ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โขติช่วง : ชาวบึงกาฬในวิถีวัฒนธรรมมีความเชื่อ ความศรัทธาเรื่องพญานาคอย่างเปี่ยมล้น ด้านสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับจังหวัดบึงกาฬ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตบึงกาฬ และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองพันทา จัดงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” ระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา
นายสุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ กล่าวงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง เทศกาลแห่งศรัทธา เป็นการนำทุนวัฒนธรรมที่ท้องถิ่นมีอยู่แล้วและนำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สำหรับ “ธุง” ประดับในงาน ม.ล.จิราธร จิระประวัติ ศิลปินนักวาดภาพประกอบชื่อดังได้ออกแบบลวดลายพญานาค เพราะจ.บึงกาฬมีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง มีความเชื่อเรื่องพญานาค รวมถึงมีลวดลายดอกไม้ ธีมสีของธุง ประกอบด้วยสีม่วง สีประจำจังหวัดบึงกาฬ สีเขียว สีประจำอำเภอโซ่พิสัย และสีขาว สื่อพลังศรัทธาพญานาค ถือเป็นต้นแบบนำงานดีไซน์ยกระดับกิจกรรมวัฒนธรรม และยังเป็นครั้งแรกที่จัดแห่ธุงพญานาคในประเทศไทย ตั้งเป้าจะผลักดันให้เป็นประเพณีประจำปีจังหวัดต่อไป
ด้าน นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง เทศกาลแห่งศรัทธาว่า เป็นการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ นำความเป็นไทยในมิติวัฒนธรรม ยกระดับเทศกาลประเพณีแห่ธุงพญานาค เป็นงานที่รวมเอาสองเทศกาลมารวมไว้ที่เดียวกัน คือเทศกาลผีตาโขน จเลย และเทศกาลวันมาฆบูชาสักการะพระธาตุยาคู จ.กาฬสินธุ์ ที่ใช้ “ธุง” หลากสีสันมาประดับในงาน ทั้งนี้ วธ.จะสนับสนุนการจัดงานประเพณีแห่ธุงพญานาค เป็นการรวมพลังความเชื่อ ความศรัทธา ในการสร้างพลังแห่งความดีของชาวบึงกาฬเกี่ยวกับพญานาค ที่เป็นตัวแทนของความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจท้องถิ่น ผ่านงานวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย ให้เกิดเป็นงานประเพณีประจำปีของ จ.บึงกาฬอีกด้วย
นอกจากงานแห่ธุงพญานาคนี้แล้ว ในพื้นที่ อ.โซ่พิสัยยังมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งก่อตั้งมา 6 ปี เป็นตัวอย่างการนำซอฟต์พาวเวอร์มาพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจฐานราก เปลี่ยนโฉมหมู่บ้านเกษตรกรรมชนบทด้วยศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นำวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อเรื่องพญานาคมานำเสนอในพิพิธภัณฑ์ เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อ เดินเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ชมผลงานกราฟฟิตี้ 100 ผลงานที่กระจายทั่วหมู่บ้านแล้ว ยังสามารถจับจ่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำงานออกแบบมาเพิ่มมูลค่า เช่น ปลาร้าบอง เครื่องจักสาน ยาหม่อง ผ้าฝ้ายทอมือ ฯลฯ ทั้งนี้ยังมีผลงานกราฟฟิตี้พญานาคร่วมสมัยกระจายในพื้นที่ต่างๆ ของอำเภอ ทั้งสถานีตำรวจ โรงพยาบาล สำนักสงฆ์ วัด โรงเรียน รวมแล้วกว่า 300 ชิ้น ที่จะสร้างรอยยิ้มให้กับผู้มาเยือน และเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น