ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

คนที่เกิดมาและใช้ชีวิตแตกต่างจากคนอื่น อาจจะเรียกว่าเป็น “มนุษย์ต่างดาว” ก็ได้

ครอบครัวของรังสรรค์เป็นครอบครัวใหญ่ ว่ากันว่าบรรพบุรุษเคยเป็นชาวรั้วชาววัง มีตำแหน่งเป็นมหาอำมาตย์ใหญ่ในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ครั้นภายหลังเมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ได้แล้ว ก็ถูกปลดออกจากราชการ แต่ด้วยทรัพย์สมบัติที่สะสมไว้ ก็ทำให้ครอบครัวไม่ได้ลำบากนัก เพียงแต่ท่านมหาอำมาตย์ที่เป็นปู่ทวดของรังสรรค์ ที่คนทั้งหลายเรียกว่า “ท่านเจ้าคุณ” มีภรรยาหลายคน แล้วเอาภรรยาเหล่านั้นมาเลี้ยงดูอยู่ในบริเวณเดียวกัน ในที่ดินราว ๓ ไร่ริมคลองสามเสน ต่อมาเมื่อภรรยาเหล่านั้นมีลูกและหลาน ก็ต้องสร้างบ้านอีกหลายหลังเพิ่มขึ้นมา บางคนก็แยกครอบครัวออกไปอยู่ที่อื่น แต่ปู่และพ่อรวมถึงรังสรรค์อยู่ใน “บ้านใหญ่” นั้นมาโดยตลอด เพราะเป็นลูกหลานของภรรยาหลวงผู้ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและมรดกทั้งหมดนั้น

รังสรรค์เติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งของบรรดาลูกหลาน “ท่านเจ้าคุณ” ซึ่งท่านได้เขียนพินัยกรรมให้กับลูกชายคนโตเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ในสมัยคุณปู่ที่เป็นลูกชายคนโตของท่านเจ้าคุณยังไม่มีปัญหาอะไรรุนแรง เพราะคุณปู่ยังอยู่ในศีลในธรรม ได้แบ่งแยกแจกจ่ายทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างเป็นธรรมพอสมควร แต่พอมาถึงรุ่นคุณพ่อของรังสรรค์ก็กลับไปยึดกรรมสิทธิ์ต่าง ๆ ไว้เพียงลำพัง อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องอนุภรรยาอีก 2 คน ซึ่งก็มีลูกกับคุณพ่ออีกคนละหนึ่งนั้นอีกด้วย แต่ก็เป็นลูกสาวซึ่งไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินและมรดกใด ๆ ส่วนรังสรรค์เป็นลูกภรรยาหลวง เพียงแต่เป็นลูกชายคนรอง แต่พี่ชายของเขาก็ดูจะไม่เอาไหนในเรื่องทรัพย์สินเงินทองอะไรเท่าใดนัก เพราะใช้ชีวิตแบบ “ศิลปิน” ซึ่งคุณพ่อเคยปรารภว่า อาจจะต้องแก้พินัยกรรมที่เขียนไว้ตั้งแต่สมัยเจ้าคุณปู่ให้เปลี่ยนสิทธิ์ในการดูแลทรัพย์สินและมรดกทั้งหลาย มาอยู่กับทายาทที่ “มีวุฒิภาวะและความรับผิดชอบสำหรับตระกูล” ซึ่งก็หมายถึงรังสรรค์นั่นเอง

ผมรู้จักกับรังสรรค์ที่มหาวิทยาลัยใหญ่ย่านคลองจั่น ในการอภิปรายทางวิชาการระหว่างที่ประเทศไทยในตอนนั้นมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคนเสื้อแดงกับคนเสื้อเหลือง เขามาเป็นวิทยากรที่ร่วมอภิปรายด้วยคนหนึ่ง เช่นเดียวกันกับผมและนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยอีก 2 คนที่มาจากมหาวิทยาลัยอื่น โดยประเด็นที่รังสรรค์มานำเสนอนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายด้านภาษีอากร เนื่องจากนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น(ที่ยังเป็นนักโทษหนีคดีอยู่ในขณะนี้)ขายหุ้นให้กับบริษัทต่างชาติโดยไม่เสียภาษีสักบาทเดียว เขาแสดงความคิดเห็นได้อย่างน่าฟังมาก ว่ากันว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีและมรดก ที่เขาได้ไปร่ำเรียนมาถึงระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ทั้งยังมีความสนใจทางการเมืองเอามาก ๆ โดยเขาเคยวิพากษ์วิจารณ์เหล่าอภิสิทธิ์ชนที่หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีอยู่เสมอ ทั้งในงานวิชาการของเขาและทางสาธารณะอื่น ๆ อย่างการมาร่วมอภิปรายในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองนี้ด้วย

ผมเองก็สนใจในเรื่องต่าง ๆ ของรังสรรค์ ในฐานะที่เป็นนักวิชาการด้วยกันก็อยากจะรู้แนวคิดต่าง ๆ ของเขาให้มากขึ้น จึงได้เข้ากูเกิลสืบค้นอ่านผลงานของเขา แล้วก็ได้ไปอ่านข้อมูลเกี่ยวกับประวัติชีวิตของเขาอีกด้วย ทำให้รู้ว่าเขาเป็นลูกหลานใคร รวมถึงได้รู้ว่าเขาเป็นรุ่นน้องในมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนมา เพียงแต่ผมเรียนรัฐศาสตร์ แต่รังสรรค์เรียนนิติศาสตร์ ทั้งยังได้สอบถามเรื่องต่าง ๆ ของรังสรรค์จากเพื่อนนักวิชาการคนอื่น ๆ เพื่อดู “ฝักฝ่าย” ทางการเมือง เนื่องจากกำลังมีการต่อสู้ทางการเมืองกันอย่างเข้มข้น โดยมีข่าวว่านักวิชาการบางคน “เหยียบเรือหลายแคม” หรือฝักใฝ่กับนักการเมืองหลายค่าย รวมถึง “การจารกรรม” ที่อาจจะมีการแกล้งมาเข้าเป็นพวกแล้วล้วงข้อมูลความลับของการเคลื่อนไหวต่อสู้ไปแจ้งแก่ฝ่ายตรงข้ามนั้นอีกด้วย

รังสรรค์เป็นคนที่มีชีวิตแบบที่เรียกว่า “ประณีต” คนที่สนิทกับเขามาก ๆ เล่าให้ผมฟังว่า เขาถูกเลี้ยงดูอย่างมีระเบียบแบบแผน เขาถูกส่งเข้าเรียนโรงเรียนประจำตั้งแต่เด็ก ๆ จนจบชั้นมัธยมปลาย แล้วก็สอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย เพื่อนของรังสรรค์คนนี้ก็เรียนมาด้วยกันกับรังสรรค์จนจบชั้นมัธยม แต่แยกกันตอนไปเรียนที่มหาวิทยาลัย กระนั้นก็ยังติดต่อกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะยังกลับไปเล่นรักบี้ให้กับทีมโรงเรียนเก่าเสมอ เมื่อเวลาที่มีแข่งรักบี้ประเพณี แม้จนจบมหาวิทยาลัยและรังสรรค์กลับมาหลังจากที่จบดอกเตอร์จากสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยทั่วไปรังสรรค์เป็นคนที่คบกับใคร ๆ ยาก เช่นเดียวกันกับที่ใคร ๆ ก็ยากที่จะได้สนิทสนมกับรังสรรค์ เว้นแต่จะมีกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นประจำ อย่างการเล่นรักบี้ที่รังสรรค์ชื่นชอบนี้

เพื่อนของรังสรรค์เล่าให้ฟังว่า ตอนที่เรียนชั้นเด็กประถม รังสรรค์มีเสื้อผ้ามาเต็ม 2 กระเป๋าใหญ่ แตกต่างจากนักเรียนคนอื่น ๆ ที่มีเพียง 1 ใบ เขาจะได้นอนเตียงตัวที่อยู่สุดมุมห้องด้านใน ใกล้ห้องน้ำและมีหน้าต่างบานใหญ่ ถือว่าเป็น “ที่พิเศษ” หรือดีที่สุดในห้องนอนรวมนั้น เขาจะรีบเข้าห้องน้ำในทุก ๆ เช้า และอยู่ในห้องน้ำค่อนข้างนาน ดีที่ว่าเป็นห้องน้ำรวมที่มีสุขาหลายห้อง แต่เวลาอาบน้ำก็ต้องอาบรวมกัน เพียงแต่นุ่งผ้าหรือใส่กางเกงในอาบน้ำ ซึ่งรังสรรค์ก็จะแยกไปอาบในมุมสุดของอ่างใส่อาบน้ำรวมนั้น เขาเป็นคนพูดน้อย เหมือนกับที่กินค่อนข้างน้อย ตัวเขาอาจจะผอมแต่มก็มีส่วนสูงที่สูงกว่าคนอื่น ๆ ที่อายุเท่า ๆ กัน เขาชอบกินนม ที่บ้านจะเอานมมาส่งให้เขาวันเว้นวัน หรืออาทิตย์ 2-3 ครั้ง ทุกครั้งก็จะมีเผื่อให้เพื่อนด้วย 2-3 ขวด แต่เขาจะกินมันหมดทุกครั้ง บางทีถ้าเขากินไม่หมดเขาก็จะเททิ้งในตอนเย็น เพราะไม่มีตู้เย็นให้แช่ และนมสดก็ไม่สามารถเก็บไว้ข้ามคืนได้ เพื่อนหลายคนบอกว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะรังสรรค์ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่แสดงความเห็นแก่ตัวนั้นอยู่เสมอ จนเพื่อน ๆ แอบตั้งฉายาให้ว่า “มนุษย์ต่างดาว”

ที่บ้านยังส่งอาหาร “พิเศษ” มาให้รังสรรค์อยู่เป็นประจำ ทั้งกับข้าวดี ๆ และขนมหลากหลาย ซึ่งก็มีปริมาณที่มากกว่าคนคนเดียวจะกินได้หมด แต่รังสรรค์ก็ไม่ยอมแบ่งให้ใคร มีคนล้อเลียนเขาว่าเขาติดนิสัยนี้มาจากบ้าน เพราะที่บ้านมีหลายครอบครัว พ่อมีเมียหลายคน แต่ละคนก็หวงสมบัติของกันและกัน แม้กระทั่งของกินก็ไม่ยอมแบ่งให้ใครกิน ถึงขั้นที่ว่าหมาแมวของแต่ละบ้าน แม้จะอยู่ในรั้วเดียวกันเพราะมีบ้านหลายหลัง แต่ก็ต้องแยกกันกิน แบบข้าวตัวละจานบ้านตัวละคอก ทั้งหมาและแมวเหล่านั้นต่างก็แยกกันเลี้ยงแยกกันอยู่ และแยกเจ้าของกันและกัน บางทีหมาแมวในบ้านนั้นก็ทะเลาะไล่เห่าไล่กัดกัน เหมือนกับที่เจ้าของก็ระหองระแหงกันทั้งบ้าน เพื่อนบางคนที่กล้า ๆ หน่อยก็พูดนินทาแบบอ้อม ๆ ว่า บ้านของรังสรรค์นั้นก็เลี้ยงคนแบบเลี้ยงหมากับแมวนั่นเอง

ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่ารังสรรค์ต้องเป็นคนที่เรียนเก่ง และแน่นอนว่าเขาไม่ให้ลอกข้อสอบหรือให้ใครมาคุยมาถามเรื่องที่เรียนนั้นแต่อย่างใด ภาษาจีนสมัยนั้นเรียกคนแบบนี้ว่า “คกทุ้ย” ซึ่งไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร แต่มีความหมายเป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นคนที่เอาแต่เรียน ๆ ๆ และเรียน โดยไม่สนใจใคร แต่รังสรรค์คกทุ้ยไปยิ่งกว่านั้น เพราะยังไม่สนใจใครในเรื่องอื่น ๆ ไม่เว้นแม้แต่กีฬาที่เล่นเป็นทีม อย่างที่เขาเล่นฟุตบอลในชั้นประถม และรักบี้ในชั้นมัธยม แต่กระนั้นเขาก็เป็นคนเก่งในทุก ๆ เรื่องที่เขาทำโดยไม่เห็นแก่คนอื่นนั้นจริง ๆ ทั้งกีฬาฟุตบอลและรักบี้นั้นด้วย

สิ่งนี้ยิ่งทำให้เขามั่นใจในความ “พิเศษ” ของเขา จนทำให้เขาหมดความเคารพนับถือในคนอื่น ๆ นั้นด้วย