ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยชี้สาเหตุจากน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ไม่สามารถมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ ซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับประชาชน!!
ล่าสุดมีการออกมาเตือนจาก “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” (กอนช.) ให้มีการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก ในช่วง 31 ส.ค. -10 ก.ย. โดยพบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ดังนี้ พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30-0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 31 ส.ค.-10 ก.ย.65 อาทิ แม่น้ำชีและลำน้ำพอง บริเวณอำเภอโคกโพธิ์ไชย ชนบท บ้านไผ่ บ้านแฮด พระยืน มัญจาคีรีเมืองขอนแก่น แวงน้อย และแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น อำเภอกมลาไสย กุฉินารายณ์ ฆ้องชัย ดอนจาน เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด และร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกันทรวิชัย กุดรัง โกสุมพิสัย เชียงยืน และเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร อำเภอจังหาร และเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด และแม่น้ำมูล บริเวณอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอกันทรารมย์ ยางชุมน้อยและราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเขื่องใน และเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
เช่นเดียวกับแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ แม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างฯ แควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลกอ่างฯ น้ำพุง จังหวัดสกลนคร อ่างฯ อุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างฯ ขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก อ่างฯ นฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ
และเพื่อเป็นการแจ้งผลกระทบต่อความเสียหายจากน้ำท่วมพื้นที่ 4 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำบางปะกง สูงถึง 844,799 ไร่ ประกอบด้วย #สุโขทัย 189,337 ไร่ #พิจิตร 156,222 ไร่ #นครสวรรค์ 122,233 ไร่ #พิษณุโลก 91,382 ไร่ #อุตรดิตถ์ 88,633 ไร่ #สุพรรณบุรี 70,033 ไร่ #เพชรบูรณ์ 41,035 ไร่ #ปราจีนบุรี 23,641 ไร่ #ชัยนาท 17,721 ไร่ #อ่างทอง 9,344 ไร่ #พระนครศรีอยุธยา 9,269 ไร่ #พะเยา 7,662 ไร่ #แพร่ 5,767 ไร่ #นครนายก 5,763 ไร่ #น่าน 2,738 ไร่ #ลพบุรี 2,353 ไร่ #ฉะเชิงเทรา 1,508 ไร่ และ #สระบุรี 167 ไร่
พร้อมกันนี้ ข้อมูลจากดาวเทียมยังพบว่าพื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบแล้วกว่า 266,024 ไร่ บ้านเรือนประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 1,700 หลังคาเรือน
ขณะที่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้เตรียมตัวรับมือป้องกันน้ำท่วมในเขตพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม โดย “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามสถานการณ์ เตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วมผลกระทบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยให้เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งให้เตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับในทุกสถานการณ์ ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมจังหวัดที่กำกับดูแลสถานประกอบการอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรมในนิคมฯ กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ดูแลเขตประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และรวมไปถึงธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ให้ดูแลสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
ในความโชคร้าย ก็ยังมีความโชคดีให้เห็นอยู่บ้าง กับราคาสินค้าอย่างพืชผักบางชนิดราคาลดลงเพราะฝนตกเยอะ ซึ่งทาง “กรมการค้าภายใน”ได้มีการติดตามสถานการณ์การผลิต การตลาด สินค้าอาหารและพืชผักในตลาดทั้งระดับค้าส่งและค้าปลีกอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลผู้บริโภคไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องค่าครองชีพในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว จากภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปรากฏว่า ขณะนี้พืชผักบางชนิด มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้นตามฤดูกาล จากการที่ฝนตกชุกส่งผลให้เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของสินค้าผัก ทำให้ราคาจำหน่ายในท้องตลาดอ่อนตัวลง ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ในราคาลดลง อาทิ ถั่วฝักยาว ลดลงจากเดือนก่อนที่ กก.ละ 55-60 บาท เหลือ กก.ละ 35-40 บาท ขึ้นฉ่ายลดลงจาก กก.ละ 150-160 เหลือ กก.ละ 130-140 บาท
“กรมการค้าภายใน มีภารกิจในการกำกับดูแลระบบการค้าในประเทศให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากพบเห็นว่ามีการกักตุน หรือฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่ปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ และหากตรวจสอบพบการกระทำผิดดังกล่าวจะต้องได้รับโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542”
อย่างไรก็ตามปัญหาภัยน้ำท่วมยังจะอยู่กับเราไปอีกนาน!! การเตรียมความพร้อมล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องที่ดี!!