กรมศิลปากรโดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ดำเนินโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร กิจกรรมสำรวจ อนุรักษ์ ลงทะเบียน จัดเก็บเอกสารโบราณ และกิจกรรมกรมศิลป์ร่วมมือคณะสงฆ์ร่วมใจ อนุรักษ์ สืบสาน อ่านแปล ใบลาน วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ฯ ดังกล่าวว่า เอกสารโบราณเป็นองค์ความรู้ที่บรรพชนได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์ อักษร ประกอบด้วยเนื้อหาสาระที่หลากหลาย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ตลอดจนสรรพวิทยาการด้านต่างๆ เช่น พงศาวดาร ตำราเวชศาสตร์ ตำราไสยศาสตร์ ตำราโหราศาสตร์ และวรรณคดี อีกทั้งเป็นเครื่องแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนได้เป็นอย่างดี การดูแลรักษาเอกสารโบราณนอกจากจะต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการแล้ว สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือวัด องค์กรท้องถิ่น ประชาชน จำเป็นต้องเห็นคุณค่าของเอกสารโบราณ และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา รวมเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและยั่งยืน
สำหรับการดำเนินโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ได้ดำเนินงานระหว่างวันที่ 8 – 15 กันยายนที่ผ่านมา โดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร จะทำการอนุรักษ์เอกสารโบราณที่เก็บไว้ภายในพระวิหารสมเด็จ ส.ผ. (เสาวภา ผ่องศรี) ซึ่งเป็นคลังปัญญาที่เก็บคัมภีร์ใบลานไม่ต่ำกว่า 320 มัด มีตู้พระธรรมอยู่ 29 ตู้ ส่วนที่ใส่คัมภีร์ใบลานไว้ในตู้พระธรรมมีประมาณ 9 ตู้ โดยมีคัมภีร์ใบลานที่สำคัญ อาทิ คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ชนชั้นสูงในราชสำนักที่เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งนิยมการสร้างคัมภีร์ถวายไว้ในพระพุทธศาสนา รวมถึงคัมภีร์บางส่วนนั้นเกิดการชำรุดเสียหาย ในส่วนกระบวนการทำงานของคณะทำงาน ประกอบด้วย การแนะนำ สาธิตการ อนุรักษ์ใบลานเบื้องต้น การอนุรักษ์ทำความสะอาดใบลาน อ่านปกใบลาน ตามหาชื่อเรื่อง ศึกษาฉบับใบลานสืบสาน พวกพ้อง เปลี่ยนสายสนอง และการห่อผ้าคัมภีร์ใบลาน ตามหลักวิชาการ
ทั้งนี้โครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดไก่เตี้ย ซึ่งเป็นวัดต้นแบบในการอนุรักษ์ที่เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กร กรมศิลปากรกับคณะสงฆ์ และประชาชน ในการ่วมอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาของบรรพชนจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะเอกสารโบราณ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนที่เรียกว่าพระไตรปิฎก ที่สำคัญคัมภีร์ใบลานวัดเบญจมบพิตรมีมากกว่าคัมภีร์ ใบลานวัดไก่เตี้ย ถึง 8 เท่า ดังนั้นต้องใช้เวลาถึง 72 วัน จึงแล้วเสร็จ
“หลังจากทำการอนุรักษ์แล้ว จะทำให้ประชาชนเข้าถึงเอกสารโบราณได้ง่ายและใช้เอกสารโบราณอย่างถูกวิธี จึงจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ถึงคัมภีร์ใบลานอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนนำมาใช้ประโยชน์จากการศึกษาค้นคว้าต่อยอดองค์ความรู้ในเอกสารโบราณได้ต่อไป” อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว