วันที่ 2  ก.ย.ที่ จ.ตาก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์  หักพาลผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการในการเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบและใช้มาตรการยึดทรัพย์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเพื่อตัดความสามารถในการกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก


จากนโยบายดังกล่าว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยมี พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์   รอง ผบ.ตร./ ผอ.ศพดส.ตร., พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศพดส.ตร. โดยประสานความร่วมมือกับ พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขา ปปง., พ.ต.ท.ธีรพงษ์ ดุลยวิจารณ์ ผอ.คด.4 ปปง., นางชลธิชา ดาวเรือง ผอ.คด.3 ปปง. เจ้าหน้าที่ ปปง.และชุดปฏิบัติการ ศพดส.ตร. ร่วมกันวางแผนตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์และฐานความผิดที่เกี่ยวข้องในคดีอาญาฟอกเงิน เพื่อเป็นการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ไม่ให้สามารถกลับมาทำผิดได้อีก
การปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ในพื้นที่ ภ.6 และ ภ.8 นี้

เริ่มต้นจาก เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภ.8 สามารถจับกุมขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา ในพื้นที่ สภ.มาบอำมฤต ภ.จว.ชุมพร จำนวน 2 คดี  และ สภ.เขานิพันธ์ ภ.จว.สุราษฎร์ธานี จำนวน 1 คดี โดยจับกุมผู้ต้องหา รวม 8 คน (ไทย 7 คน เมียนมา 1 คน) พร้อมแรงงานชาวโรฮิงญาอีก 14 คน โดยได้ดำเนินคดีในความผิดฐานค้ามนุษย์ ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ


จากการสืบสวนพบว่า ขบวนการดังกล่าวนั้นมีการลักลอบขนแรงงานชาวโรฮิงญาเข้ามาในราชอาณาจักรจากฝั่ง  อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปส่งจุดหมายปลายทางที่ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้น ยังมีพฤติการณ์และเส้นทางการเงินที่เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ต้องหาที่เคยถูกจับกุมในความผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวชาวโรฮิงญาอีกคดีหนึ่ง ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ที่ สภ.ทุ่งสง ภ.จว.นครศรีธรรมราช จำนวน 1 คดี มีผู้ต้องหาจำนวน 5 ราย  (ไทย 1 คน เมียนมา 4 คน)

 

ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งที่ 56/2565 ลงวันที่ 11 ก.พ.65 เพื่อทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนขยายผลเครือข่ายลักลอบขนแรงงานต่างด้าวดังกล่าวเพิ่มเติม
จากการขยายผลจากเครือข่ายดังกล่าว สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้เพิ่มอีกจำนวน 9 คน (คนไทย 4 คน, เมียนมา     5 คน) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเอเย่นในการนำพาคนข้ามแดนเข้ามายังประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ผู้ต้องหาดังกล่าวถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน ร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ร่วมกันให้ที่พักพิง ซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุมและมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ รวมจำนวน 3 คดี (สภ.เขานิพันธ์ 1 คดีและ สภ.มาบอำมฤต 2 คดี)


นอกจากนี้ หลังจากที่ได้ทำการสอบสวนขยายผลแล้วพบว่า เส้นทางการเงินของกลุ่มผู้ต้องหาในคดีต้นนั้น มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ในพื้นที่ สภ.ทุ่งสง ภ.จว.นครศรีธรรมราช ซึ่งศาลจังหวัดทุ่งสงได้มีคำพิพากษาให้จำเลยจำนวน 3 คน ซึ่งถูกจับกุมดำเนินคดีฐานค้ามนุษย์ ศาลได้พิพากษาจำคุกจำเลยรายละ 6 ปีไปแล้วนั้น คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาในคดีนี้รวมกับจำเลยดังกล่าวเพิ่มเติมในความผิดฐานฟอกเงินโดยกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพราง การจำหน่ายจ่ายโอน การได้มาซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดและสมคบตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน อีกจำนวน 2 คดี โดยได้ขออนุมัติจับกุมผู้ต้องหา รวม  23 คน (คนไทย 13 คน เมียนมา 10 คน)  และยังได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญา เพื่อเข้าทำการตรวจค้นยึดทรัพย์และอายัดบัญชีผู้ต้องหาในพื้นที่ 12 จังหวัด เพื่อตรวจค้นเป้าหมาย 19 เป้าหมาย ผลการปฏิบัติ ดังนี้ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 18 คน หลบหนี 5 คน (สัญชาติเมียนมา) ,อายัดบัญชีผู้ต้องหาจำนวน 53 บัญชี เงินหมุนเวียน 1,630 ล้านบาท ,ตรวจยืดบ้านพร้อมที่ดิน 23 หลัง ,รถยนต์ 24 คัน,ยึด/อายัดเรือประมง 12 ลำ ,ทองรูปพรรณ 37 บาท และพอร์ตทองคำ 46.4 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่นๆ อีกจำนวนหลายรายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดอายัด ทั้งหมด 196.4 ล้านบาท


