานการณ์เงื่อนไข ทำเอานักวิชาการหลายๆ คนออกแนวงงกับสภาพวิกฤตสังคมที่เกิดขึ้น ผู้รู้ส่วนหนึ่งที่มองในมิติตรงข้ามก็บ่นว่าสังคมไทยตรรกะวิบัติมากขึ้น เพราะโลกไร้ระเบียบมากขึ้น
นักวิเคราะห์เห็นว่า เราจะอยู่ในโลกที่อันตรายมากขึ้น ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และอาจไม่สงบเหมือนที่เราเคยคุ้นชินในอดีต ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกหรือโลกาภิวัตน์จะหายไป กลายเป็นเศรษฐกิจโลกที่ประเทศจะแตกแยกเป็นกลุ่มๆ ค้าขายกันระหว่างประเทศในกลุ่มเป็นหลัก ต้นทุนในการทำธุรกิจจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำจะเป็นเรื่องในอดีต อนาคตคือเศรษฐกิจโลกที่แต่ละประเทศจะต่างคนต่างอยู่และต้นทุนการผลิตหรืออัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น
จากสังคมโลกวกมาสังคมไทย กาฝากสังคม ชั้นยศเจ้ายศเจ้าอย่าง การแสวงเอื้อประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน (ปลิง) ลองมาว่ากันด้วยปรัชญาแนวคิด ที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุปัจจัย เช่น เรื่องยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย อาชญากรรม ปัญหาสังคมต่างๆ ที่ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิถีแนวคิดของคนทั้งสิ้น คำถามคือประเทศเราจะอยู่อย่างไรในโลกที่ไร้ระเบียบ และควรเตรียมรับสถานการณ์อย่างไรดี
มีใครสักคนไหมที่บอกว่าสังคมไทยไม่ “ตรรกะวิบัติ” บ้าง ภายใต้สภาพสังคมที่มีแรงปะทะกันสูงระหว่างกลุ่มอนุรักษ์กับกลุ่มประชาธิปไตยหัวก้าวหน้า ที่เริ่มสรรหาเหตุผล (ตรรกะ) มาอธิบายคำพูดหรือพฤติกรรมที่แสดงออก ที่ช่างขัดแย้งกับบริบท หรือกรอบโลกทัศน์ของคนปกติทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแนวคิดแบบ “สุดโต่ง”
เรากำลังวิตกในการใช้ “เหตุผลวิบัติ” (fallacy) หรือในที่นี้ขอเรียกว่า “ตรรกะวิบัติ” ยังมีอีกหลายๆ คำ ที่สื่อความหมายเดียวกัน อาทิคำว่า เหตุผลลวง, มิจฉาทิฐิ, การอ้างเหตุผลบกพร่อง, การยกเหตุผลผิด, การไม่ดูข้อยกเว้นหรือการใช้ข้ออ้างข้อยกเว้นที่ผิด, ความผิดพลาดเชิงตรรกะ เป็นต้น คำเหล่านี้ใช้แทนกันได้ ที่นัยยะความหมายคือ การพิสูจน์โดยการอ้างเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนเพื่อสนับสนุนในข้อสรุป แต่อาจมีความน่าเชื่อถือในทางจิตวิทยา ส่งผลให้คนจำนวนมากเกิดความเข้าใจผิดและยกเหตุผลอย่างผิด ๆ โดยใช้เป็นเหตุผลที่จะเชื่อในข้อสรุปนั้นๆ ผลสุดท้ายก็จะกลายเป็นว่า “เหตุผลที่ไร้เหตุผล” ไป ที่เป็นปัญหาของคนในโลกปัจจุบันที่มี มีโลกทัศน์ส่วนใหญ่อิสรเสรีไปตามบริบทของโลก หลากหลายความคิด ท่ามกลางความเห็นต่าง ท่ามกลางความขัดแย้งเชิงความคิด การไม่ยอมรับความเห็นต่าง แม้เพียงนิดเดียวย่อมเกิดปัญหา เป็นการแยกพวก หรือมีอคติ (discrimination, bias) มีการเหยียดหยันกัน (bullying) และนำไปสู่ความขัดแย้ง (conflict)ในมิติต่างๆ ได้ง่าย เป็นเรื่องของปรัชญาความคิดที่น้อยคนนักจะได้ฉุกคิดกัน หลายคำอาจกลายเป็นวาทะคำคม (discourse, motto, proverb) ที่จดจำนำมาพูดต่อๆ กัน ไม่ว่าถ้อยคำนั้น อาจแสลงใจของอีกฝ่ายฝั่งตรงข้าม หรือฝ่ายที่มีแนวคิดตรงข้าม เพราะเป็นปรัชญาแนวคิด โลกทัศน์ที่แต่ละคนมีเจตจำนงที่เสรี (will) ดังวาทะของ Che Guevara ว่า “ถ้าคุณตัวสั่นเทาเมื่อเห็นความอยุติธรรม เราเป็นสหายกัน”
