วันที่ 8 ส.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 450,795 คน ตายเพิ่ม 1,322 คน รวมแล้วติดไป 611,756,076 คน เสียชีวิตรวม 6,508,705 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.84 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 69.06
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 15 ของโลก และอันดับ 7 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อัพเดตสายพันธุ์ไวรัส
จาก WHO Webinar เรื่องสายพันธุ์ไวรัสโรคโควิด-19 เมื่อวานนี้ 7 กันยายน 2565
Omicron เป็นสายพันธุ์ที่ยึดครองการระบาดทั่วโลก โดย BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่มีสัดส่วนสูงถึง 85%, BA.4 พบ 11% ในขณะที่ BA.2.12.1 และ BA.2.75 นั้นมีสัดส่วนตรวจพบอยู่ที่ 2%
ใน Webinar เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกคาดว่า ปัจจุบันน่าจะมีคนติดเชื้อไปทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 1,000 ล้านคน มากกว่าตัวเลขที่แต่ละประเทศรายงานเข้ามาในระบบ
นอกจากนี้จำนวนผู้เสียชีวิตจริงจากโรคโควิด-19 น่าจะมากกว่าตัวเลขที่รายงานในระบบกว่า 3 เท่า
ขณะนี้ยืนยันว่าโลกเรายังอยู่ในภาวะ Circulating Pandemic หรือการระบาดทั่วโลกโดยมีอิทธิพลจากสายพันธุ์ไวรัสที่เปลี่ยนแปลง
ที่สำคัญคือ ด้วยสถานการณ์ขณะนี้โควิด-19 ยังไม่ใช่โรคตามฤดูกาล
"It's still a long way from where we are here to establish the seasonality for SARS-CoV-2..."
การจะผ่านพ้นภาวะระบาดทั่วโลก ไปสู่โรคติดเชื้อทางเดินหายใจธรรมดาตามฤดูกาลได้นั้น เราจำเป็นควบคุมโรคให้การติดเชื้อใหม่แต่ละวันลดลงไปมาก และ/หรือจนไม่ได้ทำให้คนป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากไปกว่าโรคธรรมดาที่มี
...ข้อมูลจาก WHO Webinar ข้างต้นช่วยให้เราตระหนักถึงสถานการณ์จริงที่เป็นอยู่ และรู้เท่าทัน ไม่หลงไปกับคำลวงที่ tone down harm and risk perception ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ และส่งผลต่อสุขภาพของตนเอง และคนใกล้ชิด
ย้ำอีกครั้งว่า โควิดไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่
ติดเชื้อแล้ว แม้จะฉีดวัคซีนมาจะช่วยลดความเสี่ยง แต่ก็ยังมีโอกาสป่วยได้ ตายได้
และที่สำคัญคือ ติดเชื้อไม่จบแค่หายหรือตาย แต่เกิดปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ที่จะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการดำรงชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ
การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวันจึงเป็นเรื่องจำเป็น
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
...แอนติบอดี้ในเลือดหลังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
Qu P และคณะ จาก Ohio State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ข้อมูลวิจัยเรื่องนี้ในวารสารการแพทย์ระดับโลก New England Journal of Medicine เมื่อวานนี้
ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด (neutralizing antibody) ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน mRNA ในสองเข็มแรก และฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA เช่นกัน
พบว่า หลังฉีดวัคซีน mRNA เข็มกระตุ้นไปแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ ลดลงตามเวลาที่ผ่านไป ทั้งในกลุ่มที่มีการติดเชื้อหรือไม่ได้ติดเชื้อก็ตาม โดยกลุ่มที่ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนจะพบว่ามีระดับแอนติบอดี้สูงกว่า
นอกจากนี้สายพันธุ์ BA.4/BA.5 นั้นก็ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา
อ้างอิง
Qu P et al. Durability of Booster mRNA Vaccine against SARS-CoV-2 BA.2.12.1, BA.4, and BA.5 Subvariants. NEJM. 7 September 2022.