รัฐสภา ถก แก้ร่างรธน. 4 ฉบับ  ชง "นายกฯ" ต้องเป็นส.ส. ปิดสวิตซ์ ส.ว. ส่อวุ่น ส.ว."กิตติศักดิ์" โวย "โรม" แบ่งส.ว.เป็นแก๊ง "ลุงป้อม-ลุงตู่"  ไล่ย้อนดูตัวเองไม่ยอมใช้หนี้กยศ. เจ้าตัวลั่นปลดหนี้เรียบร้อยแล้ว ไม่เคยเบี้ยว ขู่ฟ้องถ้าพูดอีก  "อมรัตน์" อ้อนส.ว.รับหลักการปิดสวิตช์โหวตเลือกนายกฯ 


วันที่ 6 ก.ย. 65 เวลา 11.40 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจำนวน 5 ฉบับ  โดยได้มีการถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 ของนายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เรื่องกำหนดองค์ประชุมในวาระรับทราบรายงานต่างๆ ออกจากระเบียบวาระ  

ทำให้เหลือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 ฉบับคือ 1.ร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 เสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของบุคคลและชุมชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม  3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและที่มาของนายกรัฐมนตรีจากการเลือกโดยส.ส.เท่านั้น  และ4.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เป็นผู้เสนอ

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิกรัฐสภาอภิปราย โดยนพ.ชลน่าน  ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอหลักการและเหตุผลการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและที่มาของนายกฯจากการเลือกโดยส.ส.เท่านั้นว่า มาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ส.ส.ให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯจากบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 แต่ในมาตรา 160 ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งนายกฯว่าต้องเป็นส.ส. ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการที่เคยบัญญัติไว้ ที่กำหนดให้นายกฯต้องเป็นส.ส. 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตราร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลรองรับไว้ ซึ่งมีการบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในวาระเริ่มแรกมิให้นำมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับจนกว่าจะมีการเลือกตั้งส.ส.ครั้งแรก ภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยสาระสำคัญมีใจความว่า อยู่ในมาตรา 3 และมาตรา 4 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง

โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบบุคคลที่แต่งตั้งเป็นนายกฯ จากส.ส.และเป็นคนที่มีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้แจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรานี้ เรายังคงสาระในบทบัญญัติไว้คือให้พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อได้ไม่เกิน 3 ชื่อ และต้องได้รับการยินยอมจากผู้ที่เสนอด้วย โดยผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องมีความมั่นใจว่าจะได้เป็นส.ส. ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าพรรคการเมืองที่จะส่งรายชื่อคนที่จะเป็นนายกฯ มั่นใจว่าจะได้รับเลือกตั้งจากประชาชน และพรรคการเมืองที่ได้ส.ส. 25 คนจึงจะมีสิทธิ์เสนอ

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 170 วรรคสอง ซึ่งเป็นมาตราที่สิ้นสุดลงลงเฉพาะตัวของตำแหน่งรัฐมนตรีรวมถึงนายกฯด้วย ซึ่งจะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ โดยเราได้เพิ่มเติมในวรรคสองของมาตรานี้คือ นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลง เมื่อสิ้นสุดความเป็นส.ส. หรือเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย ซึ่งการจำกัดการดำรงตำแหน่งนายกฯ และที่มาของนายกฯต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน

ด้านนายสมชัย  ศรีสุทธิยากร กล่าวนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ตอนหนึ่งว่า เราขอแก้ไขมาตราเดียว คือมาตรา 272 ที่อยู่ในบทเฉพาะกาล ซึ่งสาระประกอบด้วย 2 วรรค คือเรื่องการให้อำนาจส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกฯในช่วง 5 ปีแรกของรัฐสภาปัจจุบัน ที่ทางคณะผู้รณรงค์ขอตัดข้อความวรรคแรกทั้งหมดทิ้งไป และขอเปลี่ยนแปลงข้อความในวรรคที่สอง กรณีที่ประชุมไม่สามารถประชุมเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนำเสนอได้ ก็ใช้ทางออกให้มีนายกฯคนนอก โดยใช้กฎเกณฑ์กติกาแบบเดิมคือใช้เสียงที่ประชุมรัฐสภา 2ใน 3 ยกเว้นการใช้ชื่อในบัญชีของพรรคการเมือง จากนั้นคืนกลับสู่ที่ประชุมสภาฯเพื่อลงมติเลือกนายกฯคนนอกอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากในสภาฯ

