ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
ในระหว่างที่ 2 ขั้วอำนาจ คือ ฝ่ายสหรัฐฯ และพันธมิตร กับฝ่ายจีน รัสเซีย อิหร่านและพันธมิตร กำลังเผชิญหน้ากันอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การแซงก์ชัน การซ้อมรบที่ถี่มากขึ้น ตลอดจนการหาพันธมิตรเพิ่มขึ้นด้วยกุศโลบายต่างๆ
อินเดียเป็นชาติใหญ่มีพลเมืองเป็นอันดับ 2 รองจากจีน และมีที่ตั้งในมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย กลายเป็นประเทศที่ทั้ง 2 ขั้วต้องเอาใจและพยายามชักจูงให้เข้าเป็นพวก
แม้อินเดียจะได้รับการยอมรับกันว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่อินเดียก็ยังมีการเหยียดชนชั้น และอคติด้านศาสนา ที่ทำให้มีนโยบายเลือกปฏิบัติ อันขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นแกนหลักของระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการใช้หลักเสียงส่วนมากตัดสินแต่จะไม่ไปละเมิดสิทธิเฉพาะของชนส่วนน้อย เช่น การนับถือศาสนา ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
แต่ด้วยความสำคัญทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ และกำลังอำนาจของอินเดีย ก็ทำให้ไม่มีใครกังขากับระบอบการปกครองของอินเดีย เพราะถือว่าธุระไม่ใช่
ดังนั้นอินเดียจึงอยู่ในฐานะที่สามารถต่อรองเอาประโยชน์จาก 2 ขั้ว 2 ค่ายได้อย่างไม่ยากนัก เช่น อินเดียมิได้ประณามรัสเซียในการบุกยูเครน และยังมิได้แซงก์ชันรัสเซีย ตามคำบงการของวอชิงตัน อินเดียจึงสามารถซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในราคาถูกมาใช้พัฒนาประเทศ และยังส่งขายต่อเอากำไรได้อีกต่างหาก
ในขณะเดียวกันอินเดียก็เป็นสมาชิกของกลุ่ม QUAD ที่ประกอบด้วย สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่เราอาจเรียกว่าจตุรมิตร ทำให้อินเดียยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ (GSP) ในการส่งสินค้าไปขายยังสหรัฐฯ ได้อย่างเปรมปรีดิ์
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอินเดียได้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่มจตุรมิตรหลายครั้ง หลายระดับ แม้กระทั่งยังมีการแยกประชุม 2+2 กับญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แบบแยกต่างหาก ซึ่งคาดว่าอินเดียจะได้ผลประโยชน์ไม่น้อยจากวอชิงตัน และโตเกียว
ทว่าท่าทีของอินเดียนั้นก็ได้ประกาศชัดเจนว่าอินเดียจะเป็นอิสระในการดำเนินวิเทโศบายของตน เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ โดยเฉพาะอินเดียจะยืนยันว่าอะไรที่เป็นการสร้างสรรค์อินเดียจะร่วมมือ แต่จะไม่เข้าร่วมในกิจกรรมที่เป็นในทางลบหรือการเผชิญหน้ากับอีกขั้วอำนาจ โดยเฉพาะกับจีน
แต่ความสับสนก็ยังเกิดขึ้นเมื่ออินเดียดำเนินการซ้อมรบกับสหรัฐฯตามแนวชายแดนจีน แถบเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งก็มิได้มีคำอธิบายที่ชัดเจนอย่างไร
ท่าทีของอินเดียนี้แตกต่างจากท่าทีของสมาชิก QUAD อีก 2 ชาติ คือ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นที่ผูกพันแนบชิดกับสหรัฐฯและสนองนโยบายของวอชิงตันในทุกเรื่องโดยเฉพาะท่าทีของตนต่อรัสเซียและจีน
ในช่วงสัปดาห์นี้เริ่มจากวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี องค์คณะชุดใหญ่จากสหรัฐฯจะไปเยือนอินเดียเพื่อประชุม QUAD 2+2 โดยมีหัวหน้าคณะ คือผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการเอเชียกลาง DONALD LU โดยจะมีระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีอีก 3 ท่าน ในกิจการที่เกี่ยวข้องร่วมเดินทางไปประชุมด้วย โดยเนื้อหาหลัก คือเรื่องความร่วมมือในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิค และเส้นทางเดินเรือในภูมิภาคนี้ ซึ่งแน่นอนย่อมครอบคลุมไปถึงทะเลจีนใต้
