วันที่ 8 ก.ย.65 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมกทม.ในช่วงนี้และแนวทางป้องกันว่า ช่วงนี้คือช่วงวิกฤต เรียกว่า 4 วันอันตราย ตั้งแต่วันที่ 7 -10 ก.ย.นี้โดย เมื่อคืนนี้(7 ก.ย.)มีฝนตกหนักถึง130 มิลลิเมตร ที่บริเวณเขตลาดกระบัง โชคดีที่ฝนไม่ตกซ้ำที่บริเวณเขตบางเขน เพราะกรณีฝนตกหนักที่เขตบางเขนเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนสูงถึง 170 มิลลิเมตร ซึ่งปริมาณดังกล่าวจะเกิดขึ้น1ครั้งในทุก20ปีตามสถิติที่กทม.บันทึกไว้ ปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังคือ ท่อระบายน้ำดั้งเดิมของกทม.ไม่รองรับปริมาณน้ำฝนสูงขนาด 170 มิลลิเมตร ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำเต็มคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรตามที่ปรากฏ

ส่วนเมื่อคืนนี้ มีฝนตกอีกที่บริเวณพัฒนาการ ทำให้น้ำเต็มคลองประเวศบุรีรมย์ ดังนั้น สถานการณ์ตอนนี้คลองหลักของกทม.มีน้ำเต็มทุกคลองต้องเร่งระบายโดยด่วน ส่วนคลองแสนแสบปัจจุบันขีดความสามารถรับน้ำก็ใกล้เต็มเช่นกัน อย่างไรก็ตามฝนที่ตกช่วงเมื่อวานนั้นไม่เฉพาะที่เขตลาดกระบัง แต่ตกรอบนอกกินบริเวณกว้างออกไปถึงจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงด้านเหนือของกทม.ฝั่งจังหวัดปทุมธานีมีปริมาณน้ำเต็มความจุ ส่งผลให้การระบายน้ำจากกทม.ทำได้ยากเพราะบริเวณพื้นที่รอบนอกมีน้ำเต็มเหมือนกัน ต้องลดการระบายน้ำจากกทม.ลงเพื่อบรรเทาปริมาณน้ำในพื้นที่รอบนอกด้วย

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีวิกฤตเกิดขึ้น 4 เรื่อง ดังนี้ 1.คลองหลักในกทม.น้ำเต็มความจุทุกคลอง ยกเว้นคลองแสนแสบที่ยังพอรับได้อีกไม่มาก 2.ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านกทม.พอดี ส่งผลให้เกิดกำลังดึงดูดฝนเข้ามา จึงมีโอกาสเกิดฝนตกเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ 3.ปริมาณน้ำเหนือถูกปล่อยลงมาจำนวนถึง1,850ลูกบาศก์ต่อวินาที แม้จะยังไม่สูงเท่าช่วงวิกฤต แต่ปริมาณน้ำที่ขึ้นสูงระดับนี้กทม.ต้องสูบน้ำข้ามประตูน้ำเพื่อระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้การทำงานค่อนข้างลำบาก 4.ช่วงวันที่7-10ก.ย.นี้ เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง โดย4ปัจจัยนี้ประกอบกันทำให้กทม.มีน้ำท่วมขังในบางจุด

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่บริเวณเขตบางเขนเมื่อวันที่6ก.ย.ได้นำบทเรียนมาเตรียมบรรเทาปัญหาน้ำท่วมโดยสั่งการให้รองปลัดกทม.เป็นผู้บัญชาการโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน21เครื่องตามที่กรมชลประทานสนับสนุนมา และเตรียมจัดการสภาพการจราจรเพื่อให้รถของหน่วยช่วยเหลือต่างๆเข้าไปในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ ต้องเตรียมการล่วงหน้า3ชั่วโมงเพื่อนำกำลัง อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆในการรับมือน้ำท่วมเข้าไปประจำในพื้นที่ เช่น รถซ่อม รถลาก และหน่วยช่วยเหลือผู้คนในเบื้องต้น รวมถึงการวางแผนกำหนดเส้นทางขนประชาชน และกำหนดการจราจรล่วงหน้าในกรณีน้ำท่วมอีกครั้ง เพื่อจัดการแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้ทันท่วงที