คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย

เป็นที่ยอมรับและเป็นจริงในเรื่องที่ว่า การลงทุนด้านการศึกษาคือการลงทุนที่ดีที่สุด และยังเป็นการลงทุนที่ไม่มีคำว่าขาดทุน ผู้ที่ลงทุนด้านการศึกษาสามารถนำเอาไปใช้ได้แบบไม่มีวันหมด แถมใครก็ยังไม่สามารถขโมยเอาไปได้ ซึ่งถือเป็นการลงทุนแบบถาวรเลยทีเดียว

สังคมอเมริกันให้คุณค่าด้านการศึกษาสูงมากเป็นพิเศษ และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” ได้ออกมากล่าวถ้อยแถลงที่ทำเนียบขาวว่า  “สหรัฐฯมีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก” และยังได้กล่าวชี้แนะว่า “การศึกษาแบบสากลที่ใช้เวลา 12 ปีนั้น ขณะนี้ถือว่าไม่เป็นการเพียงพออีกต่อไปแล้ว” เนื่องจากมีการแข่งขันกันสูงมากขึ้นทั่วโลก  อีกทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้กล่าวว่า ขณะนี้ค่าใช้จ่ายในการเข้าศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐเพิ่มสูงขึ้นหลายสิบเท่าตัว!!!

จากการรวบรวมของ “National Center for Education Statistics” ในช่วง 40 ปีระหว่างปีค.ศ. 1969 จนถึงปี ค.ศ.2018 ได้ระบุออกมาว่า เนื่องจากการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อมีผลทำให้ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐเพิ่มสูงมากขึ้นถึง 149.59%  และค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนก็เพิ่มขึ้นกว่า  156.67% อีกด้วย

และศูนย์ข้อมูลแห่งนี้ยังได้ระบุต่อไปอีกว่า เนื่องจากอัตราค่าเล่าเรียนเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวดังนั้นนักศึกษาอเมริกันถึง 70% จึงหันไปกู้เงินหรือแม้กระทั่งนักศึกษาที่ได้รับทุนก็ยังต้องหันไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการศึกษาเล่าเรียน

ตามข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐฯได้รายงานว่าในปีค.ศ. 2016 จนถึงปี 2017 หนี้เงินกู้ของนักศึกษาอเมริกันแต่ละคนโดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 32,731 ดอลลาร์หรือกว่าหนึ่งล้านบาท

อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมายังมีอดีตวุฒิสมาชิกผู้ที่มีวิสัยทัศน์ทางด้านการศึกษาอันแสนกว้างไกลท่านหนึ่งชื่อว่า “เคลบอร์น เพล์ล” ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกถึงหกสมัยจากรัฐโรดไอแลนด์  โดยเมื่อปีค.ศ. 1972 ท่านผู้นี้ได้ยื่นเสนอร่างกฎหมายต้องการที่จะสนับสนุนให้นักศึกษาได้รับทุนการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ และต่อมาก็ได้ขยายระดับมอบทุนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จนได้กลายเป็นที่นิยมสูงมาก ต่อมาในปีค.ศ. 1980 สภาคองเกรสได้จัดตั้งกองทุนการศึกษาโดยตั้งชื่อตามชื่อของวุฒิสมาชิกท่านนี้ว่า “Pell Grant”

โดยคำว่า “Grant” ในที่นี้หมายความว่า “เงินที่ได้ฟรีๆนักศึกษาไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องจ่ายเงินคืน”  ในยุคแรกๆผู้ที่ได้รับทุน “Pell Grant”ซึ่งเป็นเงินทุนการศึกษา 80% (สมมุติว่าค่าเล่าเรียน1000 เหรียญ กองทุนนี้จะจ่ายให้ 800 เหรียญส่วนที่เหลือนักเรียนจะต้องจ่ายเองหรือขอกู้ในส่วนต่างที่มีอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำนั่นเอง) ซึ่งสมัยนั้นสามารถครอบคลุมค่าเล่าเรียนของนักศึกษาในครอบครัวชนชั้นกลางได้แทบทั้งหมดก็ตาม แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่ากลับตาลปัตรแทบจะไม่เพียงพอให้นักศึกษาใช้จ่ายเลย!!!

อนึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง เมื่อครั้งที่ผมเข้าไปศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์ (Pepperdine University) ณ นครลอสแอนเจลิส โดยเมื่อห้าสิบปีก่อนหน้านี้ค่าเล่าเรียนอยู่ที่หน่วยกิตละหกสิบดอลลาร์ ซึ่งตอนนั้นผมยังคิดว่าเป็นค่าเล่าเรียนที่แพงหูฉี่อยู่แล้ว แต่ในปีการศึกษา 2022/2023 ค่าเล่าเรียน ณ สถาบันแห่งนี้กลับเพิ่มขึ้นเป็นปีละ $62,390 ดอลลาร์ และหากบวกค่ากินค่าอยู่อีกประมาณ 19,200 ดอลลาร์เข้าไปแล้วละก็ กว่าจะเรียนจบในระดับปริญญาตรีนักศึกษาหรือคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองคงต้องเป็นหนี้หัวโตแน่ๆเลยทีเดียวและขณะนี้นิตยสาร US News & World Report ที่เชี่ยวชาญในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯได้จัดมหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์อยู่ในอันดับที่ 49 ของสหรัฐฯจากจำนวนมหาวิทยาลัยกว่าห้าพันสถาบัน!!!

และเมื่อผมมองย้อนกลับไปในสมัยนั้น เหตุผลที่ผมเลือกเข้าไปเรียน ณ สถาบันแห่งนี้สืบเนื่องมาจากผมยังยึดติดเอาค่านิยมผิดๆจากเมืองไทย ที่ต่างคนต่างก็คิดกันว่า หากต้องการจะได้รับการศึกษาดีๆต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดีๆที่มีราคาค่าเล่าเรียนแพงๆ ซึ่งเป็นค่านิยมที่ผิดถนัด แต่หากใครมีสายป่านยาวสามารถที่จะเรียนได้แบบไม่ติดขัด ก็ถือเป็นความโชคดีที่จะได้รับแต่สิ่งดีๆในระดับพรีเมียมเกรดเอ

เมื่อสมัยนั้นผมยังได้รับข้อมูลอีกว่า เมื่อผมไปอยู่ต่างประเทศก็จะต้องใส่สูทด้วยเนื้อผ้าหนาๆกันหนาว ผมก็เลยรีบไปสั่งตัดเสื้อผ้าด้วยผ้ากำมะหยี่เนื้อหนา แต่กลับปรากฏว่าเมื่ออยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ผมได้ใส่ชุดพวกนั้นเพียงแค่ครั้งเดียวตอนที่ผมได้รับเกียรติไปร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมพระราชินีนาถ ซึ่งพระองค์ท่านทั้งสองเสด็จเยือนนครลอสแอนเจลิส โดยครั้งนั้นมีคนไทยไปร่วมรับเสด็จกันอย่างพร้อมเพรียง ขณะนั้นมีคนไทยพำนักอาศัยอยู่ในนครลอสแอนเจลิสเพียงแค่ห้าร้อยคนเท่านั้น แต่ขณะนี้มีคนไทยมากกว่าสามแสนคน และเมื่อปีค.ศ. 1969 ที่นครลอสแอนเจลิสมีร้านอาหารไทยแค่เพียงร้านเดียว แต่ขณะนี้มีหลายร้อยหลายพันแห่ง และยังมีธุรกิจที่มีคนไทยเป็นเจ้าของกิจการเกือบทุกๆประเภท

แรกเริ่มเดิมทีที่ผมเดินทางไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาผมไปเข้าไปอาศัยอยู่กับครอบครัวของฝรั่งชาวอเมริกัน  โดย “คุณพ่อจิม” คุณพ่อฝรั่งของผมท่านมีอาชีพเป็นอาจารย์สอนหนังสือ และครั้งนั้นท่านได้แนะนำให้ผมเข้าเรียนในวิทยาลัยชุมชนของรัฐบาล ที่มีหลักสูตรการเรียนสองปีแล้วค่อยโอนหน่วยกิตเข้าไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรสี่ปี แต่เนื่องจากผมมีนิสัย (หรือจะเรียกว่าสันดานก็ได้) ค่อนข้างดื้อหัวรั้นดันทุรังจึงไม่ยอมรับฟังสิ่งที่คุณพ่อจิมให้คำแนะนำ เมื่อเป็นเช่นนั้นคุณพ่อจิมก็ตามใจพาผมไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์

ทีนี้ขอย้อนกลับไปเรื่องการเมืองสหรัฐฯกันบ้างในขณะที่โจ ไบเดนเพิ่งจะสมัครลงแข่งขันเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี เขาเคยให้คำสัญญาเอาไว้ว่า “หากข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ข้าพเจ้าจะหาทางปลดหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนและนักศึกษา”

และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2022 ที่ผ่านมาไม่กี่วันมานี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ออกมาประกาศที่จะผ่อนปรนหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษา โดยขณะนี้มีผู้เป็นหนี้การศึกษามากกว่า 45 ล้านคนและมียอดหนี้มากกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์!!!

อนึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้กล่าวเสริมอีกว่า “เมื่อห้าสิบปีก่อนครอบครัวของคนชั้นกลางที่มีรายได้น้อยกว่าหกหมื่นดอลลาร์ต่อปี ก็ยังสามารถพึ่งพากองทุน “Pell Grant” ได้ ที่ไม่ต้องจ่ายคืนและยังครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการศึกษาได้ถึง 80% แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าเงินทุนนี้จะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเสียแล้ว”

และยังมีรายงานออกมาว่า บรรดานักศึกษาที่กู้เงินเพื่อนำมาใช้เป็นค่าเล่าเรียนนั้น ผิดนัดจ่ายค่าผ่อนชำระคืนมากถึง 16% โดยหากผิดนัดเยี่ยงนี้จะมีผลทำให้กระทบกระเทือนต่อพวกเขาหลายด้านด้วยกัน อาทิ หากพวกเขาเบี้ยวไม่จ่ายคืนก็จะทำให้เครดิตของพวกเขาเสีย และต่อไปในอนาคตเป็นการยากลำบากเหลือเกินหากต้องการจะซื้อบ้าน ซื้อรถหรือทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ทั้งยังจะยากลำบากมากสำหรับการสมัครเข้าทำงานอีกด้วย

ทั้งนี้นโยบายปลดหนี้ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนมี 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทแรกได้แก่ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านโครงการ Pell Grant  จะได้รับส่วนลดหนี้ที่กู้ในส่วนต่าง 20,000 เหรียญ และประเภทที่สองผู้ที่ไม่ได้รับช่วยเหลือจากโครงการ Pell Grant ไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้อื่นๆและมีรายได้ต่ำกว่าปีละ 125,000 ดอลลาร์ก็จะได้รับการลดหนี้ 10,000 เหรียญ

นอกเหนือจากนั้นแล้วทำเนียบขาวก็ยังเร่งรีบที่จะหาทางปฏิรูปให้ลูกหนี้มีหนทางในการชำระเงินกู้แต่ยังไม่ลงรายละเอียดในตอนนี้        

โครงการปลดหนี้ในครั้งนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประเมินว่ารัฐบาลอาจจะต้องใช้งบประมาณราวๆ 300 พันล้านดอลลาร์ ที่จะมีผลทำให้คนรุ่นหนุ่มสาวหลายล้านคนที่เพิ่งเรียนจบและกำลังหางานทำได้มีโอกาสชุบชีวิตใหม่ลืมตาอ้าปากได้ แถมยังลดความเครียดให้กับผู้ที่กำลังเดือดร้อนต้องตระเวนหาเงินมาผ่อนหนี้ในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

สำหรับผลการหยั่งเสียงของ “Data for Progress” เปิดเผยออกมาว่า คนอเมริกันถึง60% เห็นด้วยกับนโยบายปลดเปลื้องหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ส่วนสำนักโพล Forbes รายงานออกมาว่า 51% ของคนอเมริกันเห็นพ้องกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นแม้ว่าขณะนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังไม่สามารถปลดเปลื้องหนี้สินก้อนโตให้แก่บรรดานักศึกษา 45 กว่าล้านคนได้อย่างเบ็ดเสร็จก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงทางด้านการเมืองของเขาในช่วงที่การเลือกตั้งกลางสมัยที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 นี้กำลังกระชั้นชิดใกล้เข้ามาทุกทีๆ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจจะออกตัวกล่าวอ้างว่า เขารักษาคำมั่นสัญญาที่เคยให้เอาไว้ก่อนหน้าที่จะได้รับเลือกในตำแหน่งประธานาธิบดีก็เป็นไปได้ และในทางกลับกันกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของไทยก็น่าจะนำรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายดีๆของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เอาไปศึกษา เพื่อจะได้แบ่งเบาภาระให้เด็กเยาวชนนักศึกษาไทยที่กำลังแบกภาระหนักอึ้งเอาไว้เต็มบ่าเต็มไหล่ละครับ