ความพอดีไม่มี ขาดหายไป ในสภาพสังคมที่สั่งสมร้อยเรียงกันมาอย่างยาวนาน บริบท (context) หรือเนื้อหาความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันในสภาพแวดล้อมต่างๆ ย่อมแตกต่างกันไป แต่มันมีพัฒนาการ และวิวัฒนาการ (evolution, development, development administration : DA) ซึ่งวิวัฒนาการเหล่านี้ตามหลักการต้องนำไปสู่หนทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะมองในมิติใด แต่มันกลับกันโดยสิ้นเชิงในบริบทของสังคมไทย (Thai Social Context) เช่น มิติเชิงการบริหารยุคทักษิณนำระบบ CEO : Chief Executive Officer ให้อำนาจตัดสินใจสูงสุดแก่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบสูงสุดในองค์กรตามแนวคิดระบบธุรกิจอเมริกัน มายุคอภิสิทธิ์ลดอำนาจลง อาจทำให้ช้าตามขั้นตอน มายุคประยุทธ์ก็รวมอำนาจไว้ เป็นต้น
ยำใหญ่ท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
เป็นเพียงความคิดความเห็นส่วนหนึ่ง แวบหนึ่ง ในฝั่งตรงข้าม ที่มิใช่ว่าท้องถิ่นจะเลวร้ายดั่งที่คิด เพราะท้องถิ่นไทยยังมีเอกลักษณ์ที่ทรงพลังอีกมาก คือ soft power ที่เก็บซ่อนไว้ที่ท้องถิ่นมากมาย รอการเจียระไน ทั้งนี้มุ่งหวังฉายภาพให้เห็นมุมมืด ภาพลบ เพื่อส่องทางแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ในส่วนของท้องถิ่นพบว่ามีหน่วยงานภาครัฐต่างๆ หลากหลายมาเกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ที่สำคัญคือ หน่วยงานเขี้ยวๆ ที่ชาวบ้านเอือม แม้ชาวบ้านอาจไม่รู้สึกว่าเอือมระอา แต่ในความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานท้องถิ่นย่อมทราบดี เพราะบรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่รับศึกในยังไม่พอ ต้องพร้อมรับและสู้ศึกนอกไปด้วยพร้อมๆ กัน
วัฒนธรรมที่กดทับท้องถิ่น มาจากการบริหารรัฐส่วนกลางที่กดราชการส่วนท้องถิ่นไว้แบบแยบยลโดยให้ สตง. มาตรวจสอบอย่างเข้มข้น และจ้องจับผิดระเบียบโดยหวัง ด้อยค่าท้องถิ่นเอาไว้ไม่ให้มีบทบาทและน่าเชื่อถืออะไร (No matter) ทำให้ อปท.ไม่กล้าใช้งบประมาณแบบสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะคนรากหญ้าในพื้นที่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นติดธรรมเนียมนิสัยจากส่วนกลางประเภท “ใช่ครับพี่ดีครับนาย” มีเพิ่มขึ้น ไม่กล้าแม้แต่การโต้แย้งในสิ่งผิดๆ ที่มิใช่วิธีประนีประนอม หากเป็นความสมยอม และยอมรับในสถานะที่เป็นอยู่ (Status quo) เพื่อความอยู่รอดของตนเองไปวันๆ
