เมื่อวันที่ 6 ก.ย.65 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ในปี 2566 โดยเฉพาะการนำเข้าวัคซีนรุ่นใหม่ ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติใน ต.ค.นี้ เป็นการพิจารณาผ่านคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ประสิทธิผล และความคุ้มค่าที่เกิดขึ้น

ส่วนจะเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ตัวไหนหรือจำนวนเท่าไรที่จะพิจารณานำเข้ามานั้น ต้องรอให้คณะกรรมการวัคซีนฯ พิจารณาให้ความเห็นก่อนในเดือนหน้า ซึ่งปัจจุบันที่มีข่าวออกมาก็มีวัคซีนจากไฟเซอร์ที่มีการพัฒนารุ่นใหม่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แต่ทางคณะกรรมการฯ จะต้องพิจารณาหลากหลายยี่ห้อ และผลการศึกษา จึงยังไม่สามารถสรุปได้ตอนนี้ว่าจะเป็นตัวไหน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มการสั่งซื้อวัคซีนปี 2566 จะเป็นรุ่นใหม่ทั้งหมดหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า โดยหลักการหากมีการสั่งซื้อกับบริษัทที่มีการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ก็จะได้รุ่นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากล็อตการผลิตของบริษัทนั้นๆ จะปรับเปลี่ยนผลิตรองรับวัคซีน Gen ใหม่เช่นกัน แต่ขอให้รอการพิจารณาของคณะกรรมการวัคซีนฯ ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามถึงแนวโน้มการฉีดวัคซีนโควิดในปีหน้า นพ.โสภณกล่าวว่า น่าจะฉีดแบบปีละเข็ม ซึ่งปีนี้หลายคนก็ได้ไป 4-5 เข็มแล้ว เมื่อถามย้ำว่า หากฉีดเข็มเดียวจะต้องเน้นกลุ่มเสี่ยงแบบวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเน้นกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก พอไม่เสี่ยงผู้ใหญ่วัยทำงานก็เป็นทางเลือก ไม่ได้บังคับทุกคนรับวัคซีนเหมือนกันหมด 100% ถ้าเราเน้นกลุ่มเสี่ยงสูงเป็นไปได้ที่ฉีดได้ตามเป้าหมาย

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าวัคซีนป้องกันโควิดโดยคนไทยว่า ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในการศึกษาเฟส 2 อย่างวัคซีน HXP-GPOVac ขององค์การเภสัชกรรม ทดลองในมนุษย์เฟส 2 ช่วง ส.ค.ที่ผ่านมา หากผลการศึกษาออกมาผ่านทั้งหมดก็สามารถขึ้นทะเบียนพร้อมใช้ได้ในช่วงปี 2566 ส่วนรายอื่นๆ ทั้งวัคซีน ChulaCov19 และวัคซีนใบยา หากผลการศึกษาผ่านทั้งหมดก็จะขึ้นทะเบียนและพร้อมใช้เวลาไล่เลี่ยกัน คือ น่าจะช่วงปลายปี 2566

เมื่อถามว่าการพัฒนาวัคซีนโควิดของคนไทยมองว่าช้าไปหรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ต้องอยู่ที่ว่าเปรียบเทียบกับประเทศใด หากเป็นประเทศที่มีการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดอย่างสหรัฐฯ ยุโรป จีน อินเดีย อังกฤษ ก็ถือว่าเราเร็วมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ

ทั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ศักยภาพวัคซีนไทย ตนมองว่าสามารถนำมาฉีดกระตุ้นได้ ที่สำคัญที่อยากฝากคือ ขณะนี้ในกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดบูสเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ขอให้มาฉีด อย่าไปรอวัคซีนรุ่นใหม่ เนื่องจากอาจมาตั้งปีหน้า ซึ่งจะเสี่ยงติดก่อน ยิ่งกลุ่มสูงอายุ ควรฉีดวัคซีนเพื่อลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้