นายสมชัย   กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะเป็นทางออกของประเทศ เพราะจะทำให้ส.ว.คงความเป็นกลางทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 เพราะเมื่อใดก็ตามที่ส.ว.เลือกคนของพรรคการเมืองใดสักคนเป็นนายกฯ ประชาชนก็จะเข้าใจว่าท่านมีแนวโน้มสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆ รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งจะได้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่อยู่ภายใต้การพิจารณาว่าส.ว.จะลงมติเลือกใคร หรือจะจับมือกับพรรคการเมืองใด รวมถึงเพื่อเสริมสร้างเกียรติภูมิของรัฐสภา และการที่ส.ว.มีส่วนเลือกนายกฯจะเป็นการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและได้เกิดเหตุประท้วงวุ่นวายขึ้นในระหว่างนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงส.ว. 250 คน ว่า ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน มาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นผู้คัดเลือก 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากแก๊งเตรียมทหารรุ่น12 เพื่อนร่วมรุ่นของพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวน 21 คน มาจากแก๊งเตรียมทหารรุ่น 6 เพื่อนร่วมรุ่นของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 5 คน และยังมาจากแก๊งพวกพ้องน้องพี่ ศิษย์เก่าสนช. สปช. สปท. รวมถึงอีกหลายแก๊งที่เคยร่วมงานกับ คสช. 

ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ประท้วงนายรังสิมันต์ ขอให้ถอนคำว่า “แก๊ง” ทั้งยังกล่าวต่อว่า วิจารณ์คนอื่น ขอให้ดูตัวเองบ้างติดหนี้ก.ย.ศ.ยังไม่ใช้ สำเหนียกตัวเองบ้าง ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานขณะนั้น พยายามไกล่เกลี่ยขอให้ทั้งสองคนถอนคำพูด เพราะเป็นการพูดส่อเสียด แต่ไม่เป็นผล ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันไม่ถอน กระทั่งนายพรเพชรวินิจฉัยห้ามไม่ให้นายกิตติศักดิ์พูดในห้องประชุมอีก เพื่อเป็นการลงโทษ

จากนั้นก็ได้ให้นายรังสิมันต์ อภิปรายต่อ โดยเจ้าตัวชี้แจงเกี่ยวกับการกู้ยืมหนี้กยศ. ว่า ที่ผ่านมา ตนยากจนเลยต้องกู้เรียน แต่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แม้แต่ครั้งเดียว  ภายหลังจากได้เป็นส.ส. ได้ชำระหนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นวันนี้ตนจึงไม่เหลือหนี้กยศ.แล้ว ถ้ายังหยิบเรื่องนี้มาพูดอีกก็สงสารประเทศไทยที่มีการผลิตซ้ำข่าวปลอม รู้สึกเสียดายถ้าเกิดพูดนอกสภาจะได้ฟ้องดำเนินคดีหาเงินเข้าพรรคก้าวไกล 

ต่อมาเวลา 13.42 น. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า โอกาสทองการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหมดไปแล้ว แต่เราต้องพยายามแก้มาตรา 272 เพื่อให้ทันการเลือกตั้งครั้งหน้าสะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริงในการเลือกนายกฯ หากเราไม่สามารถแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.ได้สำเร็จ ตนเชื่อว่าการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนนี้ก็จะไม่มีความหมายใดๆทั้งสิ้น รวมทั้งพรรคการเมืองที่ตระบัดสัตย์ต่อประชาชนก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการไม่โหวตเลือกนายกฯตามที่หาเสียงไว้ ถ้าจะกล่าวว่ารัฐธรรมนูญปี 60  เป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุด ตนก็คิดไม่เกินความจริง เพราะออกแบบพิเศษสืบทอดอำนาจของเผด็จการที่ทำรัฐประหาร เพิ่มอำนาจให้องค์การอิสระ แต่เพิ่มข้อจำกัดให้นักการเมือง มีการยุบพรรคและตัดสิทธิ์กันง่ายมาก อีกทั้งยังมีบทเฉพาะกาลที่ผ่านการลงมติที่พ่วงมาชนิดที่เรียกว่าลักหลับ เพราะประชาชนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราไม่สามารถแก้มาตรา 272 ได้ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนรู้เลยว่าคนที่จะเป็นนายกฯคนต่อไปคือใคร เพราะว่าประชาชนรู้ว่าส.ว.จะเลือกใคร จากครั้งที่แล้วจะเห็นได้ว่าแม่น้ำ 5 สายของคสช.สายไหลรวมเป็นส.ว.ชุดนี้ถึง 157 คนจากส.ว.ทั้งหมด 250 คน 

"การแก้ไขมาตรา 272 วันนี้จะเป็นฉันทามติ และเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของทุกฝ่ายครั้งที่จะทำร่วมกันของฝ่ายค้าน รัฐบาล และประชาชน ดิฉันหวังว่ามาตรานี้จะผ่านไปได้เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน  ดิฉันต้องการส.ว.อีก เพียง 28 เสียงเท่านั้นมาเติมเต็มที่หันมาโหวตเห็นด้วยกับพวกเรา  เพื่อเกียรติยศศักดิ์ศรีเมื่อเทียบกับการไปเป็นนั่งร้านให้ทรราชย์แก่กะโหลกกะลา และที่มีส.ว.กล่าวหานายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลใช้หนี้ กยศ.ยังไม่หมด ดิฉันก็อยากถามว่าแล้วส.ว.ใช้หนี้บุญคุณ คสช.ครบหรือยัง" นางอมรัตน์ กล่าว