วันที่ 7 ก.ย.65  นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  Thiravat Hemachudha ระบุว่า...

ติดโควิดอาการไม่มากยังเกิดหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบต่อเนื่องได้

รายงานจากประเทศเยอรมันติดตามคนติดโควิดอาการน้อยกักตัวที่บ้าน 346 รายอายุเฉลี่ย 43.3 ปี (เทียบกับคนไม่ติดอายุเพศ เท่ากัน 95 ราย) ทั้งหมดไม่มีความเสี่ยงของโรคหัวใจมาก่อน

ในระยะเวลา 77 ถึง 177 วันเฉลี่ย 109 วัน 73%มีอาการทางหัวใจ เหนื่อยขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 62% ใจสั่น 28% เจ็บหน้าอก 27% และมีหน้ามืดเป็นลม 3% และมีความดันโลหิตตัวล่างสูงขึ้น

การตรวจหัวใจด้วย MRI พบการอักเสบของหัวใจและเยี่อหุ้มหัวใจรวมทั้งมีแผลเป็นหรือเยื่อพังผืดที่กล้ามเนื้อหัวใจ

การตรวจเลือด CRP

hs troponin T N terminal pro-brain natriuretic peptide ไม่ไวพอที่จะระบุความผิดปกติเหล่านี้

อย่างไรก็ตามหน้าที่การทำงานในการบีบตัวของหัวใจห้องล่างทั้งด้านซ้ายและขวาผิดปกติในบางรายเท่านั้น

การติดตามครั้งที่สองระหว่าง 274 ถึง 383 วันหลังจากการติดเชื้อเฉลี่ยที่ 329 วันยังคงพบว่า 53% ยังคงมีอาการผิดปกติทางหัวใจ และคนที่ในตอนแรกปกติดีเกิดอาการทางหัวใจขึ้น 5%

การตรวจเอ็มอาร์ไอ ทั้งกลุ่มทั่วไปดูดีขึ้น ยกเว้นแต่ในคนที่ยังคงมีอาการต่อเนื่อง

คณะผู้รายงานแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการติดเชื้อโควิดที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันไปทำลายอวัยวะตัวเองในกรณีนี้คือกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจแม้ว่าการติดโควิดนั้นจะอาการน้อยนิดหรือไม่มากก็ตาม

รายงานในวารสาร Nature Medicine

รายงานนี้พ้องกับรายงานอื่นๆที่เจาะจงดูความผิดปกติในสมองในคนที่มีอาการน้อยตอนติดเชื้อโดยพบว่ามีความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันและกระตุ้นให้เซลล์ในสมอง (microglia) ผลิตสารอักเสบมากขึ้น รวมทั้งเซลล์ที่สร้างสายใยประสาท (oligodendrocyte) และเซลล์ที่สมองส่วนความจำปัจจุบันบริเวณกลีบขมับทั้งด้านใน (hippocampus) ผิดปกติและมีการสะสมตัวของโปรตีนอมิลอยด์ บิดเกรียวที่เป็นต้นเหตุของอัลไซเมอร์

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ ผ่านทาง วช อยู่ในระหว่างการทำการศึกษาลองโควิดโดยเน้นผู้ป่วยที่อาการไม่มากหรือปานกลางตั้งแต่ต้น และผลกระทบต่อสมองในแง่การสะสมตัวของโปรตีน อมิลอยด์ และ ทาว และความเสียหายที่เกิดขึ้นในสมอง NFL และ GFAP