ข่าวการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.เข้มข้นขึ้น แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหลายคนยังดำรงตนเพื่อความอยู่รอดในสถานะ การบริหารงบประมาณมันช่างยากเย็นเสียนี่กระไร เพราะงบรับรอง งบเอนเตอร์เทนไม่สามารถเบิกจ่ายได้เลย แต่งานต้อนรับขับสู้ฝ่ายอำนาจ ทั้งฝ่ายอำนาจภายใน อปท.เอง หรือฝ่ายอำนาจภายนอก ผู้กำกับดูแล เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำ และฝ่ายการเมืองท้องถิ่นยิ่งนัก อปท.บางแห่งมีสภาพเป็น “ดงกระสือ” ที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยังทำอยู่ ด้วยความเกรงใจ เกรงบารมี หรือถูกสั่ง(ขอ) งานจัดอบรมชาวบ้าน มีเพียงค่ารับรองขนมอาหารว่าง แต่แขกรับเชิญรับรองด้วยสุราอาหารชั้นดี มันช่างสวนทางกับงบประมาณที่เบิกจ่าย แล้วเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะเอางบประมาณส่วนใดมาเบิกจ่ายในส่วนนี้ มันน่าคิด การเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นช่างเหน็ดเหนื่อยกับระบบของท้องถิ่นยิ่งนัก นี่เป็นเหตุผลว่าท้องถิ่นต้อง Disruption มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างทันทีทันใด ต้องลบของเดิมๆ ที่เป็นเหตุแห่งความชะงักงัน ล่าช้า ฉิบหายไปให้หมด ณ บัดนี้ ไม่ต้องรอ หากทำไม่ได้ทั้งหมด ก็ต้องค่อยปรับตัวทำไปเรื่อยๆ จนหมด ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดและภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร และบุคคลกรท้องถิ่นทั้งหมด
ภัยเงียบของท้องถิ่นที่รอประทุ
บุคลากรท้องถิ่นไม่ตระหนักถึงภัยใกล้ตัวที่เกิดอยู่ในทุกวันนี้ ที่อาจเป็นเพียงในบางสถานการณ์ ที่แตกต่างกันไป เพราะบริบทของท้องถิ่นมิใช่เสื้อโหล ท้องถิ่นขนาดใหญ่มีวัฒนธรรมที่ต่างจากท้องถิ่นขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงเปรียบเทียบกันตรงๆ ไม่ได้ ขอยกตัวอย่าง คือ
(1) ด้วยจำนวนฝ่ายประจำที่มีประมาณ 5 แสนคน ภัยจากการทุจริตซื้อขายตำแหน่ง การเข้าสู่ตำแหน่งในช่องทางที่มิใช่ระบบคุณธรรม (merit) มีการเรียกรับ การเสียเงิน จ่ายตังค์ อันถือเป็นการทุจริต เป็นช่องทางในการ “ถอนทุนคืน” ของนักการเมืองท้องถิ่นที่ต้องหมดไป รวมทั้งฝ่ายประจำที่ต้องยุติการกระทำในช่องทางนี้ลง ข่าวการสอบ (สรรหา)ทั้งการสอบแข่งขัน (บรรจุใหม่สายปฏิบัติ) และการสอบคัดเลือก (สายบริหาร) รอบที่ผ่านๆ มา มักมีข่าวคราวมาเป็นระลอก แต่ก็จับไม่ได้สักที เพราะเป็นช่องทางหมากที่วางไว้แบบนี้เป็นธรรมเนียมเคยตัวมานานแล้ว เป็นความสมยอมของผู้กระทำผิด จึงยากในการหาพยานหลักฐาน แต่เสียงเล่าขานกันปากต่อปากในวงในเชื่อว่าเป็นจริง กลุ่มก๊วนซื้อขายตำแหน่งยังมีระบาดเชื่อมโยง ทั้งส่วนภูมิภาคส่วนกลาง เกิดปัญหาไม่รายงานยอดตำแหน่งว่าง เพื่อสร้างการต่อรอง จึงเป็นปัญหาในการดำเนินการของ ป.ป.ช.
(2) ภัยจากการใช้เงินงบประมาณที่ไม่ตอบสนองความจำเป็น และปัญหาที่แท้จริงของ อปท. (ถูกล้วงตับ)
ภัยจาก การใช้จ่าย โรคระบาดซาร์ ไวรัสโควิด 19 ที่เริ่มต้นภาครัฐล้วงกระเป๋า อปท.หลายแห่งไปมาก จนโครงการหลักของ อปท.ชะงักการล้วงลูกทางการบริหาร 4 M นอกจากงบประมาณ คือ ล้วงเอาคน (man) อปท.ไปใช้งานต่างๆ เช่น ช่างโยธา ไปทำงานช่วยส่วนภูมิภาค ในโครงการต่าง เช่น ธนาคารน้ำ, ประชารัฐ เป็นต้น ล้วงเอาเครื่องมือ (matterial) อปท.ไปใช้งานสารพัด ส่วนผู้บริหาร อปท.