สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

ในบรรดาพระเนื้อชินที่มีการขุดค้นพบที่กรุวัดมหาธาตุ จ.พระนครศรี อยุธยา นั้น มีมากมายหลายพิมพ์ ล้วนแต่เป็นพระเนื้อชินเงินทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พระนาคปรก กรุพะงั่ว พระอู่ทองคางเครา พระอู่ทองพิมพ์ต่างๆ พระขุนแผนใบพุทรา พระซุ้มประภามณฑลฯลฯ  และพระปรุหนัง ก็จัดเป็นพระกรุเนื้อชินของอยุธยาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีการขุดพบครั้งแรกที่วัดมหาธาตุ  จ.พระนครศรีอยุธยา พระปรุหนัง มีหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์บัวเบ็ด พิมพ์ก้างปลา พิมพ์ปรุหนังเดี่ยว พิมพ์ปรุหนังลีลา แต่พิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ พิมพ์บัวเบ็ดที่ฐานบัวจะเป็นเส้นปลายโค้งคล้ายตะขอเบ็ด เพราะมีความสวยงดงามมาก ส่วนอีกพิมพ์หนึ่งฐานบัวจะเป็นเพียงขีดเส้นเฉยๆ ก็เรียกกันว่าเป็นพิมพ์บัวก้างปลา ค่านิยมจะเป็นรองพิมพ์บัวเบ็ด

พระปรุหนังเป็นพระศิลปะอู่ทองยุคปลายหรืออยุธยายุคต้น มีการค้นพบอยู่ด้วยกันหลายกรุ เช่น กรุวัดมหาธาตุ กรุวัดราชบูรณะ กรุวัดพุทไธศวรรย์ กรุวัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุวัดปราสาท เป็นต้น และพระทั้งหมดที่พบก็เป็นเนื้อชินเพียงอย่างเดียว

การที่ตั้งชื่อพระปรุหนังนั้นก็เป็นเพราะว่าองค์พระมีลักษณะเป็นพระเนื้อชินเวลาที่มีการหล่อและเทองค์พระจะมีลักษณะที่บางมาก และองค์พระจะโปร่งเป็นลายฉลุตามลวดลายเป็นเอกลักษณ์มีความสวยงาม จะมองเห็นส่วนประกอบของซุ้ม และมีพระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร ยืนอยู่ด้านข้างทั้งสองด้าน ระหว่างลวดลายต่างๆ จะทะลุโปร่งสวยงาม คล้ายการฉลุลายของหนัง จนดูคล้ายแผ่นหนังตะลุง หรือคล้ายกับแผ่นหนังใหญ่  ก็เลยเรียกกันว่า พระปรุหนัง พระปรุหนังแม้ว่าจะเป็นพระที่มีการเทบางมาก แต่ก็ปรากฏรายละเอียดขององค์พระชัดเจนไม่ว่าจะเป็นพระพักตร์ เส้นจีวร เส้นซุ้ม ฐานบัว คมชัดเจนทุกสัดส่วน นับว่าเป็นพระที่มีศิลปะสวยงามฝีมือการเทโลหะชั้นเยี่ยมสวยสมบูรณ์ทุกรายละเอียดทีเดียวเชียวครับ

พุทธลักษณะ พระปรุหนัง พิมพ์บัวเบ็ด องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานสองชั้น ในซุ้มเสมา บนปลายฐานด้านบนทั้งสองข้าง มีลายกระหนกเล็กๆ ประดับอยู่ และในฐานแต่ละชั้นจะมีลายโค้งงอแบบเบ็ดตกปลา เรียงแถวตามแนวนอน  แถวบนและแถวล่าง รูปเบ็ด จะเรียงโค้งงอสลับตรงข้ามกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ พิมพ์บัวเบ็ด

พุทธลักษณะของพระปรุหนัง สร้างเป็นภาพพุทธองค์ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย บนฐานสำเภาบัว 2 ชั้นอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว และที่ช่วงบนถัดจากซุ้มเรือนแก้วทั้งสองข้างนั้น ก็จะปรากฎลวดลายช่อชัยพฤกษ์หลายเส้นวิ่งม้วนตัวไปบรรจบกันที่จุดยอดเหนือพระเศียร โดยมีองค์ พระโมคคัลลาน์ กับ พระสารีบุตร พระอัครสาวกยืนพนมมืออยู่ที่ด้านซ้ายและขวาขององค์พระพระปรุหนัง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ตัดกรอบสี่เหลี่ยม ฐานกว้างประมาณ 4.5 ซม. สูงประมาณ 5 ซม. ด้านหลังขององค์พระแบนเรียบ

ส่วนพุทธคุณของพระปรุหนังนั้นก็ถือว่ายอดเยี่ยมโดดเด่นทางด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด ถึงขั้นที่หลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติออกมารับรองว่าเชื่อถือได้ ปัจจุบันพระปรุหนังแท้ๆ ที่สวยสมบูรณ์นั้นหายากมาก สนนราคาก็สูง ส่วนใหญ่มักชำรุด หาที่สวยสมบูรณ์ยากมากครับผม