นอกจากการดำเนินการกับผู้ต้องหาทั้งหมด ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จากการสืบสวนพบว่า ก่อนที่กลุ่มชาวโรฮิงญาถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 จะถูกตรวจพบนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการขนแรงงานต่างด้าวดังกล่าว เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด ตชด.346 จว.ตาก จำนวน 3 คน มีพฤติการณ์กระทำผิดร่วมกับนายอาลี ผู้ต้องหาในคดี โดยนายอาลีฯ ได้เรียกรับเงินจากชาวโรฮิงญาจำนวน 16 คน ซึ่งถูกกักตัวอยู่ในศูนย์ Organizational Quarantine (OQ) หรือ สถานที่กักตัวแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในช่วงสถานการโควิด โดยได้เรียกเงินคนละ 20,000 – 25,000 บาท เพื่อแลกกับการช่วยเหลือออกจากศูนย์ และนำตัวไปผลักดันออกช่องธรรมชาติให้กับขบวนการดังกล่าว เพื่อจะลักลอบนำกลับเข้ามายังไทยอีกครั้ง โดยนายอาลีฯ ได้แบ่งเงินให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 90,000 บาท ก่อนจะถูกจับกุมดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. 346 ทั้ง    3 ราย ดังนี้
1. ด.ต.ปรีชา สผบ.หมู่ ตชด.346 ถูกจับกุมตามหมายจับศาลทุจริตและประพฤตมิชอบ ภาค 6 ที่ จ.2/2565 ลงวันที่ 30 มี.ค.65 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จับกุมเมื่อวันที่ 27 ก.ค.65 
2. พ.ต.ท.อรรถชัย  ผบ.ร้อย ตชด. 346
3. ร.ต.ท.สุรพล รอง ผบ.ร้อย ตชด. 346
ทั้งสองราย พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา ในความผิดฐาน ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่สอด จ.ตาก ดำเนินคดีตามกฏหมาย


จากกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ยังได้สืบสวนจนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด ตม.จว.แม่สอด จำนวน 3 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัด สภ.แม่สอด จำนวน 4 นาย (รวม 7 นาย) อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการเรียกรับเงินจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนเข้าไปมีส่วนในการอำนวยความสะดวกทั้งทางตรงและทางอ้อมกับขบวนการหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว ซึ่งคณะทำงานมีมติในที่ประชุมให้จเรตำรวจแห่งชาติและผู้บังคับบัญชา ดำเนินการตรวจสอบและลงโทษทางวินัยกับข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องต่อไป


สรุปการดำเนินการเกี่ยวกับการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในพื้นที่ ภ.6 และ ภ.8 ดังกล่าว มีการดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 10 คดี ดำเนินคดีกับผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 39 ราย มีการยึดอายัดทรัพย์สินจากคดีฟอกเงินได้รวมทั้งสิ้น 196.4 ล้านบาท โดยล่าสุดได้ทำการตรวจยึดพอร์ตทองคำมูลค่า 46.4 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา


พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การดำเนินคดีกับเครือข่ายการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวและเครือข่ายค้ามนุษย์ในครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งที่เจ้าหน้าที่จากหลายภาคส่วน ได้มาบูรณาการร่วมกันในการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและเป็นระบบ มีการดำเนินการกับทั้งคนนำพาข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้เครือข่ายค้ามนุษย์สามารถกระทำความผิดได้ รวมทั้งยังมีการยึดอายัดทรัพย์สินจากผู้ต้องหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายการกระทำผิดดังกล่าว เพื่อมิให้มีทรัพย์สินที่จะนำมาใช้ในการกระทำผิดซ้ำได้อีก ดังนั้นจากนี้ไปคดีค้ามนุษย์ก็จะมีการดำเนินคดีอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การปราบปรามเครือข่ายผู้กระทำผิดนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น