ยุคปัจจุบัน สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เนื่องด้วยความต้องการของตลาดและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องอาศัยฤดูกาล และมีความเสี่ยงในการเน่าเสียง่าย การพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงมีการพัฒนาระบบตลาดนำการผลิตเพื่อบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ ให้มีปริมาณการผลิตที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดให้เกิดความสมดุลกัน ตามแนวทางนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโนบายการตลาดนำการผลิต ในการพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง โดยสนับสนุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีบทบาทด้านการตลาด ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวม แลกเปลี่ยนซื้อขายผลผลิตการเกษตร เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการลดปัญหาทางการตลาด ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการรวบรวมและกระจายผลผลิตในพื้นที่ ลดต้นทุนในการดำเนินการจำหน่ายและขนส่ง ลดต้นทางการตลาด รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตในพื้นที่นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือในการรักษา เสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตร มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานภายใต้กลไกตลาด เป็นการพัฒนาระบบตลาดสินค้าเกษตรให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทำหน้าที่ได้อย่างครบวงจรตลอดห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) สามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิกในด้านการอำนวยความสะดวก ด้านการตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกรมีทางเลือกในการขายผลผลิต สร้างความเป็นธรรมและเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่เกษตรกรเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม อันจะส่งผลต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์
กระทั่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่นำระบบการตลาดนำการผลิตมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจรวบรวมผลิตผลทางการเกษตรของสถาบันเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินธุรกิจรวบรวมสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการห้างค้าปลีก ModernTrade (บริษัท บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด มหาชน) และติดต่อประสานกับสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรสมาชิก ในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อเก็บเกี่ยว รวบรวม ตัดแต่ง บรรจุภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการตลาดปลายทาง ซึ่งทางชุมนุมฯ เป็นผู้บริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ผลการดำเนินธุรกิจรวบรวมผักและผลไม้ของชุมนุมฯ ประกอบด้วย สหกรณ์ 12 สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร 2 กลุ่ม แปลงใหญ่ 1 แห่ง วิสาหกิจชุมชน 4 แห่ง โครงการร้อยใจรักษ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง 8 พื้นที่ เกษตรกรรายเดี่ยว 144 ราย พื้นที่เพาะปลูก 25,411 ไร่ จำนวนครัวเรือน 16,876 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือมี จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน ลำพูน เชียงราย ผลการรวบรวมผักและผลไม้เพื่อจำหน่ายให้กับ บริษัทบิ๊กซี ซุเปอร์เซนเตอร์ จำกัด(มหาชน) ตั้งแต่ปี2562 จนถึงปัจจุบัน 2562 ปริมาณ 1,518 ตัน มูลค่า 67,300,000 บาท 2563 ปริมาณ 3,674 ตัน มูลค่า 154,500,000 บาท ปี 2564 ปริมาณ 2,631 ตัน มูลค่า 130,400,000 บาท และ 2565 เท่ากับ 1,436 ตัน มูลค่า 74,930,000 บาท ตามลำดับ รวมปริมาณ 9,259 ตัน มูลค่า 427,130,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมพืชผักและผลไม้คุณภาพจากสหกรณ์สมาชิกชุมนุม สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่โครงการหลวงกลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรทั่วไป
ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายผลการดำเนินงานไปยังสถาบันเกษตรกรอื่น ๆ และเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรเครือข่าย ให้สามารถพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรโดยใช้หลักการตลาดนำการผลิตโดยมีชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม จึงสามารถกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ 1) ร่างแนวทางการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจรวบรวมผลิตผลทางการเกษตรของสถาบันเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ 2) ประสานสหกรณ์เป้าหมายและประชุมร่วมกัน เพื่อชี้แจงแนวทางในการพัฒนาศักยภาพรวบรวมผลิตผลทางการเกษตรโดยใช้ระบบตลาดนำการผลิตและการจัดทำโมเดลธุรกิจพร้อมกับพิจารณาศักยภาพของสหกรณ์เครือข่าย 3) ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบความต้องการชนิดสินค้า คุณภาพและมาตรฐานที่แต่ละตลาดต้องการ ช่วงเวลาที่ต้องการสินค้า การบรรจุภัณฑ์ การกำหนดราคาสถานที่ส่งมอบ 4) การกำหนดแผนการดำเนินธุรกิจรวบรวมผลิตผลทางการเกษตรโดยจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจ 5) เตรียมความพร้อมด้านเงินทุน ด้านบุคลากร ด้านเครื่องมือและอุปกรณ์6) ประเมินผลการดำเนินงานตามแผน 7) จัดทำแนวทางการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรของสถาบันเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ที่ขับเคลื่อนผ่านชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด 8) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
จากแนวทางการดำเนินงานข้างต้น จะสามารถทำให้ชุมนุมฯ และสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ มีแนวทางการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจรวบรวมผลิตผลทางการเกษตร เกิดการวางแผนการผลิตเพื่อให้มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ชุมนุมฯ และสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณธุรกิจรวบรวมผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เกษตรกรสมาชิกมีรายได้จากการขายผลิตผลทางการเกษตรให้กับชุมนุมฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ชุมนุมฯ และสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่มีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ช่องทาง โดยมุ่งหวังให้สถาบันเกษตรกรเป็นองค์กรที่เข้มแข็งและช่วยเหลือสมาชิกในด้านการผลิต การตลาดและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป