เมื่อเวลา 09.30 น .ของวันที่ 06 กันยายน 2565 นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการของเสียอันตรายชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร ณ ห้องประชุมสาครบุรี ชั้น 4 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 36 แห่ง เข้าร่วม


นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ตามที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ในการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวม ซึ่งอาจร่วมกับราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ในการเก็บ ขน หรือกำจัดมูลฝอยได้ หากเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากกว่าการที่ราชการส่วนท้องถิ่นนั้นจะดำเนินการเอง โดยการทำความตกลงความร่วมมือเสนอสภาท้องถิ่นของแต่ละแห่งพิจารณาให้ความเห็นชอบ อีกทั้งที่ผ่านมา อบจ.สมุทรสาคร ได้ให้ความสำคัญต่อการคัดแยกและเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนในแต่ละพื้นที่  โดยได้ว่าจ้างบริษัทเอกชน เป็นผู้ขนส่งและนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ณ ศูนย์กำจัดฯ จังหวัดสมุทรปราการ

 นายอุดม กล่าวต่อว่า ในการนี้เพื่อให้การคัดแยกและเก็บรวบรวมของเสียอันตรายชุมชนเป็นไปอย่างครอบคลุมทั้งจังหวัด จึงได้ร่วมมือกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรสาครทั้ง 36 แห่ง  ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการจัดการขยะมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายต่อชุมชน หรือที่เรียกว่า “ของเสียอันตรายชุมชน” นั่นเอง  เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันบริหารจัดการของเสียอันตรายชุมชนในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครและเป็นไปตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบ เรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรือ อันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2563 และกฎหมายหรือข้อระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง 


“ความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การจัดการของเสียอันตรายชุมชนของจังหวัดสมุทรสาครได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนยังเป็นการส่งเสริมให้มีการคัดแยกของเสียอันตรายชุมชนและการกำจัดของเสียอันตรายชุมชน ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และ เพื่อให้การจัดการของเสียอันตรายชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า ตอบสนองต่อสภาพปัญหา โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร จะมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งและกำจัดของเสียอันตรายชุมชน ค่าวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นสำหรับการ ดำเนินงานในภาพรวม ขณะที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การรวบรวม การจัดเก็บ และการขนส่งของเสียอันตรายชุมชนจากพื้นที่มายังจุดรวบรวมกลางตามที่กำหนด รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานหรือกิจกรรมในพื้นที่ด้วย”


นายอุดม กล่าวอีกว่า สำหรับของเสียอันตรายชุมชน คือ วัสดุเหลือใช้ที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ในครัวเรือน และพาณิชยกรรมในชุมชน มีส่วนประกอบของสารที่เป็นพิษสามารถติดไฟได้ง่าย หรือมีฤทธิ์เป็นกรดด่างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน และเมื่อทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม ก็จะทำปฏิกิริยาทางเคมี ชะล้างสารที่เป็นอันตรายออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ จึงไม่ควรทิ้งของเสียเหล่านี้ปะปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป จำเป็นต้องเก็บหรือ กำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพ อนามัยของประชาชนและป้องกันสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งของเสียอันตรายชุมชนนั้นได้แก่ หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ กระป๋องสารกำจัดศัตรูพืช ภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ป้องกันหรือกำจัดแมลงและสัตว์ฟันแทะในบ้านเรือน กระป๋องสี ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำตลับหมึกพิมพ์ ซากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์ โทรศัพท์ไร้สาย และอุปกรณ์สำรองไฟ


”ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ อบจ.สมุทรสาคร และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ได้ทำ MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการของเสียอันตรายชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกันแล้ว ต่อไปในอนาคตยังทาง อบจ.สมุทรสาคร ยังมีเป้าหมายที่จะได้จัดทำโครงการ “ขยะกำพร้า” ขึ้น เพื่อให้การกำจัดขยะในครัวเรือนเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด  ทำให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นเมืองสะอาด น่าอยู่อย่างแท้จริง” นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร กล่าวทิ้งท้าย.