ด้านอินเดียก็จะมีหัวหน้าทีม คือ รมว.ต่างประเทศและรมว.กระทรวงกลาโหมเข้าร่วมประชุมพร้อมเจ้าหน้าที่อาวุโสของอินเดีย หลังจากนั้นคณะผู้แทนอินเดียชุดนี้ก็จะเดินทางไปประชุมกับญี่ปุ่นที่โตเกียวในสัปดาห์หน้า
ในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อินเดียก็จะเดินทางไปเจรจาด้านการค้ากับสหรัฐฯในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการเจรจา 2 ฝ่ายเรื่องการค้าแล้ว ก็จะเข้าประชุมระดับรัฐมนตรีในข้อตกลง IPEF (INDO-PACIFIC ECONOMIC FRAMEWORK)ที่ลอนแอลเจลิส
และเพื่อเป็นการสร้างสมดุลอินเดียก็จะส่งตัวแทนในระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม SHANGHAI COOPERATION ORGANIZATION (SCO) ที่จะจัดขึ้นในกลางเดือนกันยายนนี้
ด้วยท่าทีต่างๆของอินเดียที่เดินหมากในระหว่างความขัดแย้งของ 2 ขั้วอำนาจ นั่นคือการสร้างสมดุลหรือการถ่วงดุลของ 2 ขั้วอำนาจ ทำให้อินเดียได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ด้านการค้า การร่วมมือพัฒนาทางเทคโนโลยี การต่อรองทางการเมือง ตัวอย่างเช่น การกดดันจีนของสหรัฐฯนับเป็นโอกาสที่หายากของอินเดีย นั่นคือทำให้ความตึงเครียดจากการเผชิญหน้ากับจีนลดลง
ในขณะที่อินเดียกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อินเดีย ก็มิได้ลดทอนความสัมพันธ์แต่เก่าก่อนกับรัสเซีย ในทางตรงข้ามอินเดียกลับฉวยโอกาสเพิ่มปริมาณการค้ากับรัสเซียมากขึ้น โดยไม่สนใจมาตรการแซงก์ชันจากตะวันตก และไม่ถูกตะวันตกแซงก์ชันอินเดีย เพราะสหรัฐฯและพันธมิตรก็ยังมุ่งหวังที่จะใช้อินเดียในการคานอำนาจกับจีน
ด้วยแนวทางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของอินเดียจะเห็นได้ว่าได้ก่อประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ ทั้งนี้เพราะอินเดียถือเอา “ผลประโยชน์แห่งชาติ”เป็นหลัก
ที่สำคัญแนวทางการดำเนินวิเทโศบายของอินเดียนี้ได้รับการสนับสนุนจากฐานของประชาชน โดยเฉพาะในโลกสภาของอินเดีย
โดยนัยเดียวกันแนวคิดนี้น่าจะเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศที่มีกำลังอำนาจแห่งชาติขนาดใหญ่เท่าอินเดีย แต่เราก็อาจจะใช้ความสัมพันธ์แต่เก่าก่อนกับทั้ง 2 ขั้วอำนาจ โดยยึดเอา “ผลประโยชน์แห่งชาติ”เป็นหลัก
ช่วงนี้ก็เลยมีข่าวดีจะเรียนให้ทราบว่า พ่อค้าไทยก็มีการปรับตัวได้รวดเร็ว โดยในขณะนี้แม้จะเพียงการเริ่มต้นแต่สินค้าไทย มูลค่าเกือบพันล้านไปกองเก็บเพื่อรอคิวรถไฟอยู่ที่วลาดิวอสสต๊อกเมืองท่า และชุมทางรถไฟทางภาคตะวันออกของรัสเซีย
อนึ่งรองนายกฯและรมต.ต่างประเทศไทยก็ไม่รอช้าได้เดินทางไปร่วมประชุมกลุ่มการค้าเศรษฐกิจเกิดใหม่ และพันธมิตรของรัสเซียกับจีน ที่วลาดิวอสสต๊อก ที่จัดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์นี้
หวังว่าพวกม้าลำปางที่คอยตั้งป้อมประณามรัสเซียที่ไปบุกยูเครน คงจะปรับชุดความคิดของตนเอง โดยคิดถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญกันบ้าง
ล่าสุดยังเอาการรบระหว่างยูเครน-รัสเซีย ไปเปรียบเทียบกับสงครามเก้าทัพของไทย และสรุปว่ายูเครนจะชนะ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบที่หยาบๆโดยไม่ดูบริบทรอบด้านเลย
ผู้เขียนจึงขอชื่นชมการขยับตัวของรัฐบาลไทยยามไร้หัวว่าได้เดินมาถูกทิศทางแล้ว ส่วนเรื่องจะเชียร์ใครชอบใครมันอีกเรื่อง “ผลประโยชน์ของชาติ” ต้องมาก่อน
แม้แต่จีนตอนนี้ก็ได้นำน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ซื้อจากรัสเซียไปขายในตลาดเพราะที่สั่งมันเหลือใช้ ทำให้แผนการกดดันยุโรปด้วยพลังงานอาจไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยยุโรปมีทางเลือกซื้อในตลาดได้ แม้ราคาแพงกว่าซื้อตรงกับรัสเซีย
นี่แหละคือมุมมองที่น่าคิดว่าผลประโยชน์ชาติต้องมาก่อน