ที่เข้ามาใหม่ ไม่เข้าใจบริบท ก็ใช้อำนาจกดดันฝ่ายประจำ จนเกิดความระส่ำ เกิดการโอนย้ายหนีของเจ้าหน้าที่ กดดันพนักงานจ้างด้วยการไม่ต่อสัญญาจ้าง ทำให้การบริหารงานไม่ต่อเนื่อง เกิดช่องโหว่เรียกรับเงินค่ารับโอน ค่าต่อสัญญาจ้าง ด้วยข้ออ้างสารพัด พูดง่ายๆ มีการบีบ กดดัน ให้มีการโยกย้าย เพื่อให้เกิดการอยากโอนย้าย เป็นการหมกเม็ด หมกปมให้เกิดประเด็น แทนที่จะบริหารงานด้วยความโปร่งใส เชื่อมั่นและศรัทธา กลับใช้วิการโยกโย้ สร้างภาระเงื่อนไขเยี่ยงนี้ขึ้น การจัดสอบ การจัดอบรม การจัดงานการกุศลวิ่ง จัดกฐิน จัดผ้าป่า ฯลฯ ตามมาเป็นพรวน ล้วนเป็นรายการคุณขอมาทั้งนั้น 4 M ของ อปท.จึงขาดอิสระ ฝ่ายกำกับกำหนดระเบียบ ชี้นำ ล้วงลูก
การล้วงลูก ล้วงตับ (ท้องถิ่น) คืออะไร
ฝ่ายอำนาจถนัดก็คือการล้วงลูก การสร้างระบบ connection สร้างรุ่น สร้างพวก ใช้หมู่พวกสังคมอุปถัมภ์พวกพ้องในการล้วงลูก ทำให้ระบบราชการเสียหายได้ เป็นคำกล่าวหาที่ต้องหาคำตอบ แค่ดูถ้อยคำก็เดาไว้เลยว่าคือ “การแทรกแซง” ในด้านการงบประมาณ (Money ปัจจัยการบริหารตัวสำคัญ) ของฝ่ายอำนาจเหนือ ล้วงทั้งรายจ่าย ล้วงทั้งรายรับ ในที่นี้หมายถึง ฝ่ายผู้กำกับดูแลท้องถิ่นนั่นเอง ซึ่งหลายครั้งการล้วงลูกเป็นเรื่องของ trust ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเชื่อถือศรัทธา ไม่อยากกล่าวหาว่า ใครผู้ใดฝ่ายใดเป็นผู้ล้วงลูกท้องถิ่น หากจะกล่าวในภาพรวมก็มีอยู่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายการเมือง และฝ่ายข้าราชการประจำ โดยเฉพาะผู้กำกับดูแลฯ ซึ่งอาจมีฝ่ายอิทธิพล ฝ่ายการเมืองบ้านใหญ่ระดับชาติในพื้นที่ด้วย อปท.จึงเป็นแหล่งในการผันงบประมาณ ทั้งเพื่อหาส่วนต่าง หากำไร ทำธุรกิจ ดังกล่าว ไปจนถึงการเอื้อประโยชน์ทุจริตทุกรูปแบบ ครั้นมีเรื่องแดง มีปัญหา โดยเฉพาะการทุจริตกลับหาคนผิดไม่ได้ แต่โยนผิดให้แก่คน อปท.รับกรรม ที่ผ่านมาพบว่า บุคลากรฝ่ายประจำของท้องถิ่นจำนวนมาก ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นวินัยร้ายแรง และมีโทษทางอาญา ต้องสูญเสียอนาคต ถูกไล่ออก ปลดออกจากราชการหลายราย เป็นปัญหาวิกฤตซ้ำซากที่ไม่รู้จบของ อปท.
ประเด็นเหตุใดจึงคงปล่อยให้ภาครัฐ และคนส่วนกลางมาครอบงำสั่งการ (ถลุง)การใช้งบเงินของท้องถิ่นได้อย่างง่ายดาย ผลก็คือเกิดหนี้ อปท.บาน ในช่วงภาวะวิกฤตนับแต่ช่วงโควิดมา (ปี 2563) เพียง 2 ปีเศษๆ อปท.ก็แย่แล้ว นโยบายรัฐบาลไม่ตอบสนองท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่คือ “คนรากหญ้า” ราชการเสื่อมลง ภาคราชการผู้ปฏิบัติหวั่นไหว เดินหน้าไม่ออกหรือเดินไม่เป็น บ้างอาจเกิดความท้อไม่เอาด้วย ขอยกตัวอย่างเช่น (1) คลังไม่ยืดเก็บภาษีเป็น 10% ตามนโยบาย แต่เก็บเต็ม 100% หรือเก็บยืดหยุ่นมากขึ้น (2) เพิ่มงบอาหารกลางวันเด็กนักเรียน จากหัวละ 21 บาท เป็น 28 บาท แต่ตามหนังสือแจ้ง มท. ยังยืนแจ้ง 21 บาทเท่าเดิม มันชี้ให้เห็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และบีบบังคับให้ท้องถิ่นต้องปรับตัวในภาวะวิกฤตที่ขาดเงินขาดงบ ขาดคนด้วย แถมด้วยปัญหาต่างๆ ที่ทับถมซ้ำเติมหนักหน่วง ทั้งโควิด ทั้งสาธารณภัย เป็นต้น
สภาพปัจจุบัน อปท.ขนาดเล็กและขนาดกลาง ด้วยงบประมาณท้องถิ่นที่จำกัด ผู้บริหารท้องถิ่นอาศัยงบประมาณจากงบเงินเดือนตั้งไว้ที่เหลือ ในกรอบอัตรากำลังข้าราชการที่ว่าง เพื่อโอนไปใช้จ่ายใน (1) งานก่อสร้าง งานซ่อมแซม (2) การจ้างเหมาบุคคล ที่มาจากหัวคะแนน หรือผู้ทำงานช่วยเหลือทางการเมือง เพราะเพียงลำพังเงินงบของ อปท.หร่อยหรอ เพราะก่อนหมดวาระ ผู้บริหารคนเก่าได้ใช้งบประมาณไปจนเกลี้ยง ใช้จ่ายเงินสะสมไปมาก หรือจนหมดยอดงบเงินสะสมแล้ว เป็นต้น แถมรายได้ท้องถิ่นไม่มีเข้า ฉะนั้น งบประมาณประจำของ อปท.ที่มีจึงไม่สามารถผันแปรไปทำโครงการต่างๆ ได้ หากจะมีบ้างก็คืองบเงินอุดหนุนจากส่วนกลาง ที่เป็นช่องทางในการล้วงลูกหาเงินดังกล่าวได้
การรวมศูนย์ของระบบราชการเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์
คำที่ใหญ่กว่าการล้วงลูกอีกคำ คือ การรวมศูนย์ของระบบราชการ ระบบรวมศูนย์ ทำให้ อปท.ขาดประสิทธิภาพ ไม่เป็นผลดี กับการขับเคลื่อนสังคม ที่ควรพัฒนาไปตามทิศทางของมัน งานใหญ่ๆ ให้เป็นของผู้รับเหมาที่มีหัวคิว มีการเอื้อแสวงประโยชน์ ส่วนงานวิชาชีพของคน อปท.ไม่เด่นชัด และไม่ส่งเสริม เส้นทางสายอาชีพ (career path) จึงแคบตีบตัน ไม่โต
“รัฐราชการรวมศูนย์” เป็นข้อกล่าวหาราชการส่วนกลาง ที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมราชการ และท้องถิ่น ด้วยข้อกฎหมายที่สวนทางกับการกระจายอำนาจ จึงมีข้อเสนอมากว่าสิบปีที่ผ่านมา “จังหวัดจัดการตนเอง” การให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การกระจายอำนาจ และการปฏิรูปการปกครอง (3 ส่วนโดยกลุ่ม We’re all voters, 1 กันยายน 2565) ที่กระเทือนอำนาจรัฐส่วนกลางมาก โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพราะ ท้องถิ่นมีกระแสเรียกร้องหลายประการให้ สถ.ลดอำนาจ ในการควบคุม อปท. เพียงการกำกับดูแล เท่าที่จำเป็น และ เร่งการถ่ายโอนภารกิจ การกระจายอำนาจให้มากขึ้น เพราะกฎหมายท้องถิ่นทุกฉบับให้อำนาจราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากเกิน แถมส่วนกลางยังตีกรอบการปฏิบัติต่างๆให้ท้องถิ่นทำแบบผิดๆ ถูกๆ ที่สวนทางกับการปฏิบัติและข้อเท็จจริงในพื้นที่ ดังปัจจุบันที่กำลังพูดถึงกันมาก ที่กำลังดราม่ากันตอนนี้ คือ เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการใช้แผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0810.3/ว 6086 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2565 เป็นเรื่องวุ่นๆ ของแผนพัฒนาท้องถิ่น ที่ มท.(โดย สถ.) ได้จัดทำไว้เพื่อการซักซ้อมตนเอง (สถ.) มากกว่าการซักซ้อมแก่ท้องถิ่น ประหนึ่ง “วิทยานิพนธ์” ของนักศึกษาที่หนามากกว่า 90 หน้า ที่น่าจะสร้างภาระมากส่งผลกระทบในวงกว้างแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแผนพัฒนาท้องถิ่น กรณีวัสดุที่ไม่มีในแผนจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เจ้าหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง หรือว่าต้องรอหนังสือชี้แจ้งแนวปฏิบัติเพิ่มเติม เป็นต้น
ทำไมท้องถิ่นจึงอาภัพ ลองย้อนนึกภาพตามที่นำเสนอ นี่เพียงความเห็นเล็กๆเพื่อการต่อยอดสร้างสรรค์